บล.พาย (Pi) ระบุว่า สัปดาห์นี้ประเมินดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET INDEX) เคลื่อนไหวในกรอบ 1,460-1,500 จุด มีมุมมองที่เป็นบวกมากขึ้นกับตลาดจากการปรับฐานลงมาจนทำให้ Forward PE ปี 24 อยู่ที่เพียง 14.4x ขณะที่แรงกดดันจากการปรับขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (US Bond Yield) เริ่มคลายตัวลงหลังพบตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯส่งสัญญาณอ่อนแรง และหากแรงงานในสัปดาห์นี้แย่กว่าประเมินไว้จะยิ่งเป็นแรงหนุนให้กับตลาดหุ้น
เชิงกลยุทธ์การลงทุนยังเน้นทยอยสะสมในกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นภาครัฐ อาทิ ค้าปลีก (BJC CRC CPALL HMPRO) ท่องเที่ยว (AOT CENTEL ERW MINT) ธนาคารพาณิชย์ (BBL KBANK KTB SCB) ศูนย์การค้า (CPN) ร้านอาหาร (M) เครื่องดื่ม (ICHI) อสังหาริมทรัพย์ (AP LH)
BBL (ซื้อ / ราคาเป้าหมาย 203.00 บาท) เลือกเป็นหุ้นเด่นสำหรับกลุ่มธนาคารเพราะ 1) งบดุลที่แข็งแกร่ง 2) แนวโน้มกำไรสุทธิที่โตมั่นคง 3) อัตราส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) สูงขึ้นจากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น และ 4) มูลค่าหุ้นไม่แพง ปัจจุบันซื้อขายที่ 0.57x PBV?24E ขณะที่คาดว่ากำไรสุทธิไตรมาส 3/23 จะโตแข็งแกร่งที่ 40.2% YoY (-4.9% QoQ) หนุนจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NII) เพิ่มขึ้น
CPALL (ซื้อ / ราคาเป้าหมาย 72.00 บาท) กำไรก่อนหักภาษี (EBT) จากธุรกิจหลักในไตรมาส 2/23 จากธุรกิจร้านสะดวกซื้อ (7-Eleven) (กำไรสุทธิเฉพาะกิจการ 6.1 พันล้านบาท +21% YoY) และมี EBT คิดเป็น 73% ของทั้งหมด ส่วนธุรกิจขายส่งและค้าปลีกคิดเป็น 27% ของ EBT
บล.พาย ระบุว่า ตลาดหุ้น Dow Jones คืนวันศุกร์ปิดลบ 0.47% กังวลกับการปิดหน่วยงานในสหรัฐฯ ด้านราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดลบ 1% ถูกกดดันจากกระแสข่าวซาอุฯจะกลับมาเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอีกครั้ง
ข้อมูลล่าสุด ณ วันอาทิตย์ วุฒิสภาสหรัฐฯมีมติคะแนนเสียง 88 : 9 ผ่านร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราว ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานของสหรัฐฯรอดพ้นจากการถูกปิดการดำเนินงาน (ปัจจัยหนุนตลาดหุ้น)
สำหรับเงินเฟ้อสหรัฐฯในคืนวันศุกร์ (PCE) รายงานออกมาที่ 3.5%YoY 0.4%MoM และ Core PCE ที่ 3.9%YoY 0.1%MoM รายละเอียดภายในพบว่าราคาสินค้าคงทน (-1.9%YoY) แต่ราคาสินค้าไม่คงทน (+2.1%YoY) เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 0.2%YoY ราคาสินค้าบริการ (+4.9%YoY) แต่หากเทียบกับเดือนก่อนหน้าราคาสินค้าพลังงานและบริการ (+6.1%MoM) ตามการเร่งตัวของราคาน้ำมัน ภายหลังจากทราบตัวเลขข้างต้นพบว่า US Bond Yield เริ่มปรับลงเล็กน้อย ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯก็เริ่มปรับลงมาอ่อนค่า และ CME FED Watch ให้น้ำหนักราว 82% ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงดอกเบี้ย
สำหรับสัปดาห์นี้นักลงทุนจะให้น้ำหนักกับภาคแรงงานสหรัฐฯโดยเฉพาะในวันศุกร์กับการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงาน Bloomberg Consensus คาดการณ์ที่ 1.68 แสนตำแหน่ง และ 3.7% ตามลำดับ หากรายงานแล้วแย่กว่าคาดการณ์จะเป็นปัจจัยหนุนกับตลาด อื่นๆรอติดตาม PMI ภาคผลิตของสหรัฐฯและยุโรปในวันจันทร์
ส่วนในประเทศรอติดตามเงินเฟ้อประจำเดือน ก.ย. ในวันพฤหัสบดี Bloomberg Consensus คาดไว้ ที่ 0.7%YoY , -0.2%MoM พร้อมกับเงินเฟ้อพื้นฐานที่ 0.7%YoY หากรายงานแล้ว ต่ำกว่าที่คาดหมายไว้จะเป็นปัจจัยบวกให้กับตลาดหุ้น