โบรกมองสงครามอิสราเอลกระทบเศรษฐกิจไทยจำกัด แนะเก็งหุ้นน้ำมันรับประโยชน์สูงสุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 12, 2023 16:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุกิจ อุดมมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด กล่าวในการเสวนา "เจาะกระทบเศรษฐกิจ และกลุยทธ์ลงทุนกลางสงครามอิสราเอล" ว่า ในปีนี้การลงทุนในตลาดหุ้นได้รับผลกระทบจากปัจจัยความขัดแย้งในต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งรัสเซียและยูเครน และล่าสุดสงครามอิสราเอลและกลุ่มฮามาส

แม้เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่สะสมกันมายาวนาน และขณะนี้เกิดผลกระทบความรุนแรงค่อนข้างสูงมาก โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2014 รวมถึงกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศอิสราเอล และตะวันออกกลาง โดยส่งผลทั้งภาคธุรกิจ สถาบันการเงิน แหล่งท่องเที่ยว โรงงานอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงแหล่งก๊าซฯ หยุดชะงัก และน่าจะส่งผลต่อเนื่องไปยังภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องตามมา

ขณะนี้การขนส่ง ท่าเรือ สนามบิน เริ่มมีความเสี่ยง โดยเริ่มเห็นการชะลอกิจกรรมด้านการขนส่งต่างๆ ทำให้ผลกระทบได้ขยายเป็นวงกว้าง กระจายออกจากเมืองที่มีสงครามออกมาในวงกว้างขึ้น ขณะที่บริษัทระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจท่องเที่ยว สายการบินต่างๆ ได้มีการยกเลิกเที่ยวบิน , ธุรกิจโลจิสติกส์ อยู่ระหว่างทบทวนและรอดูความเสี่ยง โดย FedEx ได้ระงับการให้บริการในอิสราเอลแล้ว, ธุรกิจพลังงาน เชฟรอน ผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซรายใหญ่อันดับ 2 ในสหรัฐ ได้รับคำสั่งจากกระทรวงพลังงานของอิสราเอลให้ปิดแหล่งผลิตก๊าซแล้ว

ด้านธุรกิจเทคโนโลยี โดย Nvidia ได้มีการยกเลิกการประชุมสุดยอด AI ในเมืองเทลอาวีฟ และบริษัทสตาร์อัพหลายแห่งได้มีการให้พนักงานหยุดทำงาน, ธรุกิจการธนาคาร อย่าง Goldman Sachs, JPMorgan Chase เริ่มให้พนักงงานทำงานจากที่บ้านแล้ว และค้าปลีก บริษัทเสื้อผ้ายักษ์ใหญ่หลายแบรนด์ก็มีการปิดร้านค้าทั้งหมดในอิสราเอลชั่วคราว

สำหรับหุ้นในตลาดหลักทรัพย์อิสราเอลปรับตัวลงกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ที่มีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของอิสราเทลค่อนข้างมาก หรือคิดเป็น 14% ของการจ้างงาน และเกือบ 1 ใน 5 ของ GDP ของโลก หากสงครามยิดเยื้อ ขยายวงกว้าง อาจทำให้ภาคเทคโนโลยีของอิสราเอลหยุดชะงักครั้งใหญ่

ส่วนประเทศที่อาจเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งดังกล่าว มองว่าหลายประเทศก็มีความระมัดระวังการเข้าไปแทรกแซงความขัดแย้งครั้งนี้ เนื่องจากอาจเกิดผลเสียมากกว่าเดิมหากเข้าไปผิดจังหวะ โดยขณะนี้มีประเทศที่เกี่ยวข้อง 3 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน และสหรัฐ ซึ่งจะเห็นว่าซาอุดิอาระเบียจะอยู่ในฝั่งของการช่วยให้ราคาน้ำมันไม่เพิ่มขึ้น ล่าสุดราคาน้ำมันก็อ่อนตัวลงไปบ้างแล้ว

นายปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า สงครามครั้งนี้ไม่น่ายืดเยื้อ เนื่องจากกำลังทหารของอสิราเอลมีมากกว่าปาเลสไตน์ และโอกาสของสงครามที่จะขยายไปหลายสมรภูมิเป็นไปได้ต่ำ เนื่องจากไม่มีประเทศใดออกมาให้การสนับสนุนและยอมรับปฎิบัติการทางทหารของฮามาส จากมีความรุนแรงและกระทำผิดในประเด็นมนุษยธรรมมาก โดยเฉพาะการจับกุม สังหารผู้บริสุทธิ์มาเป็นเชลยศึกเพื่อแลกกับนักโทษจากฝั่งอิสราเอล , สหรัฐได้ประกาศเข้าร่วมช่วยเหลือทางฝั่งอิสราเอล โดยส่งเรือบรรทุกเครื่องบินรบ และฝูงบินเครื่องบินรบเข้าสู่น่านฟ้าดังกล่าว

ส่วนแนวโน้มราคาน้ำมัน มองว่าแม้สงครามครั้งนี้ไม่ลุกลามรุนแรงจนกลายเป็นสงครามในภูมิภาค แต่ก็อาจทำให้ความเสี่ยงราคาน้ำมันสูงขึ้นได้ในช่วงสั้น ด้วยความที่อุปสงค์และอุปทานน้ำมันโลกค่อนข้างตึงตัว จึงทำให้ความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์อาจทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นในระดับ 5 ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์คลี่คลายราคาน้ำมันก็น่าจะปรับตัวลงมาได้

พร้อมกันประเมินหากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นราว 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลจากกรณีฐานจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลง -0.1%, เงินเฟ้อสหรัฐเพิ่ม +0.8% ขณะที่ดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ด้านเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง -0.08% เงินเฟ้อไทยเพิ่ม +0.5% และดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

ในกรณีเลวร้าย ได้ตั้งสมมุติฐานว่า อิหร่านมีส่วนร่วมทำให้เกิดความขัดแย้งครั้งนี้ ทำให้สหรัฐกลับไปคว่ำบาตรเศรษฐกิจอิหร่านอีกครั้ง ทำให้อิหร่านผลิตและส่งออกน้ำมันดิบลดลง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้วยสมมุติฐานดังกล่าว จะทำให้ราคาน้ำมันสูงกว่ากรณีฐานตั้งแต่ไตรมาส 4/66 ตลอดจนปี 67 จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวเล็กน้อย เงินเฟ้อสูงขึ้น และเฟด ลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่ากรณีฐาน ส่วนเศรษฐกิจไทย จะขยายตัวได้ลดลง เงินเฟ้อสูงขึ้น และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้นกว่ากรณีฐาน

นอกจากนี้คาดการณ์เศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และดอกเบี้ยในกรณีฐาน มองราคาน้ำมันไตรมาส 1-3 ปี 66 เฉลี่ยอยู่ที่ 82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และไตรมาส 4/66 เฉลี่ยอยู่ที่ 87 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ปี 67 คาดเฉลี่ยอยู่ที่ 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หากเป็นภาพนี้คาด GDP สหรัฐปีนี้จะโตได้ราว 2% ใน 3 ไตรมาสแรก ส่วนไตรมาส 4 จะชะลอตัวลงมาที่ 0.6% และปีหน้าอาจจะไม่โต ด้านเงินเฟ้อมีทิศทางที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง และอัตราดอกเบี้ยสหรัฐของเฟด ยังเป็นภาพของการขึ้นดอกเบี้ยไปจนถึงสิ้นปี และปีหน้าจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ ตามทิศทางเศรษฐกิจที่มีปัญหา

และหากเป็นกรณีเลวร้าย คาดราคาน้ำมันจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 97 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในไตรมาส 4 ก่อนจะลดลงมาที่ 85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีหน้า และ GDP สหรัฐ จะชะลอตัว หรือ -0.1% ในปี 67 โดยเงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้นมาพอสมควรสู่ระดับ 4% ทำให้เฟดอาจมีความจำเป็นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

