MCA ปิดเทรดวันแรกที่ 2.04 บาท ลดลง 1.26 บาท (-38.18%) มูลค่าการซื้อขาย 1,044.03 ล้านบาท จากราคา IPO 3.30 บาท โดยราคาเปิดที่ 3.00 บาท ราคาสูงสุด 3.42 บาท ราคาต่ำสุด 1.83 บาท
บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ บมจ.มาร์เก็ต คอนเน็กชั่นส์ เอเชีย (MCA) ว่าจากการประเมินมูลค่าเบื้องต้นด้วยวิธี PER เฉลี่ยของผู้ประกอบธุรกิจใกล้เคียงกันที่ 37.6x เท่า ได้มูลค่าที่เหมาะสมใกล้เคียงกับราคา IPO ที่ 3.30 บาท
MCA เป็นผู้วางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด พร้อมการให้บริการจัดกิจกรรมส่งเสริมทางการตลาดแบบครบวงจร เพื่อนำเสนอและสื่อสารข้อมูลสำหรับสร้างการรับรู้แบรนด์สินค้าให้แก่ผู้บริโภค โดยมีการให้บริการ ดังนี้ 1) บริการจัดกิจกรรมทางการตลาดและดิจิทัล เช่น ออกบูธ โร้ดโชว์สินค้า และงานอีเวนต์ 2) บริการบรรจุและจัดส่งสินค้า (สำหรับสินค้าตัวอย่าง สินค้าทดลอง และสื่อประชาสัมพันธ์) 3) บริการพนักงานแนะนำสินค้า 4) บริการจัดเรียงสินค้า นอกจากนี้ยังขยายธุรกิจเข้าสู่การเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางการขาย เช่น ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม ร้านค้าปลีกแบบสมัยใหม่ และร้านสะดวกซื้อ ซึ่งได้เริ่มดำเนินธุรกิจแล้วในไตรมาส 3/66 ในโครงการนำร่อง (Pilot Project) 2 โครงการ (ลูกค้ากลุ่มธุรกิจของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์จำนวน 2 ราย
บล.ทิสโก้ เห็นว่า อุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) มีผู้เล่นที่เกี่ยวเนื่องในอุตสาหกรรมจำนวนมาก ประกอบกับผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในอุตสาหกรรมได้ง่าย ทั้งบริษัทจัดกิจกรรมทางด้านการตลาดโดยตรง บริษัทเอเจนซี่โฆษณา บริษัทสื่อและสิ่งพิมพ์ และบริษัทที่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการประชาสัมพันธ์ (PR) หรือบริษัทลูกค้าอาจมีการจัดกิจกรรมขึ้นเอง ส่งผลให้การแข่งขันภายในอุตสาหกรรมสูง แต่บริษัทมีความแตกต่างจากผู้เล่นอื่นในแง่ของการให้บริการที่ครบวงจรตั้งแต่วางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดไปจนถึงการการผลักดันยอดขาย ซึ่งบริษัทมีจุดแข็งในด้านความเชี่ยวชาญ ความเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี มีการให้บริการที่ตอบโจทย์ในด้านความต่อเนื่องและช่วยแก้ไขปัญหาให้ลูกค้า รวมทั้งบริษัทมีความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจ ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้ทันต่อสถานการณ์
นอกจากนี้แผนขยายธุรกิจไปเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้า โดยใช้ความเชี่ยวชาญด้านกิจกรรมทางการตลาดของบริษัทมาสนับสนุนการดำเนินงานในส่วนนี้ เป็นการต่อยอดธุรกิจที่ก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นำไปสู่การประหยัดต่อขนาด (Economies of scale) ต่อไปด้วย ดังนั้นการระดมทุนในครั้งนี้จึงมีความเหมาะสม
ในระยะสั้น มองว่ารายได้จะฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำ ประกอบกับปี 66 เป็นปีที่เปิดประเทศเต็มปี หลังจากธุรกิจจัดกิจกรรมทางการตลาดได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถจัดกิจกรรมทางการตลาดได้ นอกจากนี้ช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 4 ของทุกปี เป็นช่วงที่รายได้เติบโตสูง เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาล การจัดกิจกรรมทางการตลาดจึงสูงขึ้นตามไปด้วย ในระยะยาว คาดว่าอุปสงค์การวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดและการให้บริการจัดกิจกรรมส่งเสริมทางการตลาดจะเพิ่มขึ้น จากการแข่งขันในสินค้าต่างๆ ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เป็นฐานลูกค้าหลักของบริษัท (อุตสาหกรรมอาหาร) รวมทั้งกลยุทธ์การขยายการให้บริการและขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันของบริษัทจะช่วยหนุนให้รายได้เติบโตอย่างสม่ำเสมอในอนาคต
อัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิเริ่มฟื้นตัว จากรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรายได้จากการบริการจัดกิจกรรมทางด้านการตลาดที่ฟื้นตัวโดยเติบโตร้อยละ 27.79 YoY ซึ่งเป็นบริการที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูง ส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิ 1H66 โตขึ้นร้อยละ 69.57 YoY ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น ในระยะสั้นเรามองว่าค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารจะเพิ่มสูงขึ้นจากการขยายธุรกิจไปยังผู้จัดจำหน่ายสินค้า ซึ่งต้องมีการลงทุนและใช้เงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นในช่วงแรก
อย่างไรก็ตามในระยะยาวธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันทั้งหมดของบริษัทจะช่วยให้สามารถบริหารทรัพยากรได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ต้นทุนต่างๆ ลดลงจากการประหยัดต่อขนาด (Economies of scale) และหากธุรกิจให้บริการจัดเรียงสินค้าและธุรกิจผู้จัดจำหน่ายสินค้าเข้าสู่ช่วงการเติบโต อัตรากำไรจะขยายตัวมากขึ้น
ปัจจัยที่ต้องติดตามต่อ ได้แก่ 1) การให้บริการหรือขยายธุรกิจเพิ่ม 2) การเติบโตของธุรกิจให้บริการจัดเรียงสินค้าและธุรกิจผู้จัดจำหน่ายสินค้า 3) งบประมาณทางการตลาดของกลุ่มลูกค้า
ความเสี่ยง ได้แก่ 1) การพึ่งพิงพนักงานผู้ให้บริการจากภายนอก (Outsource) 2) การแข่งขันภายในอุตสาหกรรมที่สูง 3) สภาวะเศรษฐกิจในประเทศ