ขณะเดียวกันธุรกิจอีเว้นท์จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐที่เข้ามาส่งเสริมในการผลักดัน Soft Power ของไทย ซึ่งทำให้เป็นโอกาสของบริษัทในการขยับเข้าสู่ธุรกิจอีเว้นท์ แต่ยังคงเป็นบริษัทด้านเอ็นเตอร์เทนเม้นท์แบบครบวงจร เพื่อเสริมสร้างการเติบโตให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่อง "ผมเชื่อว่าดนตรีเป็น Black Bone ของ Entertainment เป็นองค์ประกอบสำคัญที่นำมาใช้ เราจึงนำประสบการณ์จากการทำดนตรีและเพลงนำมาต่อยอดเป็น Entertainment แบบครบวงจร ที่เราเป็น Selector คัดสรรมา พร้อมผลักดันให้ Entertainment ไทย Uplift สู่ Global" นายขันเงิน กล่าว
นายจิรัชย์ วงษ์ตระหง่าน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ZAA กล่าวว่า ธุรกิจอีเว้นท์เป็นธุรกิจที่สามารถรับรู้รายได้เข้ามาที่ค่อนข้างเร็ว ซึ่งการจัดอีเว้นท์ 1 ครั้ง จะใช้ระยะเวลาในการรับรู้รายได้ 3-4 เดือน ซึ่งรายได้ของธุรกิจอีเว้นท์จะมาจากการการขายบัตร และสปอนเซอร์ อีกทั้งยังเป็นธุรกิจที่ให้มาร์จิ้นในระดับที่ดีเฉลี่ย 40-50% ต่ออีเว้นท์ โดยที่บริษัทวางแผนในการจัดอีเว้นท์ให้ได้เฉลี่ย 4-5 อีเว้นท์/ปี ซึ่งในแต่ละอีเว้นท์คาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 10 ล้านบาท/อีเว้นท์ ซึ่งจะเป็นธุรกิจหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัท โดยความแตกต่างของงานอีเว้นท์ที่จัดโดย ZAA ที่สร้างความแตกต่างจากเจ้าอื่นจะอยู่ที่การที่มีทีมงานที่มีประสบการณ์ในด้านศิลปินมาควบคุมดูแลจากนายขันเงิน ร่วมกับพันธมิตรในวงการดนตรีและด้านเทคโนโลยีที่มาร่วมกันสร้างประสบการณ์ใหม่ๆที่แตกต่าง ทำให้คนที่เข้ามาร่วมงานเกิดประสบการณ์ใหม่ๆ และเจอกับลูกเล่นใหม่ๆที่แตกต่างของงานอีเว้นท์ที่แตกต่างจากผู้จัดอีเว้นท์รายอื่น
นายทรงพล เชาวนโยธิน ประธานเจ้าหน้าบริหารฝ่ายปฏิบัติการ ZAA กล่าวว่า การขับเคลื่อนธุรกิจของบริษัท มีเป้าหมายที่จะยกระดับสู่การเป็นเอ็นเตอร์เทนเม้นท์แนวใหม่ครบวงจร ที่มีพันธมิตรด้านเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ทั่วโลก เพื่อเพิ่มโอกาสนำไปสู่การลงทุนและทำธุรกิจใหม่ๆที่เป็นเมกะเทรนด์โลก โดยวางเป้าหมายในอีก 3 ปีข้างหน้า ZAA จะต้องเป็นผู้นำด้านเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะธุรกิจอีเว้นท์ที่จะมีการจัดอีเว้นท์เองโดย ZAA หรืองานอีเว้นท์ที่ร่วมกับพันธมิตร และการรับจ้างจัดอีเว้นท์ สำหรับโครงสร้างธุรกิจของ ZAA จะประกอบด้วย 4 แกน ได้แก่ 1. ธุรกิจภาพยนตร์ 2. ธุรกิจเพลง ในการจัดคอนเสิร์ต และ Music festival 3. ธุรกิจอีเว้นท์ และ 4. ธุรกิจ Vibe Setter ในการสร้างประสบการณ์ของศิลปินและกลุ่มแฟนคลับ หรือการจัดแสงสีภายในอาคารหรือสถานที่ต่างๆ โดยได้รับความร่วมมือกับพันธมิตรด้านเทคโนโลยีมาสนับสนุนในการขับเคลื่อนธุรกิจที่ผนวกกับดิจิทัล โดยที่ปัจจุบันธุรกิจภาพยนตร์ยังคงมีสัดส่วนรายได้มากที่สุดเกือบ 100% และในปี 67 จะเริ่มมีรายได้ที่เข้ามาจากธุรกิจอีเว้นท์มากขึ้น ซึ่งจะมีการจัดอีเว้นท์ในเบื้องต้น 3-4 อีเว้นท์ ในปี 67 แต่จะประเดิมอีเว้นท์แรกของ ZAA ในเดือนพ.ย. 66 คือ Southside Fest ที่ภูเก็ต
ส่วนธุรกิจเดิมของกลุ่ม ZAA คือ ธุรกิจผลิตภาพยนตร์จะยังคงดำเนินธุรกิจตามปกติ โดยปลาย 66 มีแผนที่จะเปิดตัวภาพยนต์ใหม่อีก 1 เรื่อง จากภาพยนตร์ทั้งหมดที่เตรียมฉาย 4-5 เรื่อง ซึ่งคาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดี และเสริมให้ผลกานดำเนินงานในไตรมาส 4/66 ดีขึ้น อีกทั้งบริษัทมีแนวคิดที่จะนำธุรกิจใหม่ๆเข้าไปเชื่อมโยงต่อยอดกับธุรกิจเดิม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจเดิม
ขณะเดียวกันบริษัทตั้งเป้าหมายว่าปีหน้ารายได้ในปี 67 จะเติบโตไม่น้อยกว่า 10% โดยปีหน้าสัดส่วนรายได้จะมาจาก 2 ส่วนหลัก คือ ธุรกิจภาพยนตร์ และธุรกิจบันเทิงรูปแบบใหญ่ เช่น การจัดอีเว้น คอนเสิร์ต ตลอดจนการให้การสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ โดยธุรกิจใหม่ดังกล่าว จะเริ่มในปี 67 เป็นต้นไป ซึ่งการปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่ม ZAA ในครั้งนี้จะส่งผลให้ผลการดำเนินของบริษัทมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง
"เรามีธงที่ชัดเจนในการยกระดับธุรกิจของ ZAA ไปสู่ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนท์แนวใหม่ แนวสร้างสรรค์ เพราะถือเป็นเมกะเทรนด์ของโลกที่กำลังมาแรง มีแนวโน้มเติบโตสูง ในปีหน้าจะเห็นภาพการรุกสู่ธุรกิจแนวใหม่ที่ครอบคลุมธุรกิจบันเทิงอย่างชัดเจน มีโปรเจกต์ใหม่ๆ ทั้งการจัดงานอีเว้นท์ต่างๆ การจัดคอนเสิร์ต ที่มีศิลปินไทยและศิลปินระดับโลก เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ครบทุกมิติ" นายทรงพล กล่าว