ETL เคาะราคา IPO หุ้นละ 1.68 บาท P/E 18.67 เท่า เปิดขายทั่วไป 24-26 ต.ค.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 9, 2023 14:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ETL เคาะราคา IPO หุ้นละ 1.68 บาท P/E 18.67 เท่า เปิดขายทั่วไป 24-26 ต.ค.

บมจ.ยูโรเอเชีย โทเทิล โลจิสติกส์ (ETL) กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 171,865,440 หุ้น ในราคา 1.68 บาทต่อหุ้น มูลค่าการเสนอขาย 288.73 ล้านบาท และจะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) หมวดธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ โดยมี บล.ธนชาต และ บล.เอเชีย พลัส เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย

การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO พิจารณาจากอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นของบริษัทฯ (Price to Earnings Ratio : P/E) ราคา 1.68 บาท คิดเป็นอัตราส่วน P/E เท่ากับ 18.67 เท่า คำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลกำไรสุทธิในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.65-30 มิ.ย.66 หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดหลัง IPO ซึ่งเท่ากับ 620 ล้านหุ้น (Fully Diluted) จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.09 บาทต่อหุ้น

เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการประเมินราคาหุ้นที่เสนอขาย บริษัทฯ ได้เปรียบเทียบ P/E ของบริษัทจดทะเบียนที่มีลักษณะการประกอบธุรกิจที่คล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกัน ได้แก่ บมจ.เกียรติธนา ขนส่ง (KIAT) และ บมจ.มีนาทรานสปอร์ต (MENA) ในช่วงระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.-2 ต.ค.66 มี P/E เฉลี่ยเท่ากับ 15.88 เท่า และ 22.29 เท่า ตามลำดับ

บริษัทกำหนดระยะเวลาการเสนอขาย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) สำหรับผู้ถือหุ้นของ บมจ.ไวส์ โลจิสติกส์ (WICE) เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้น ในวันที่ 11-12 และ 16-18 ต.ค.66 และ 2) สำหรับบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่าย ผู้ลงทุนสถาบัน และผู้มีอุปการคุณของบริษัทฯ ในวันที่ 24-26 ต.ค.66)

ทั้งนี้ ETL ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจหลักให้บริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน (Cross-Border Transportation Carrier) ระหว่างประเทศไทยและประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฮ่องกง และจีน ที่มีการเชื่อมต่อพรมแดนทางถนนและรางรถไฟ

บริษัทจะนำเงินจากการระดมทุนไปลงทุนในระบบการบริหารจัดการการขนส่ง 27 ล้านบาทในปี 66-67 โดยบริษัทมีแผนพัฒนาระบบ Transportation Management System (TMS) เพื่อจัดการเที่ยวรถที่ใช้ภายในกลุ่ม

รวมทั้งลงทุนในยานพาหนะ 80 ล้านบาทในปี 66-67 เพื่อขยายกำลังการขนส่งโดยบริษัทย่อยในไทยและมาเลเซีย ได้แก่ บริษัท ยูโรเอเชีย ทรานสปอร์ต จำกัด (ETS) และ Euroasia Total Logistics (M) Sdn Bhd (ETL MY) เข้าทำสัญญาซื้อ และ/หรือ เข้าทำสัญญาเช่า รถลากจูงและรถกึ่งพ่วง เพื่อเพิ่มความสามารถ และขยายขอบเขตการการให้บริการขนส่งสินค้า ทั้งในเส้นทางที่กลุ่มบริษัทฯ ให้บริการอยู่ รวมถึงเส้นทางใหม่ๆ ที่จะเปิดให้บริการในอนาคต

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีแผนที่จะขยายฐานลูกค้าไปยังประเทศกัมพูชา จึงมีความประสงค์จะลงทุนในทรัพย์สินยานพาหนะเพิ่มเติมโดยให้บริษัทร่วมในประเทศเวียดนาม คือ Euroais Total Logistics Vietnam Company Limited (ETL VN) เป็นผู้ลงทุนเข้าทำสัญญาซื้อ และ/หรือ เข้าทำสัญญาเช่า รถลากจูงและรถกึ่งพ่วง หรือ อาจพิจารณาร่วมทุนกับบริษัทที่เชี่ยวชาญในการประกอบธุรกิจขนส่งในประเทศกัมพูชา เพื่อขยายเส้นทางให้บริการของกลุ่มบริษัทฯ ในประเทศดังกล่าว

