สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เผยแพร่บทความ "การกำกับดูแลกิจการที่ดี : ปัจจัยสำคัญในการพิจารณาก่อนลงทุน" ว่า ก่อนจะตัดสินใจลงทุนในบริษัทจดทะเบียน ผู้ลงทุนใช้ปัจจัยใดในการประกอบการตัดสินใจบ้าง? คำตอบที่คุ้นเคยอาจจะเป็นนโยบายการทำธุรกิจ การคาดการณ์ผลตอบแทนที่ต้องการ ผลประกอบการในอดีต
อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่ผู้ลงทุนควรให้ความสำคัญไม่แพ้กัน คือ ปัจจัยด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยบริษัทจดทะเบียนแต่ละแห่งที่เสนอขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีหน้าที่ต้องแจ้งข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดีในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านการเงิน ด้านการบริหาร ซึ่งมีกระบวนการแจ้งข้อมูลที่ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก เช่น การแจ้งข้อมูลผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ (ELCID) การประชุมผู้ถือหุ้น การจัดกิจกรรมวันบริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน (opportunity day) เป็นต้น แล้วปัจจัยที่แสดงถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนมีอะไรบ้าง ? ขอยกตัวอย่าง 5 ข้อสำคัญ เพื่อให้ผู้ลงทุนได้พิจารณา ดังนี้
1. บริษัทต้องจัดทำรายงานทางการเงินที่มีประสิทธิภาพและสมดุล
ผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนที่ดีจะให้โอกาสผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดทำรายงานทางการเงินได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น ฝ่ายบัญชีการเงิน คณะกรรมการตรวจสอบ และผู้สอบบัญชี เป็นต้น โดยผู้บริหารจะสนับสนุนด้านทรัพยากรให้เหมาะสมและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน และไม่ใช้อำนาจแทรกแซงเกินความจำเป็น ซึ่งจะเกิดความสมดุลในการดำเนินงาน และผู้ลงทุนจะได้ข้อมูลรายงานทางการเงินที่ถูกต้อง แท้จริง ประกอบการตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง
2. กรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระได้ทำหน้าที่อย่างอิสระ กรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระมีหน้าที่เป็นตัวแทนผู้ลงทุนรายย่อยในการตรวจสอบความผิดปกติ โดยจะช่วยตรวจสอบรายงานทางการเงินของบริษัทนั้น ๆ ให้มีความถูกต้อง เป็นจริง รวมทั้งดูแลให้บริษัท มีระบบควบคุมภายในที่เหมาะสมและมีการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ เพราะการมีระบบควบคุมภายในที่มีคุณภาพจะช่วยให้การทุจริตนั้นเกิดได้ยากขึ้น จะเห็นได้ว่าในบางครั้งการทำทุจริตทางบัญชีเกิดจากผู้บริหารระดับสูงในบริษัทเสียเอง ดังนั้น กรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระของบริษัทจดทะเบียนจึงต้องมีความอิสระในการตรวจสอบความสมเหตุสมผลของการดำเนินกิจการและตรวจสอบตัวเลขในรายงานทางการเงิน
