นายวิทสุวัฒน์ อำคาเพท กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบงคอกเมโทรเน็ทเวิร์คส์ จำกัด (BMN) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) กล่าวว่า ในวันที่ 17 ม.ค. 67 บริษัทฯเตรียมเปิดเมโทรมอลล์สถานีรถไฟฟ้า MRTศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ซึ่งเป็นแห่งที่ 10 ใช้งบลงทุนประมาณ 20 ล้านบาทในการปรับปรุงพื้นที่และทำแผนการตลาดทั้งหมด
โดยที่ผ่านมาบริษัทฯได้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน MRT และมีการเปิดพื้นที่เมโทรมอลล์ไปแล้ว 9 สถานี คือ สุขุมวิท, พระราม 9, จตุจักร, พหลโยธิน, กำแพงเพชร, คลองเตย, ศูนย์วัฒนธรรมฯ, สถานีเพชรบุรีและลาดพร้าว(กูร์เมต์ มาร์เก็ต)
สำหรับสถานีศูนย์ฯสิริกิติ์มีการปรับแนวคิดเพื่อให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของผู้โดยสารและพื้นที่โดยรอบสถานีที่มีพนักงานออฟฟิศมากแต่มีร้านอาหารน้อยและราคาที่อาจจะสูงไปแนวคิดจึงจัดพื้นที่สำหรับร้านค้าร้านอาหารบริการในราคาที่สมเหตุสมผล ขณะที่เป้าหมายต่อมาคือนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่เข้ามาร่วมงานที่ศูนย์การประชุมสิริกิติ์ฯโดยจะให้ความสำคัญกับ Meeting Point มีการขยายพื้นที่ส่วนกลางมีเก้าอี้สำหรับพักคอย
สถานีศูนย์ฯสิริกิติ์ มีพื้นที่รวมทั้งหมด 927 ตารางเมตร โดยเป็นพื้นที่ร้านค้าร้านอาหารและพื้นที่จัดอีเว้นต์จำนวน 772 ตารางเมตร ปัจจุบันยอดจองพื้นที่ร้านค้า 95% แล้วปัจจุบันสถานีศูนย์ฯสิริกิติ์มีผู้โดยสารผ่านเข้าออกสถานีกว่า 5 หมื่นคน/วัน คาดว่าเมื่อเปิดพื้นที่เมโทรมอลล์จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบันบริษัทฯ มีการศึกษาสำรวจพฤติกรรมของผู้โดยสารเพื่อนำมาจัดรูปแบบบริการให้เหมาะสม โดยจะสรุปการศึกษาปลายปีนี้
สำหรับในปี 67 มีแผนในการปรับปรุงพื้นที่ 3 สถานี คาดใช้เงินลงทุนประมาณ 50 ล้านบาท ได้แก่
1) สถานีลาดพร้าวพื้นที่ด้านในเป็นมอลล์หรือพื้นที่รีเทลเพิ่มเติมจากปัจจุบันบริเวณอาคารจอดแล้วจรมี "กูร์เมต์ มาร์เก็ต"ขนาด 2,300 ตารางเมตร ซึ่งปัจจุบันจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังเปิดให้บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลืองโดยมีจุดเชื่อมกับสีน้ำเงินที่สถานีลาดพร้าว
2) ปรับปรุงสถานีคลองเตย ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ให้กรมการกงสุลกระทรวงต่างประเทศบริการด้านพาสปอร์ต แต่ยังมีพื้นที่ครึ่งหนึ่งซึ่งแนวคิดจะทำเป็นพื้นที่ CSR สำหรับชุนโดยรอบโดยเน้นไปที่เยาวชนเป็นแนว "Study Cafe" จะมีพื้นที่สตูดิโอเป็นแหล่งเรียนรู้
นอกจากนี้ จะติดกล้องวงจรปิดเพื่อดูแลด้านความปลอดภัยไม่เป็นแหล่งมั่วสุมโดยคาดว่าจะเปิดในไตรมาส 2/67
3) ปรับปรุงสถานีพระราม 9 เป็นรีเฟรชพื้นที่บางส่วนให้มีสีสันความสดใสมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาสำรวจสถานีสามยอดและวัดมังกรเพื่อเตรียมพัฒนาในลำดับต่อไป
สำหรับรายได้การพัฒนาเชิงพาณิชย์ปี 64 จำนวน 822 ล้านบาทปี 65 จำนวน 920 ล้านบาทและปี 66 ช่วงม.ค.-ส.ค.จำนวน 709 ล้านบาท โดยคาดรายได้ทั้งปี 66 เติบโตประมาณ 20% โดยมาจาก 2 ส่วนคือพื้นที่รีเทลสัดส่วนรายได้ 30% ซึ่งจำนวนร้านค้ากลับมาเปิดเกือบ 100% มีพื้นที่การจัดกิจกรรมที่หลากหลายตลอดทั้งปีและรายได้จากพื้นที่สื่อโฆษณาในสถานีและตัวรถไฟฟ้าสัดส่วนรายได้70%
สำหรับพื้นที่เชิงพาณิชย์บนทางด่วนภายใต้สัญญาสัมปทานของ BEM มีการปรับปรุงพื้นที่ร้านค้าและรีโนเวทห้องน้ำและเพิ่มพื้นที่จอดรถใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้ทางได้แก่ บริเวณด่านศรีนครินทร์ ด่านประชาชื่น ด่านบางปะอิน ฯลฯ