หากกล่าวถึงระบบการเงินที่ไร้ตัวตนแล้ว ทุกวันนี้เรามักจะนึกถึงสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทต่าง ๆ เช่น Bitcoin, Stable Coin หรือระบบการโอนเงินโดยใช้ QR Code ที่เรารู้จักกันดี เช่น ระบบพร้อมเพย์ (PromptPay)
แต่ภายในปี 2567 ประเทศไทยจะได้พบกับผู้ให้บริการการเงินประเภทใหม่ คือ ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือ Virtual Bank ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการใช้เทคโนโลยี การบริหารข้อมูล การบริการแบบดิจิทัล มาให้บริการเป็นธนาคารพาณิชย์ ผ่านช่องทางดิจิทัลโดยลดต้นทุนพนักงาน อาคารสถานที่ กล่าวคือไม่มีสาขาหรือสถานที่ตั้งแบบธนาคารที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนั่นเอง
จุดแข็งของ ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา นั่นคือการใช้เทคโนโลยีช่องทางดิจิทัล และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ข้อมูล" ของลูกค้าเพื่อพัฒนาบริการทางการเงินให้เหมาะสมกับลูกค้าเฉพาะรายได้ดียิ่งขึ้น แตกต่างจากแนวทางการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันที่ไม่สามารถปรับใช้ข้อมูลของลูกค้าได้อย่างทั่วถึง หรือสามารถใช้ได้อย่างจำกัด ทำให้ลูกค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าบุคคล หรือ SMEs ไม่สามารถเข้าถึงบริการการเงินได้เพียงพอและเหมาะสม เช่น ด้านสินเชื่อ ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่มีรายได้ประจำ ไม่มีข้อมูลหรือประวัติทางการเงินที่เพียงพอ
ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาจะสามารถใช้ข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการประเมินความเสี่ยงและพิจารณาให้สินเชื่อแก่คนกลุ่มนี้ได้ ด้านการออมและการลงทุน กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยหรือกลุ่มคนที่เพิ่งเริ่มทำงาน ที่อาจยังขาดทักษะการวางแผนหรือเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ดีสำหรับการออมหรือลงทุนด้วยเงินจำนวนน้อย
และในท้ายที่สุด ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา จะกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินทำให้สถาบันการเงินต้องพัฒนานวัตกรรมและการบริการทางการเงินให้ดีขึ้นทั้งในด้านราคาและการเข้าถึงการใช้บริการให้มีความสะดวกและง่ายต่อการใช้งาน
แต่อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้กำกับดูแลธุรกิจที่ซึ่งใช้เทคโนโลยีเข้ามาให้บริการทั้งกระบวนการนั้น อาจเกิดสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ได้ เช่น การประกอบธุรกิจแบบไม่ยั่งยืนโดยการขยายธุรกิจที่ไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงหรือผลกระทบต่อความมั่นคงของธนาคารอย่างเพียงพอ การแข่งขันกันแย่งลูกค้าหรือผู้ใช้บริการด้วยกลยุทธ์ด้านราคาที่อาจไม่สามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนและอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้ฝากเงินหรือลูกค้าผู้ใช้บริการ เป็นต้น
จึงน่าติดตามว่าเมื่อการเปิดใช้งาน ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำนั้นจะเปลี่ยนโลกการเงินอย่างไร รวมถึงลูกค้าผู้ใช้บริการจะได้รับประโยชน์ตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาจาก ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา ที่ได้เปิดให้บริการแล้วในต่างประเทศนั้น ลูกค้าผู้ใช้บริการได้รับบริการที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพมาก และสำหรับธนาคารต่าง ๆ ในประเทศไทยนั้นจะเป็นอย่างไรในวันที่ "ตัวตน" ที่เห็นได้จับต้องได้นั้น ไม่จำเป็นอีกต่อไป
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)