นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) และประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลย้อนหลังของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) พบว่า การหลอกให้ลงทุน โดยเฉพาะการหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ติด 1 ใน 5 ของคดีอาชญากรรมออนไลน์และสร้างมูลค่าความเสียหายกว่า 11,500 ล้านบาท และปัจจุบันปัญหามิจฉาชีพที่ชักชวนให้ลงทุนผ่านโซเชียลมีเดียยังคงมีความรุนแรง และมีในหลากหลายรูปแบบ โดยมีการปรับเปลี่ยนกลโกงตลอดเวลา
CMDF ซึ่งมีบทบาทและพันธกิจในการส่งเสริมและพัฒนาประสิทธิภาพของตลาดทุนไทย จึงได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์ภายใต้โครงการ "ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน" กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภาคตลาดทุน องค์กรธุรกิจ และหน่วยงานรัฐ เพื่อรณรงค์สร้างภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่องให้ประชาชนไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพหลอกลงทุน พร้อมนำเสนอแคมเปญ "เช็กทุกดอก ไม่โดนหลอกลงทุน" เพื่อให้ความรู้ ย้ำเตือนให้ประชาชนมีความรอบคอบในการลงทุน และแนะนำช่องทางการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งการรณรงค์จะมีการบูรณาการการสื่อสารออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ลงทุนและประชาชนในวงกว้างไม่ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลงทุน และก้าวเข้าสู่ตลาดทุนอย่างถูกต้อง
ด้าน นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวในฐานะผู้ริเริ่มโครงการ "ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน" ร่วมกับพันธมิตร ว่า สถานการณ์การหลอกลงทุนของมิจฉาชีพมีหลากรูปแบบ ทั้งการแอบอ้างองค์กร ชื่อ ภาพ ผู้บริหารของหลายหน่วยงาน รวมทั้งบุคคลที่มีชื่อเสียง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและหลอกลวงให้มาลงทุน ทั้งหมดนี้ล้วนสร้างความเสียหายแก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก
จากความร่วมมือภายใต้โครงการ "ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน" หน่วยงานพันธมิตรได้ร่วมสื่อสารเตือนประชาชนและผู้ลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง และต่อยอดขยายผลออกมาเป็นแคมเปญ "เช็กทุกดอก ไม่โดนหลอกลงทุน" ในวันนี้ โดยสื่อสารให้ประชาชนทราบว่า ทุกครั้งที่ถูกชักชวนให้ลงทุน ควรตรวจสอบที่มาที่ไปของบริษัทต่างๆ ที่จะเข้าไปลงทุน แคมเปญยังเน้นการรณรงค์เพื่อให้ความรู้และสร้างภูมิคุ้มกันเรื่องการหลอกลงทุนแก่ประชาชนในวงกว้าง ซึ่งเชื่อมั่นว่า แคมเปญนี้จะช่วยตอกย้ำให้คนไทยฉุกคิดก่อนลงทุน พร้อมทั้งเกิดความรู้ความเข้าใจในการตรวจสอบข้อมูลการลงทุนอย่างถูกวิธีมากยิ่งขึ้น
นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่าสถานการณ์หลอกลงทุนปัจจุบันยังร้ายแรงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเป็นวงกว้าง ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับการต่อการการหลอกลวงลงทุน โดยได้เสริมสร้างความรู้แก่ประชาชน ทั้งในมิติของการสร้างความตระหนักรู้ และวิธีการป้องกันตนเองจากการถูกหลอก รวมทั้งขยายผลไปสู่การสกัดกั้นไม่ให้มิจฉาชีพหลอกลวงลงทุน
การสกัดกั้นมิจฉาชีพต้องร่วมมือกันในทุกองค์จะช่วยแก้ปัญหาได้ดียิ่งขึ้น สำหรับก.ล.ต. ได้ดำเนินการเพื่อการป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อโดยเน้นการสื่อสาร และส่งผ่านความรู้เท่าทันการหลอกลวงที่มาในรูปแบบต่าง ๆ ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายและต่อเนื่อง อาทิ การจัดให้มีศูนย์รวมเรื่องราวกลโกงการลงทุนที่พบบ่อย หรือสแกมเซนเตอร์ ที่เว็ปไซต์ก.ล.ต. และมีการเผยแพร่บทความให้ความรู้ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของก.ล.ต. รวมทั้งในอนาคตจะยกระดับการสกัดกั้นการหลอกลงทุน โดยเปิดศูนย์รับแจ้งเบาะแสการหลอกลงทุนออนไลน์ เพื่อให้การสกัดกั้นมิจฉาชีพทันต่อเหตุการณ์และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ภายใต้แคมเปญ "เช็กทุกดอก ไม่โดนหลอกลงทุน" กองทุน CMDF และพันธมิตรทุกภาคส่วน ได้ร่วมกันรณรงค์ให้ความรู้และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการหลอกลงทุน ผ่านการบูรณาการการสื่อสารในหลากหลายรูปแบบที่ครอบคลุมช่องทางการสื่อสารต่างๆ ในวงกว้าง ทั้งการนำเสนอภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่ การสื่อสารที่เข้าใจง่ายผ่านรายการ "ครูเพ็ญศรีจับโกงลงทุน" การจัดเสวนาอย่าหาว่าน้าสอนตอนพิเศษ "รู้ทันทุกดอก ไม่โดนหลอกลงทุน" โดย "น้าเน็ก เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา" พิธีกรชื่อดังผู้จัดรายการอย่าหาว่าน้าสอน และรายการคุยต้องรวย ที่มาเล่าเรื่องราวและประสบการณ์จากการเห็นบุคคลที่ถูกมิจฉาชีพหลอกลงทุนในรูปแบบต่างๆ โดยมีนายวิทย์ สิทธิเวคิน เป็นผู้ดำเนินรายการ พร้อมจัดนิทรรศการพร้อมกิจกรรมให้ความรู้เรื่องการหลอกลงทุนภายในงานเปิดตัวแคมเปญ ซึ่งจัดขึ้นที่ลานเซ็นทรัล คอร์ต ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปที่มีข้อสงสัยในเรื่องการลงทุน สามารถเข้าไป "เช็กให้ชัวร์ก่อนลงทุน" ผ่านทางแอปพลิเคชัน SEC Check First หรือทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ทันที หรือโทรเช็กตรงกับบริษัทที่สนใจจะลงทุน
กองทุน CMDF และพันธมิตรมุ่งหวังว่าแคมเปญ "เช็กทุกดอก ไม่โดนหลอกลงทุน" ภายใต้โครงการ "ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน" จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คนไทยมีภูมิคุ้มกันและรู้ทันกลโกงของมิจฉาชีพหลอกลงทุนมากยิ่งขึ้น โดยในขณะเดียวกัน ประชาชนยังมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการออมเงินและการลงทุนอย่างถูกวิธี ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพหลอกลงทุนได้ง่าย ซึ่งหลังจากนี้ทางโครงการฯ ยังมีกิจกรรมดีๆ ที่จะมาเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเรื่องการลงทุนให้กับคนไทยอย่างต่อเนื่อง