นอกจากนั้น จะใช้ลงทุนในตู้คอนเทนเนอร์ 80 ล้านบาทปี 66-67 ทั้งตู้แบบควบคุมอุณหภูมิ (Reefer Container) และตู้แบบปกติ (Dry Container) , ลงทุนลานตู้คอนเทนเนอร์ 14 ล้านบาทในปี 67 โดย ETS, ชำระคืนหนี้ค่าซื้อกิจการบริษัท ครอส เอเชีย บอร์เดอร์ โลจิสติกส์ จำกัด (Cross Asia Border) วงเงิน 27 ล้านบาทปี 66-67 และชำระคืนเงินกู้ยืมให้กับสถาบันการเงิน 14 ล้านบาทภายในปี 66 เพื่อลดภาระต้นทุนทางการเงิน ที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

นายกำพล ทรวงบูรณกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวาณิชธนกิจ บล.ธนชาต ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า ETL ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ราคา 1.68 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาที่เหมาะสมสะท้อนพื้นฐานและศักยภาพการเป็นผู้นำธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน โดยเตรียมเปิดให้ผู้ถือหุ้นของ WICE เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับจัดสรรหุ้นจองซื้อหุ้น IPO ในวันที่ 11-18 ต.ค.66 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการจองซื้อ ขณะที่นักลงทุนรายย่อยเตรียมเปิดจองซื้อหุ้น IPO ในวันที่ 24-26 ต.ค.นี้ และคาดว่าจะนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนและเข้าซื้อขายหุ้นวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

นายลี ยิค เชร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ETL เปิดเผยว่า บริษัทก่อตั้งขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจให้บริการให้บริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน (Cross-Border Transportation Carrier) โดยมุ่งมั่นที่จะเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนไปยังประเทศต่างๆ ทั้งในแถบทวีปเอเชียและทวีปยุโรป ภายใต้การบูรณาการรูปแบบการขนส่งที่หลากหลาย เพื่อให้บริการขนส่งข้ามพรมแดนที่รวดเร็ว มีความยืดหยุ่น และมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันบริษัทเป็น 1 ใน 5 บริษัทผู้นำด้านการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน

ทั้งนี้แนวโน้มอุตสาหกรรมการส่งออกสินค้าข้ามพรมแดนระหว่างไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านอาทิ มาเลเซีย ลาว พม่าและกัมพูชา ระหว่างปี 62 - 65 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 8.59% ต่อปี และการส่งออกสินค้าข้ามพรมแดนระหว่างไทยไปยังประเทศในภูมิภาค อาทิ จีน สิงคโปร์ และเวียดนาม ระหว่างปี 62-65 มีอัตราการเติบโต 13.33% ต่อปีในขณะที่การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนของบริษัทมีอัตราการเติบโตสูงกว่าอุตสาหกรรมอยู่ที่ 48.27% ต่อปี

นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของการขนส่งสินค้าเกษตร โดยเฉพาะการขนส่งผลไม้ระหว่างไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านมีการเติบโตอย่างมีนัย รวมทั้งการสนับสนุนจากรัฐบาล ในการสนับสนุนการส่งออกสินค้าไปยังจีนหลากหลายหมวดหมู่ อาทิ เครื่องสำอาง สินค้าอุปโภคบริโภค ยา เครื่องหนัง กลุ่มสินค้าเครื่องเงินต่าง ๆ ซึ่งเป็นโอกาสในการขนส่งสินค้าของบริษัทด้วย นอกจากนี้การขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิมีการเติบโตระหว่างปี 60-64 ที่ 34.8% เช่น ยาและเวชภัณฑ์ เครื่องดื่ม ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องสำอาง เป็นต้น ซึ่งเงินจากการระดมทุนบริษัทมีแผนที่จะนำมาใช้ลงทุนในตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมอุณหภูมิ เพื่อรองรับต่อความต้องการขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นของลูกค้า และขยายธุรกิจไปยังกัมพูชาและเวียดนาม โดยอาจจะผ่านการควบรวมกิจการหรือการขยายธุรกิจด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ตามปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อบริษัท ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะไม่ได้เห็นผลโดยเร็ว ส่งผลต่อการชะลอตัวของการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งสงครามการค้า ซึ่งส่งผลต่อการขนส่ง จากการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์การขนส่งหรือการกีดกันทางการค้า ส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งสูงขึ้นและเกิดความล่าช้าในการขนส่ง