กรณีของประเทศไทย ในกรณีฐาน คาดปีหน้า GDP โต 4.1% จากปีนี้เรามองที่ 2.7% ตามการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และเงินเฟ้อจะขึ้นมาเป็น 3.6% ในปี 67 ส่วนดอกเบี้ยเชื่อว่าจะขึ้นได้อีก 1 ครั้ง ด้านกรณีเลวร้าย คาด GDP ไทยปี 67 จะโตได้ 4% แต่เงินเฟ้อจะขยับขึ้นสูง 4.1% และอาจทำให้แบงก์ชาติปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงขึ้น

*สงครามในอิสราเอลส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยจำกัด

  • สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส คาดจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยไม่มากนัก เนื่องจาก ม.ค.-ส.ค.66 ประเทศไทยมีการค้ากับประเทศอิสราเอล (คู้ค้าอันดับ 40 ของไทย) มูลค่า 856.84 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเพียง 0.22% ของการค้าทั้งหมดของไทย
  • ประเทศไทยมีมูลค่าส่งออกไปประเทศอิสราเอลราว 546.69 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 0.29% ของการส่งออกไทยไปโลก โดยสินค้าที่ส่งออกไปอิสราเอลมากสุด ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋อง อัญมณีและเครื่องประดับ
  • ประเทศไทยมีมูลค่านำเข้าจากประเทศอิสราเอลราว 311.15 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 0.16% ของการนำเข้าจากทั่วโลก โดยสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เพชรพลอยและอัญมณี ปุ๋ย เครื่องจักรไฟฟ้า

*ผลกระทบต่อตลาดการเงินทั่วโลก

ผลกระทบต่อตลาดการเงินทั่วโลก ระหว่างวันที่ 6-10 ต.ค.66 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ยังไม่เห็นการปรับตัวลง จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวลง และคลายกังวลต่อโอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐ สะท้อนว่าตลาดยังโฟกัสประเด็นดอกเบี้ยของฟเดอยู่ ยังไม่ได้ให้น้ำหนักต่อสงครามฯ เท่าไหร่นัก แต่หากความรุนแรงของสงครามยังไม่จบ และมีความลุกลาม ก็อาจเห็นตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลง โดยมองหุ้น Commodities จะได้ประโยชน์ทั้งหมด โดยเฉพาะหุ้นพลังงาน

อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์ในอิสราเอลมีความยืดเยื้อหรือขยายวงกว้างออกไป คาดจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมของไทย ได้แก่

  • ผลต่อกลุ่มน้ำมัน ซึ่งจะได้รับผลดี จากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง
  • กลุ่มโรงไฟฟ้า คาดได้รับผลกระทบจากต้นทุนพลังงาน ทั้งน้ำมันและก๊าซที่เพิ่มสูงขึ้น
  • กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ แม้ไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรง แต่จะได้รับ Sentiment ลบจากความไม่ชัดเจนของเหตุการณ์ฯ จากความเสี่ยงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีหยุดชะงัก
  • กลุ่มโรงพยาบาล อาจทำให้เกิดความกังวลต่อการเดินทางของผู้ป่วยจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งถือเป็นฐานผู้ป่วยต่างชาติหลัก คิดเป็นราว 25-30% ของรายได้ BH และ 3% ของ BDMS
  • กลุ่มท่องเที่ยว อาจกระทบต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคใกล้เคียง เช่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 5.1 หมื่นคนต่อเดือน หรือราว 2.3% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดใน 8 เดือนแรกของปี 66
  • กลุ่มยานยนต์ อาจกระทบต่อการส่งออกรถยนต์ไปยังภูมิภาคใกล้เคียง เช่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง คิดเป็นราว 18% ของการส่งออกรถยนต์ของประเทศไทย หลักๆ คือ การส่งออกรถกระบะ

ดังนั้น แนะนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง กลยุทธ์ช่วงสั้น เก็งกำไรในหุ้นพลังงาน คาดได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น เลือก PTTEP และ BCP ส่วนนักลงทุนไม่ชอบรับความเสี่ยงอาจพิจารณารอสะสมเมื่อราคาน้ำมันอ่อนตัวเข้าใกล้ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