NAT นับถอยหลังขาย IPO 92 ล้านหุ้นเข้า mai หลัง ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 10, 2023 15:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

NAT นับถอยหลังขาย IPO 92 ล้านหุ้นเข้า mai หลัง ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง

นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) ในฐานะที่ปรึกษาการเงิน บมจ.แนท แอบโซลูท เทคโนโลยีส์ (NAT) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เริ่มนับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งแรกต่อประชาชน (IPO) ของ NAT เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 66 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นางสาวมธุรส สาราณียะธรรม กรรมการผู้จัดการ APM กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน NAT มีทุนจดทะเบียน 164 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท และ มีทุนที่เรียกชำระแล้ว 118 ล้านบาท โดยจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 92 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 28.05% ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดภายหลัง IPO โดยจะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในหมวดธุรกิจ เทคโนโลยี (TECH)

NAT นับถอยหลังขาย IPO 92 ล้านหุ้นเข้า mai หลัง ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง

นายสุธี อภิชนรัตนกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NAT กล่าวว่า การเข้าจดทะเบียนใน mai ถือเป็นก้าวสำคัญของบริษัท ในการเสริมสร้างศักยภาพทางการเงิน เพื่อขยายธุรกิจให้มีความแข็งแกร่ง และ เพิ่มโอกาสการเข้ารับงานโครงการต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มความต้องการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มากขึ้นในอนาคต

NAT เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน Infratech ในส่วนงานโครงสร้างระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร บริการด้านเทคโนโลยีครบวงจรแก่องค์กรชั้นนำของประเทศ แบ่งการให้บริการออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์พร้อมติดตั้ง และรับเหมาวางระบบที่เกี่ยวข้องกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology System Integration) และ 2.ธุรกิจให้บริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เช่น บริการเจ้าหน้าที่ไอที (IT Outsourcing) บริการเดินสายระบบเน็ตเวิร์ค (Cabling System) บริการงานด้านระบบภายในอาคาร (Mechanical and Electric : M&E) และ บริการให้เช่าเครื่องพิมพ์เอกสาร เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก เป็นต้น

NAT นับถอยหลังขาย IPO 92 ล้านหุ้นเข้า mai หลัง ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง

ในปี 63 ถึงงวด 6 เดือนแรกของปี 66 บริษัทมีสัดส่วนกลุ่มลูกค้าภาครัฐอยู่ประมาณ 66.54% - 89.34% และ ภาคเอกชนอยู่ประมาณ 10.66% - 33.46% ของรายได้จากการขายและบริการ

บริษัทมุ่งเน้นดำเนินตามแผนเพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำเทคโนโลยีชั้นนำจากพันธมิตรทางธุรกิจระดับโลกมาใช้ในการพัฒนาโซลูชั่น และ บริการที่ดีที่สุด เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และ สนับสนุนให้ลูกค้ามีความพร้อมในการขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีเป้าหมายการขยายกลุ่มลูกค้าเพิ่มขึ้นทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ กลุ่มโรงพยาบาล และ กลุ่มพลังงาน

นอกจากนี้บริษัทยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) โดยเตรียมความพร้อมพัฒนาระบบดังกล่าวเพื่อให้บริการแก่กลุ่มลูกค้า ทั้งการคำปรึกษา ออกแบบ จัดหา จำหน่ายอุปกรณ์พร้อมติดตั้ง และ วางระบบที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางเครือข่ายองค์กร เพื่อการเก็บรักษาข้อมูลที่ปลอดภัย ป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ที่มีความซับซ้อน และ ลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามที่อาจมีผลกระทบต่อระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของธุรกิจ

สำหรับผลประกอบการตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวมในปี 63-65 อยู่ที่ 492.64 ล้านบาท 451.36 ล้านบาท และ 1,093.23 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 56.78 ล้านบาท 26.68 ล้านบาท และ 100.62 ล้านบาท ตามลำดับ และในงวด 6 เดือนแรกของปี 66 รายได้รวม 788.25 ล้านบาท กำไรสุทธิ 65.48 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