ทั้งนี้บริษัทมีแผนรองรับความเสี่ยงต่อเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้า ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงโควิด-19 ส่งผลให้จีนมีนโยบายปิดประเทศทำให้สินค้าไม่สามารถข้ามชายแดนที่จีนได้ ซึ่งบริษัทจึงได้หาวิธีการแก้ปัญหาโดยการใช้การขนส่งทางรถไฟตามชายแดนของแต่ละประเทศแทน เพื่อให้การขนส่งไม่หยุดชะงัก ขณะเดียวกันการขนส่งของบริษัทมีการประกันสินค้าในแต่ละเที่ยวด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ความกังวลเรื่องสงครามราคาในอุตสาหกรรมถือเป็นเรื่องรอง เนื่องจากบริษัทมุ่งเน้นด้านการตอบสนองความต้องการของลูกค้ารวมทั้งเพิ่มคุณภาพในการขนส่งให้ลูกค้า และขยายไปยังตลาดกลุ่มใหม่ โดยนำเอาเทคโนโลยีและการบริการของบริษัทเข้ามาใช้เพื่อหลีกหนีสงครามราคา

น.ส.กฤชวรรณ ซื้อเจริญชัย กรรมการผู้จัดการ ETL บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตอย่างมั่นคงและแข็งแกร่ง ภายใต้แผนลงทุนเพื่อขยายขีดความสามารถในการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการขนส่งในด้านต่างๆ โดยเตรียมลงทุนเพิ่มเติมในตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งตู้แบบปกติ (Dry Container) และตู้แบบควบคุมอุณหภูมิ (Reefer Container) ที่มีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้น สำหรับสินค้าที่ต้องการการควบคุมอุณหภูมิแบบคงที่ตลอดการขนส่งสินค้า เช่น ยาและเวชภัณฑ์ เครื่องดื่ม ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องสำอาง เป็นต้น โดยบริษัทฯ พร้อมเดินหน้านำเสนอการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยระบบวัดอุณหภูมิภายในตู้คอนเทนเนอร์และแสดงผลให้คนขับรถทราบ รวมถึงมีระบบส่งข้อมูลอุณหภูมิอัตโนมัติมายัง Command Center แบบ Real Time ในแต่ละประเทศเพื่อให้มั่นใจได้ว่า บริษัทฯ สามารถรักษาระดับอุณหภูมิได้ตามความต้องการของลูกค้าเพื่อคงคุณภาพของสินค้าไว้ได้ตลอดเที่ยวการขนส่งก่อนถึงกลุ่มลูกค้า B2B หรือ Business-to-Business

นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนลงทุนยานพาหนะ เพื่อเพิ่มความสามารถและขยายขอบเขตการให้บริการขนส่งสินค้า ทั้งในเส้นทางที่กลุ่มบริษัทฯ ให้บริการอยู่ รวมถึงเส้นทางใหม่ๆ และมีแผนลงทุนพัฒนาระบบ Transportation Management System (TMS) ซึ่งเป็นระบบการจัดการเที่ยวรถที่ใช้ภายในกลุ่มบริษัทฯ เพื่อรองรับการให้บริการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการจัดการต้นทุนและเที่ยวรถอย่างเป็นระบบ และลงทุนในลานตู้คอนเทนเนอร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