นางปัทมา ถกลศรี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการพาณิชย์ บมจ.นีโอ คอร์ปอเรท (NEO) คาดว่าแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) จะชัดเจนในปี 67 หลังจากยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ไม่เกิน 78,000,000 หุ้น โดยมี บล.ทิสโก้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO
บริษัทมีแผนจะปรับปรุงและขยายกำลังการผลิตสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือนและกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่อง โดยกำลังการผลิตรวมทั้งหมดอยู่ที่ 229,296 ตันต่อปี (ณ วันที่ 30 มิ.ย.66) เพิ่มขึ้น 20.86% ต่อปี จากเดิมที่ 142,800 ตันต่อปี ในปี 63 อีกทั้งบริษัท มีการลงทุนในอาคารและระบบคลังจัดเก็บสินค้าสำเร็จรูปอัตโนมัติ (Automated Storage and Retrieval Systems: ASRS) เพื่อรองรับแผนการเติบโตในอนาคต โดยปัจจุบันสามารถจัดเก็บสินค้าได้ 35,000 พาเลท และกำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารและระบบคลังสินค้าอัตโนมัติรองรับการจัดเก็บสินค้าสำเร็จรูปประมาณ 10,700 พาเลท โดยคาดว่าสามารถเปิดดำเนินการได้ไตรมาส 4/66
นางปัทมา กล่าวว่า อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคในประเทศไทยมีศักยภาพเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย อีกทั้งปัจจัยการก้าวเข้าสู่สังคมเมืองที่ขยายตัวและเกิดวิถีชีวิตใหม่ด้านสุขอนามัย ส่งผลให้อัตราการอุปโภคขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยผลประกอบการของบริษัทเติบโตตัวเลขสองหลักต่อเนื่องทุกปี ซึ่งสูงกว่าภาพรวมอุตสาหกรรมที่เติบโตตัวเลขหลักเดียว
เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ส่งผลให้กำลังซื้อเริ่มกลับมา อีกทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลจะช่วยผลักดันผลประกอบการของบริษัทด้วย ทั้งนี้ ระบบพื้นฐานของประเทศไทยค่อนข้างมั่นคง กำลังซื้อสินค้าอุปโภคจังไม่เป็นอุปสรรคและยังมีการใช้จ่ายอยู่ตลอดเวลา ขณะที่อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคในประเทศเริ่มฟื้นตัว สะท้อนจากผลประกอบการของบริษัทค้าปลีกที่มีกำไรต่อเนื่อง
ขณะที่ตลาดต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้ส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ กว่า 16 ประเทศ โดยมีกลุ่มหลัก ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา ลาว และ เมียนมา บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศที่ 13-15% และหวังว่าอนาคตรายได้จากต่างประเทศจะเติบโตไปที่ 15-20%
บริษัทพัฒนาสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องกว่าร้อยรายการต่อปี โดยในปี 65 บริษัทได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ 412 รายการ (SKUs) ซึ่งในแต่ละปีจะมีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์และออกสินค้าใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอยู่เสมอ โดยใช้งบ R&D อย่างน้อย 5% ของรายได้
นายสุทธิเดช ถกลศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NEO เปิดเผยว่า บริษัทเป็นผู้ทำการตลาด ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคชั้นนำของประเทศ ซึ่งเป็นแบรนด์ชั้นนำของคนไทยที่มีคุณภาพและเอกลักษณ์โดดเด่น หลากหลายครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ด้วยราคาที่เหมาะสม พร้อมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในตลาดสินค้าอุปโภคมากว่า 34 ปี โดยมีวิสัยทัศน์ "มุ่งมั่นที่จะเป็นบริษัท Fast-moving consumer goods (FMCG) แห่งนวัตกรรมของเอเชีย ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้บริโภค" ส่งมอบนวัตกรรมและผลิตภัณฑืใหม่ ที่ช่วยดูแลชีวิตประจำวันของทุนคนให้ได้รับความสะดวกสบายและมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขั้น เพื่อเป็นการยกระดับความสุขของผู้บริโภคให้ทุกวันดียิ่งขึ้น (Uplift Essentials for Everyday Betterment)
ปัจจุบัน NEO มีสินค้าอุปโภค 3 กลุ่มหลัก รวม 8 แบรนด์ ประกอบด้วย 1. ของใช้ในครัวเรือน (Household Products) ประกอบด้วย 3 แบรนด์ คือ ไฟน์ไลน์ (Fineline) เช่น ผลิตภัณฑ์ซักผ้า ผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่ม และผลิตภัณฑ์รีดผ้าเรียบ (2) สมาร์ท (Smart) เช่น ผลิตภัณฑ์ซักผ้า และผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่ม สูตรแอนตี้แบคทีเรีย และ (3) โทมิ (Tomi) เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดห้องน้ำ
2. ของใช้ส่วนบุคคล (Personal Care Products) ประกอบด้วย 4 แบรนด์ ได้แก่ บีไนซ์ (BeNice) เช่น ครีมอาบน้ำ และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น, ทรอส (TROS) เช่น โคโลญ และ โรลออนสำหรับผู้ชาย, เอเวอร์เซ้นส์ (Eversense) เช่น แป้ง โคโลญ และโรลออนสำหรับผู้หญิง และ วีไวต์ (Vivite) เช่น โรลออนสำหรับผู้หญิง
3. ของใช้สำหรับเด็ก (Baby and Kids Products) แบรนด์ดีนี่ (D-nee) เช่น ผลิตภัณฑ์ซักผ้าเด็ก ผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่มเด็ก และผลิตภัณฑ์อาบน้ำและสระผมเด็ก เป็นต้น
บริษัทวางกลยุทธ์การทำตลาดมุ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ดีมีคุณภาพ สร้างสรรค์คุณสมบัติที่มีเอกลักษณ์ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทุกช่วงวัยและทุกไลฟ์สไตล์ อีกทั้ง มองหาโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ เพื่อนำเสนอกลุ่มผลิตภัณฑ์ (Product Portfolio) ที่หลากหลายครอบคลุมทุกความต้องการ ผ่านการสื่อสารทางการตลาดและการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายหลากหลายเหมาะสมกับกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย ทำให้สามารถขยายฐานกลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่ (Mass Market) ไปยังกลุ่มพรีเมียมแมส (Premium Mass) และกลุ่มพรีเมียม (Premium) ได้ในหลายแบรนด์ผลิตภัณฑ์ อีกทั้งรักษาลูกค้าปัจจุบันให้กลับมาซื้อสินค้าซ้ำได้อย่างต่อเนื่อง (Brand Loyalty)
"ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา NEO ส่งมอบนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับความสุขของผู้บริโภคให้ทุกวันดียิ่งขึ้น ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์หลากหลายแบรนด์ อาทิ การออกผลิตภัณฑ์แบรนด์ดีนี่ (D-nee) ในปี 2540 โดยมีจุดเด่นในด้านคุณภาพที่ดี อ่อนโยน และไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวเด็ก ด้วยนวัตกรรมที่โดดเด่นส่งผลให้มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 2 ภายในปีแรก และมีส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับ 1 ในปี 2565
ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (63-65) บริษัทได้มีการนำเสนอนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพทำความสะอาดรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 การออกผลิตภัณฑ์ที่เน้นสารสกัดจากธรรมชาติและมีความอ่อนโยน รวมถึงการขยายสินค้าไปยังกลุ่มสินค้าระดับพรีเมียมแมส (Premium Mass) และระดับพรีเมียม (Premium) ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะเป็นบริษัท FMCG แห่งนวัตกรรมของเอเชีย" นายสุทธิเดช กล่าว