ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) และบริษัทในเครือ รายงานผลประกอบการเก้าเดือนแรกของปี 2566 มีกำไรสุทธิจำนวน 25,198 ล้านบาท เติบโต 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของรายได้จากการดำเนินงาน ทั้งในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย อันเป็นผลมาจากการเติบโตของเงินให้สินเชื่อในประเทศและการควบรวมกิจการพอร์ตสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในต่างประเทศ
ผลประกอบการที่แข็งแกร่งสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของเงินให้สินเชื่อรวมที่ 3.5% และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่เร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ 3.70% ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2566 แม้ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงภาระการตั้งสำรองสำหรับธุรกิจในต่างประเทศตามนโยบายบริหารจัดการความเสี่ยงที่เข้มงวดระมัดระวัง
สำหรับกำไรสุทธิในไตรมาส 3/66 อยู่ที่จำนวน 8,096 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.3% หรือจำนวน 26 ล้านบาทโดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงานสุทธิด้วยการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
และเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา (ไตรมาส 2/66) ลดลงจำนวน 329 ล้านบาท หรือ 3.9% แม้ว่าผลการดำเนินงานมีความแข็งแกร่งจากปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจากการดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการตั้งสำรองด้วยความรอบคอบระมัดระวังสำหรับบริษัทลูกในต่างประเทศ
นายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่องของธนาคารได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ทั้งจากธุรกิจในประเทศและต่างประเทศ โดยยังคงรักษาความเข้มงวดระมัดระวังในการบริหารจัดการความเสี่ยงอยู่เสมอ
"เศรษฐกิจไทยโดยรวมยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2566 แม้ว่าจะเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงกว่าที่คาดการณ์อันเนื่องมาจากอุปสงค์ในต่างประเทศที่อ่อนตัวลง ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่สี่ของปีนี้ โดยได้รับแรงขับเคลื่อนของการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและผลจากฐานที่ต่ำในไตรมาสที่สี่ของปีก่อนหน้า กรุงศรียังคงเป้าหมายการเติบโตของเงินให้สินเชื่อปี 2566 ไว้ที่ 3-5%"
ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 กรุงศรี ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้าในระบบเศรษฐกิจไทยจากมูลค่าสินทรัพย์ สินเชื่อและเงินรับฝาก และเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) มีสินเชื่อรวม 2.02 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.77 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.76 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 309.12 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 18.38% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นของเจ้าของคิดเป็น 13.66%
สรุปผลประกอบการและฐานะการเงินที่สำคัญสำหรับช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2566
- กำไรสุทธิในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2566 จำนวน 25,198 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.0% หรือ 1,876 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2565 โดยมีปัจจัยหลักมาจากผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทั้งรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย
- เงินให้สินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 3.5% หรือจำนวน 67,428 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคม 2565 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเติบโตของสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสินเชื่อเพื่อรายย่อย ซึ่งครอบคลุมบริษัทลูกต่างประเทศแห่งใหม่ในไตรมาสสองของปี 2566
- เงินรับฝาก ลดลง 1.8% หรือจำนวน 32,464 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหลักมาจากการลดลงของเงินฝากออมทรัพย์ สุทธิด้วยการเพิ่มขึ้นของเงินรับฝากประจำ
- ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ 3.70% จาก 3.44% ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2565 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนอัตราดอกเบี้ยและต้นทุนทางการเงินที่ปรับเพิ่มขึ้น
- รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 9.6% หรือจำนวน 2,386 ล้านบาท จากช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2565 โดยเป็นผลมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยอื่นๆ
- อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ อยู่ที่ 44.2% เมื่อเทียบกับ 43.4% ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2565 สะท้อนค่าใช้จ่ายทางการตลาด สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการควบรวมธุรกิจในไตรมาส 2/2566
- อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ 2.48% เมื่อเทียบกับ 2.32% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 โดยมีปัจจัยหลักมาจากนโยบายการบริหารความเสี่ยงด้วยความรอบคอบระมัดระวังของธนาคาร ขณะที่สัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 149 เบสิสพอยท์
- อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 155.1%
- อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ของธนาคาร) ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 18.38% เทียบกับ 17.97% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565