3. มีระบบควบคุมภายในที่เหมาะสม หากผู้ลงทุนหรือบุคคลใดก็ตามพบเห็นการกระทำที่ผิดปกติในบริษัท จะต้องมีช่องทางติดต่อไปยังบริษัทได้ หรือมีระบบการรับเรื่องร้องเรียนที่สามารถเปิดโอกาสให้ผู้ที่พบเห็นการทุจริตทั้งภายในและภายนอกบริษัท แจ้งเรื่องเข้ามาให้กรรมการตรวจสอบได้ทราบปัญหา เพื่อการแก้ไขปัญหาได้ทันเวลา และควรวางแนวทางการบริหารเรื่องร้องเรียนที่ดี สร้างวัฒนธรรมองค์ที่โปร่งใส ยุติธรรม ตรวจสอบได้ และมีมาตรการคุ้มครอง แก่ผู้ให้เบาะแสด้วย นอกจากนี้ หากพบเห็นการกระทำผิดในบริษัทจดทะเบียน หรือต้องการร้องเรียนผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ท่านสามารถแจ้งเบาะแสหรือแจ้งเรื่องร้องเรียนได้ที่ โทร.1207 หรืออีเมล complaint@sec.or.th
4. คัดเลือกผู้สอบบัญชีที่มีคุณภาพ
บริษัทจดทะเบียนต้องมีกระบวนการคัดเลือกผู้สอบบัญชีที่มีคุณภาพเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและแสดงความเห็นต่องบการเงิน โดยในการคัดเลือกผู้สอบบัญชีที่มีคุณภาพ บริษัทและกรรมการตรวจสอบ ควรพิจารณาคัดเลือกผู้สอบบัญชีโดยคำนึงถึงปัจจัยด้านคุณภาพมากกว่าปัจจัยด้านราคาค่าสอบบัญชี ทั้งนี้ ตัวอย่างของปัจจัยด้านคุณภาพ ได้แก่ ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ของผู้สอบบัญชี การมีส่วนร่วมของผู้สอบบัญชี การจัดสรรทรัพยากรบุคคล ความเป็นอิสระของผู้สอบบัญชี และรายงานการตรวจระบบควบคุมคุณภาพและระบบการบริหารคุณภาพของสำนักงานสอบบัญชีในตลาดทุนที่ผู้สอบบัญชี ในตลาดทุนสังกัด (firm inspection report)
5. มีมาตรการส่งเสริมด้านการป้องกันและค้นพบการทุจริต
บริษัทจดทะเบียนที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีย่อมแสดงข้อมูลการบริหารงานอย่างมีธรรมาภิบาล สามารถพิจารณาได้จากการมีมาตรการป้องกันและค้นพบการทุจริตอย่างทันท่วงที เพื่อรักษาผลประโยชน์ ของผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุน สร้างความเชื่อมั่นต่อการบริหารงานของบริษัทและการรายงานทางการเงิน
จาก 5 ข้อข้างต้น จะเห็นได้ว่าการทำหน้าที่ของกรรมการ ผู้บริหาร มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนในการดำเนินงานทั้งในส่วนของการขับเคลื่อนธุรกิจและการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมทั้ง ความมีอิสระของกรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระในการทำหน้าที่ตรวจสอบการบริหารงานก็สำคัญไม่แพ้กัน ทั้งนี้ ผู้ลงทุนสามารถสืบค้นข้อมูลทำความเข้าใจแนวปฏิบัติที่ดีในการกำหนดบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการและฝ่ายจัดการ ได้ที่เว็บไซต์สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) https://www.thai-iod.com/
นอกจากนี้ ในปัจจุบันผู้ลงทุนยังสามารถพิจารณาปัจจัยในการเลือกลงทุนและเข้าถึงข้อมูลความรู้ต่าง ๆ จากแหล่งข้อมูลของหน่วยงานทางการที่น่าเชื่อถือได้อย่างสะดวกจากหลากหลายช่องทาง เช่น เว็บไซต์สำนักงาน ก.ล.ต. www.sec.or.th เฟซบุ๊กเพจ "สำนักงาน กลต." หรือเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ฯ www.set.or.th เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ลงทุนควรพิจารณาและตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลว่าเป็นของจริง แท้ แน่นอนหรือไม่ และควรตรวจสอบผู้ที่มาชักชวนลงทุนว่าได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. ตัวจริงหรือเปล่า โดยสามารถเช็กชื่อผู้ประกอบธุรกิจ นิติบุคคล หรือบุคคลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ได้ที่ market.sec.or.th/LicenseCheck/Search หรือ แอปพลิเคชัน "SEC Check First" เช็กให้ชัวร์ ก่อนลงทุน