บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (หรือ ธ.ก.ส.) ที่ ?AAA(tha)? แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ?F1+(tha)?
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
อันดับเครดิตพิจารณาจากปัจจัยสนับสนุนจากรัฐบาล: อันดับเครดิตภายในประเทศของ ธ.ก.ส.สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลไทย (BBB+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) จะให้การสนับสนุนพิเศษที่นอกเหนือจากการดำเนินงานตามปรกติ (extraordinary support) แก่ธนาคารได้อย่างทันท่วงทีในกรณีที่มีความจำเป็น
โดยมุมมองดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากบทบาทในการสนับสนุนนโยบายรัฐที่มีมาอย่างยาวนานรวมทั้งความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันอย่างมากกับรัฐบาล อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ ธ.ก.ส. เป็นอันดับเครดิตที่สูงที่สุดสำหรับอันดับเครดิตภายในประเทศ ซึ่งสะท้อนว่าธนาคารมีโอกาสที่จะผิดนัดชำระหนี้ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับบริษัทหรือธนาคารอื่นในประเทศไทย
รัฐกำกับการดำเนินงานและความสัมพันธ์กับภาครัฐ: ธ.ก.ส. เป็นธนาคารรัฐ ที่ก่อตั้งขึ้นด้วยกฎหมายเฉพาะ กระทรวงการคลังมีสัดส่วนการถือหุ้นใน ธ.ก.ส. ที่ 99.8% อีกทั้งยังมีอำนาจในการกำกับกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานที่สำคัญของธนาคาร เพื่อที่จะให้มั่นใจได้ว่าธนาคารมีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบายระยะปานกลางและระยะยาวของรัฐบาล รัฐบาลมีอำนาจควบคุมธนาคารผ่านคณะกรรมการธนาคาร ซึ่งโดยทั่วไปจะประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะประธานกรรมการ และยังมีตัวแทนจากหน่วยงานรัฐอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และจากธนาคารแห่งประเทศไทย
ให้การสนับสนุนช่วยเหลือประชากรกลุ่มใหญ่: ธ.ก.ส. เป็นธนาคารรัฐที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ในประเทศไทย และยังเป็นธนาคารรัฐเพียงแห่งเดียวที่มุ่งเน้นในการให้ความช่วยเหลือแก่ภาคเกษตรกรรมและการพัฒนาชนบท ธ.ก.ส. มีบทบาทที่เฉพาะตัวและมีความสำคัญในการสนับสนุนนโยบายรัฐที่มีความเกี่ยวข้องกับภาคเกษตรและชนบทมาอย่างต่อเนื่องตลอดการดำเนินงานกว่า 50 ปีที่ผ่านมา
ฟิทช์เชื่อว่า ธ.ก.ส. จะยังคงมีบทบาทที่สำคัญในการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐสำหรับภาคเกษตรและการพัฒนาชนบทในระยะยาว ทั้งนี้แรงงานในภาคเกษตรกรรมคิดเป็นประมาณ 30% ของแรงงานรวมของประเทศไทยและกลุ่มประชากรที่มีความสำคัญต่อการกำหนดนโยบายของรัฐบาล
นอกจากนี้ธนาคารยังคงให้การสนับสนุนโดยตรงแก่โครงการรัฐที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล ซึ่งเป็นสินเชื่อและลูกหนี้ที่เป็นธุรกรรมนโยบายรัฐและธนาคารสามารถขอรับการชดเชยความเสียหายได้ โดยสินเชื่อและลูกหนี้ธุรกรรมนโยบายรัฐดังกล่าวมีสัดส่วนประมาณ 29% ของสินทรัพย์รวม ณ สิ้นปีบัญชีสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2566
กำไรเริ่มฟื้นตัว: ความสามารถในการทำกำไรของ ธ.ก.ส. ได้เริ่มฟื้นตัวจากช่วงโรคระบาดโควิด โดยธนาคารมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 0.7% ณ สิ้นปีบัญชีสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2566
(ณ 31 มี.ค. 65: 0.6%) ฟิทช์คาดว่าผลการดำเนินงานของธนาคารน่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในระยะปานกลาง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสินเชื่อที่เติบโตได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามโอกาสที่ธนาคารจะมีกำไรที่ดีขึ้นมากนั้นน่าจะถูกจำกัดโดยค่าใช้จ่ายในการสำรองหนี้สูญที่ยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากยังมีความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์
ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์บรรเทาลงจากการสนับสนุนของรัฐ: อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของ ธ.ก.ส. ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 7.5% ณ สิ้นปีบัญชีสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2566 (ณ 31 มี.ค. 65: 6.5%) แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่าความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์น่าจะถูกลดทอนลงได้จากการที่ธนาคารมีระดับสำรองหนี้สูญที่ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว และรัฐบาลยังมีการให้ความช่วยเหลือแก่ภาคเกษตรอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีต เช่น มาตรการผ่อนผันผ่านการพักชำระหนี้เกษตรกร และการให้การชดเชยจากความเสียหายหรือผลประโยชน์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ศัตรูพืช และโรคระบาด
การสนับสนุนด้านเงินกองทุนจากรัฐบาล: อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของ ธ.ก.ส. ปรับตัวเพิ่มดีขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 11.5% ณ สิ้นปีบัญชีสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2566 (ณ 31 มี.ค. 65: 11.3%) คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 2 หมื่นล้านบาทไว้เมื่อเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งธนาคารได้รับการเพิ่มทุนมาแล้วจำนวน 6 พันล้านบาทเมื่อไตรมาสที่ 1 ปี 2563 (สิ้นเดือนมิถุนายน 2563) การเพิ่มทุนในครั้งถัดมาเกิดความล่าช้าไปบ้างจากการที่สินเชื่อของธนาคารที่ไม่ได้สูงนักในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์ยังคงคาดว่ารัฐบาลจะทำการเพิ่มทุนให้แก่ ธ.ก.ส. ในอนาคตหากมีความจำเป็น
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน) สัญญาณที่บ่งชี้ว่ามีการปรับตัวลดลงของโอกาสที่รัฐบาลจะให้การช่วยเหลือสนับสนุนแก่ ธ.ก.ส. อาจส่งผลให้อันดับเครดิตภายในประเทศของ ธ.ก.ส. ถูกปรับลดอันดับลงได้ โดยเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดได้จากในกรณีเช่น มีการเปลี่ยนแปลงสถานะทางกฎหมายของธนาคารและสถานะการเป็นธนาคารรัฐมีการลดสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาลและการควบคุมลงอย่างมีนัยสำคัญ และการที่บทบาทในเชิงนโยบายของ ธ.ก.ส. มีการปรับตัวด้อยลงอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะปานกลาง
การปรับตัวลดลงของความสามารถของรัฐบาลในการสนับสนุนระบบการเงินไม่น่าจะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคาร เนื่องจากฟิทช์คาดว่าธนาคารรัฐน่าจะมีโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในระดับที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นในประเทศ ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารจึงไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตภายในประเทศของ ธ.ก.ส. ไม่มีโอกาสที่จะได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตเนื่องจากอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารเป็นอันดับเครดิตที่อยู่ในระดับสูงสุด
อันดับเครดิตที่เชื่อมโยงกับอันดับเครดิตอื่น อันดับเครดิตของ ธ.ก.ส. มีความเชื่อมโยงกับโครงสร้างเครดิตของประเทศไทย