นายศิริพงษ์ อุ่นทรพันธุ์ ประธานคณะกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี (AIT) กล่าวว่า บริษัทคาดว่าทั้งปี 66 จะมีรายได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยปัจจุบัน AIT มีมูลค่างานในมือ (Backlog) ณ วันที่ 1 พ.ย.66 อยู่ที่ประมาณ 5,400 ล้านบาท รวมถึงจำนวนมูลค่างานที่อยู่ระหว่างรอคำสั่งซื้อจากลูกค้า (Waiting for P/O) อีกจำนวน 570 ล้านบาท
ขณะที่บริษัทมีงานที่อยู่ระหว่างการเสนอราคา (Bidding in process) อีกประมาณ 1,000 ล้านบาท และเตรียมเข้าประมูลงานของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ตามแผนการลงทุนด้านเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของภาครัฐ คาดว่าจะเข้าร่วมประมูลงานไม่ต่ำกว่า 7,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนผลการดำเนินงานในอนาคต
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 3/66 บริษัทฯ มีรายได้จากงบเฉพาะกิจการ 1,705 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 1,886 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 122 ล้านบาท ลดลงจาก 143 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีงานโครงการที่สำคัญที่ได้ส่งมอบ เช่น โครงการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายเพื่อทดแทนและรองรับระบบสารสนเทศเพิ่มเติมของสำนักงานประกันสังคม โครงการซื้อขายระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์สำหรับใช้งานสารสนเทศของสภากาชาดไทย โครงการป้องกันข้อมูลรั่วไหลบนคลาวด์แบบศูนย์รวมของ บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นต้น
ขณะที่งวด 9 เดือนแรกของปี 66 รายได้จากงบเฉพาะกิจการ 4,705 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 4,952 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 342 ล้านบาท เท่ากับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 342 ล้านบาท
สำหรับความคืบหน้าจากการเข้าลงทุนในบริษัท คัมปานา จำกัด (Campana) ซึ่งประกอบธุรกิจดำเนินโครงการไฟเบอร์ออฟติกเคเบิลใต้น้ำ (SIGMA) และโครงการไฟเบอร์ออฟติกเคเบิลบนดิน (TARO) ในเมียนมา ได้วางสายเคเบิ้ลที่สามารถเชื่อมต่อจากเมียนมาไปยังสิงคโปร์เพื่อเข้าสู่จุดต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งโครงการไฟเบอร์ออฟติกเคเบิลบนดิน (TARO) ได้ให้บริการไปแล้ว 4-5 ปีก่อนหน้า และโครงการไฟเบอร์ออฟติกเคเบิลใต้น้ำ (SIGMA) ได้ทดสอบระบบ (Test Run) และเริ่มให้บริการในช่วงเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา
ขณะที่โครงการปลูกป่าสักเชิงเศรษฐกิจจำนวนประมาณ 1,000 ไร่ ของบริษัทฯ ปัจจุบันได้ซื้อที่ดินในจังหวัดนครราชสีมา และอยู่ระหว่างการดำเนินงานในขั้นตอนต่างๆ ที่ได้วางแผนไว้ โดยปลูกต้นสักไปแล้วกว่า 135,000 ต้น และจะปลูกที่เหลืออีก 240,000 ต้นให้แล้วเสร็จก่อนกลางปี 67
"นับเป็นการให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม อีกทั้งยังช่วยสร้างผลตอบแทนทางการเงินในระยะยาวจากการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตและการจำหน่ายไม้สัก เป็นต้น และถือเป็นหนึ่งในโครงการด้านสิ่งแวดล้อมตามแนวทางและเป้าหมายด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) เพื่อช่วยลดวิกฤติภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการเพิ่มพื้นที่สีเขียวอีกทางหนึ่ง"นายศิริพงษ์ กล่าว