นายดนัย อรุณกิตติชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายบริหารกองทุน บลจ.บัวหลวง เปิดเผยว่าตลาดหุ้นอาเซียนมีความน่าสนใจในการลงทุน เนื่องจากเศรษฐกิจในภูมิภาคค่อนข้างมีเสถียรภาพและมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของโลก ในขณะที่อัตราการเติบโต 10 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2566 ? 2565 โตเฉลี่ย 4.4% ต่อปี และโอกาสเติบโตสูงขึ้นโดยในปีนี้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของอาเซียนจะเติบโต ประมาณ 5.7% สวนทางกับเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในสภาวะชะลอตัว และคาดการณ์เศรษฐกิจอาเซียนจะเติบโตต่อเนื่องในอีก 5 ปีข้างหน้าเฉลี่ย 4.5% ต่อปี
โดยตั้งแต่ช่วงฟื้นตัวหลังจากโควิด ประเทศในอาเซียนพึ่งพาอุปสงค์ในประเทศมากขึ้น การกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศและการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงฟื้นตัวอยู่ รวมทั้งการฟื้นตัวของภาคแรงงานที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้ไม่ได้รับแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงในพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งทิศทางเงินเฟ้อภูมิภาคในปี 66 คาดจะอยู่ที่ 2.4% ปี 67 ที่ 2.6% และปี 68 อยู่ที่ 2.5%
ขณะที่การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน (Private consumption) เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยพยุงให้เศรษฐกิจกลุ่มอาเซียนเติบโตสวนทางกับเศรษฐกิจโลกเป็นสัญญาณที่ค่อนข้างเป็นบวก โดยฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจจะเป็นเป้าหมายหลักของการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการจ้างงาน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่ตามมา
อย่างไรก็ตามอาจจะมีความเสี่ยงบางมุม โดยเฉพาะค่าเงินภูมิภาค ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาอ่อนค่าลงค่อนข้างมาก แต่ข้อดีคือเป็นการอ่อนค่าลงของทั้งภูมิภาคไม่ได้เป็นการอ่อนค่าที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันยังอยู่ระดับที่สมดุลไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบกัน แต่การอ่อนตัวอาจจะต่างกันบ้างจากปัจจัยภายในประเทศนั้น ๆ
นอกจากนี้ต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในอาเซียนที่เป็นไปตามทิศทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ซึ่งอาจจะกระทบกับประเทศในภูมิภาคทั้งทางตรงและทางอ้อม หากดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับที่สูงต่อไป การบริโภคในประเทศของสหรัฐชะลอตัวลง จะกระทบต่อการส่งออกของประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วยเช่นกัน
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงจากประเทศจีน จากปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นและยังไม่สามารถจัดการปัญหาได้และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะยังขาดความชัดเจนกระทบต่อความเชื่อของนักลงทุน นอกจากนี้ปรากฎการณ์เอลนีโญเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบค่อนข้างมากกับประเทศในอาเซียน ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณผลผลิตที่ไม่เพียงพอ สินค้าขาดแคลนจะส่งผลต่อเศรษฐกิจซึ่งต้องติดตามต่อไป
สำหรับกองทุนที่แนะนำ B-ASEAN โดยลงทุนคุณภาพเป็นรายตัวในภูมิภาคอาเซียน เน้นกลุ่มธนาคารประมาณ 35.30% ไฟแนนซ์ 9.50% กลุ่มพัฒนาอสังหา 8.92% หุ้นกลุ่มขนส่ง 7.12% และเทคโนโลยี 6.76% โดยลักษณะการลงทุนหลักอยู่ในอินโดนีเซีย สิงคโปร์และเวียดนาม ซึ่งทิศทางข้างหน้าอาจจะให้น้ำหนักในประเทศที่มีประสิทธิภาพเช่นเวียดนาม อินโดนีเซีย รวมถึงไทย เนื่องจาก Valuation ของไทยอยู่ในระดับที่น่าสนใจแล้ว
นอกจากนี้ยังแนะนำกองทุน B-VIETNAM โดยลงทุนในหุ้นเวียดนามที่ได้ประโยชน์จากการเติบโตของประเทศในระยะยาว โดยเศรษฐกิจเวียดนามปีที่แล้วเติบโตดีขณะที่ปีนี้ชะตัวลง มีแรงกดดันในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการเงินเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามในอนาคตเศรษฐกิจอาจจะเติบโตขึ้นหลังจากตัวเลขเศรษฐกิจ 2-3 เดือนที่ผ่านมาเริ่มฟื้นตัว จากอานิสงส์ของเศรษฐกิจจีนที่เริ่มดีขึ้น