ธุรกิจของ CDIP รับจ้างวิจัยเชิงวิชาการในห้องปฏิบัติการรับจ้างทดสอบและวิเคราะห์ผลทางวิทยาศาสตร์รวมถึงจัดงานฝึกอบรมและสัมมนาและส่วนงานให้คำปรึกษาการยื่นขอทุนวิจัยด้านการวิจัยและพัฒนา โดย JSP ตั้งเป้านำ CDIP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) ภายในปี 68 และในระยะยาวไม่เกิน 5 ปี ตั้งเป้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) เพื่อระดมทุนรองรับการขยายธุรกิจในการทำงานวิจัยและพัฒนา รวมถึงการขยายตู้ขายยา Medis ให้เป็น 1,000 ตู้ ภายในปี 68
นางสาวจิรรัตน์ พวงนุ้ย ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรม บมจ.ซีดีไอพี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า บริษัทประกอบธุรกิจต้นน้ำผู้ให้บริการวิจัยและพัฒนา วิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์ พัฒนาสูตรและรูปแบบของผลิตภัณฑ์ ตั้งโดยกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ สายเลือดนักวิจัย เนื่องจากเห็นช่องว่างของความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้ผลิตงานวิจัย นักวิจัย ผู้ใช้งานวิจัย ในอุตสาหกรรมต่างๆ และผู้บริโภคงานวิจัย หมายถึงตลาดและผู้บริโภค จึงต้องการเชื่อมโยงของทั้ง 3 ส่วน เข้าด้วยกัน เพื่อนำงานวิจัยไทยมาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์และผลิตเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ ทั้งกลุ่มอาหารเสริม เครื่องดื่ม สมุนไพร และเครื่องสำอาง ออกสู่ตลาดได้จริง เน้นการต่อยอดงานวิจัยไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบเพื่อสุขภาพจากไทยสู่ตลาดโลกเสริมสร้างความแข็งแกร่งและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคการเกษตร และสมุนไพรไทย
CDIP มีห้องแล็บขนาดใหญ่ที่มีเครื่องมือที่ได้รับมาตรฐานระดับสากล และเครือข่ายนักวิจัย ระดับปริญญาเอก ทั้งจาก สวทช.และอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ตั้งของ CDIP และมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งจะสนับสนุนให้ CDIP สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านการยกระดับงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ได้ด้วยเงินทุนที่ไม่มากเหมือนกับบริษัทใหญ่ ในต่างประเทศ
นอกจากนี้ CDIP ยังมีในธุรกิจปลายน้ำ ซึ่งเป็นนวัตกรรมแพลตฟอร์มตู้จำหน่ายยาอัตโนมัติ 24 ชั่วโมงผ่านตู้กดยา Medis ทำการจำหน่ายยาสามัญประจำบ้าน ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ ซึ่งจะมาแก้ข้อจำกัดของการเข้าถึงยาในเวลากลางคืนที่ร้านขายยาปิดให้บริการแล้ว รวมถึงแก้ข้อจำกัดในเรื่องเภสัชกรประจำร้านขายยาที่ขาดแคลนอยู่ โดยปัจจุบันให้บริการจำนวน 44 ตู้ มียาสามัญประจำบ้านให้บริการ 40 รายการ/ตู้ ซึ่งตู้ขายยาที่ติดตั้งให้บริการอยู่จะอยู่ภายในคอนโดมิเนียมของ LPN ที่บริษัททำสัญญาในการให้บริการไว้ และมีแผนขยายจำนวนตู้ในปี 67 เพิ่มขึ้น 200 ตู้ ซึ่งเปึนจำนวนที่ถึงจุดคุ้มทุน และเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ตู้ในอนาคต เน้นขยายไปยังโครงการที่อยู่อาศัย โรงงานอุตสาหกรรม แหล่งชุมชน อย่างไรก็ดีในอนาคตตู้ Medis จะสามารถให้บริการปรึกษาเภสัชกรออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยแก้ไขข้อจำกัดที่มีในปัจจุบันให้คนไทยเข้าถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพและยารักษาโรคที่มีคุณภาพมากขึ้น