THAI ขยับเป้าพ้นแผนฟื้นฟูไป Q2/68 เจ้าหนี้แปลงหนี้เป็นทุน-ขายหุ้นเพิ่มทุนเสร็จปลายปี 67

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 10, 2023 12:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.การบินไทย (THAI) วางไทม์ไลน์ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการใหม่เป็นในช่วงไตรมาส 2/68 จากเดิมคาดว่าจะออกจากแผนได้ในช่วง เนื่องจากจะเริ่มกระบวนการแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้และการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนใหม่ในช่วงกลางปี 67 เพื่อทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นเป็นบวก จากปัจจุบันติดลบ 5.47 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันผลการดำเนินงานในปี 66 ถือว่าดีมากโดยคาดจะมีรายได้ทั้งปี 1.5 แสนล้านบาท และปี 67 จะมีรายได้กลับไปใกล้เคียงกับปี 62 ช่วงก่อนโควิดที่มีรายได้ 1.8 แสนล้านบาท โดยในปี 67 การบินไทยเตรียมรับเครื่องบิน A350 อีก 6 ลำ รองรับเส้นทางยอดนิยมในเมืองออสโล ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ THAI คาดว่า การบินไทยจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ราวไตรมาส 2/68 โดยตามแผนฟื้นฟูฯกำหนดให้บริษัทต้องดำเนินการแปลงหนี้เป็นทุนและขายหุ้นเพิ่มทุนให้แล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.67 จำนวน 8 หมื่นล้านบาทเพื่อให้ส่วนของทุนกลับมาเป็นบวก ณ วันที่ 30 ก.ย.66 ส่วนของผู้ถือหุ้น THAI ติดลบ 54,706 ล้านบาท ทั้งนี้ กระบวนการให้เจ้าหนี้แปลงหนี้ทุนในกลางปี 67 โดยราคาขายหุ้นละ 2.54 บาท หรือเป็นเงินประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท รวมดอกเบี้ย ก่อนจะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมในช่วงครึ่งหลังปี 67 ซึ่งหากขายไม่หมดก็จะปรับมาขายให้แก่พนักงาน และผู้ลงทุนเฉพาะเจาะจง (PP) ในราคาสูงกว่า 2.54 บาท/หุ้น เพื่อระดมเม็ดเงินใหม่ 2.5 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม บริษัทจะต้องรองบการเงินที่ได้รับตรวจสอบแล้วของงวดปี 67 ที่จะออกมาในช่วงปลายเดือนก.พ. 68 ก่อน จึงจะสามารถนำไปยื่นขอออกจากแผนฟื้นฟูได้ และคาดว่ากว่าศาลล้มละลายนัดพิจารณาน่าจะใช้เวลาในช่วงไตรมาส 2/68

ประธานคณะผู้บริหารแผน ระบุว่า การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนคาดว่าจะประสบผลสำเร็จ เพราะกระทรวงการคลัง รวมถึงกองทุนวายุภักษ์ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่ถือหุ้น THAI รวมกันในสัดส่วน 60% จะเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุน แต่ท้ายที่สุด สัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังและหน่วยงานรัฐจะต้องถือหุ้น THAI ไม่เกิน 40% เพื่อไม่ให้การบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจตามที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูฯ

เงื่อนไขสำคัญในการออกจากแผนฟื้นฟูฯ มี 2 ประเด็น คือ ส่วนของผู้ถือหุ้นต้องเป็นบวก และ EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน รวมค่าเช่าเครื่องบิน ในช่วง 12 เดือนย้อนหลังต้องมีจำนวน 2 หมื่นล้านบาทขึ้นไป โดยในส่วน EBITDA การบินไทยสามารถทำได้ตามเกณฑ์แล้ว ในงวด 9 เดือนปี 66 เพิ่มขึ้นมาที่ 31,720 ล้านบาท

"กระบวนการการแปลงหนี้เป็นทุนอย่างช้ากลางปี 67 แต่คิดว่าเจ้าหนี้อาจต้องการแปลงหนี้เป็นช่วงปลายปี 67 ก็ได้ และถ้ายิ่งผลประกอบการของบริษัทดี ก็จะยิ่งทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวกได้มากขึ้น โดย 31 ธ.ค.67 ต้องทำให้ส่วนของทุนเป็นบวก ก็ต้องยิ่งดูแลค่าใช้จ่ายให้ดี ... แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องไปแก้แผน" นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ ตามกม.ล้มละลายฯ บริษัทต้องออกจากแผนฟื้นฟูฯ ให้ได้ภายในปี 69 หรือ 5 ปีนับจากวันที่ศาลเห็นชอบแผนในปี 64 และสามารถต่ออายุได้ 2 ครั้งๆละ 1 ปี

ขณะที่เงินสดของบริษัทอยู่ที่ 63,387 ล้านบาท ณ วันที่ 30 ก.ย.66 โดยบริษัทมีแผนนำไปเริ่มใช้หนี้สถาบันการเงิน หุ้นกู้ ตั๋ว Refund ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทรวมดอกเบี้ย โดยในส่วนตั๋ว Refund ได้ทยอยจ่ายไปมากแล้ว ยังเหลือที่ต้องจ่ายคืนอีกประมาณ 1 พันล้านบาท นอกจากนี้จะนำไปใช้ลงทุนในปี 67 จำนวนกว่า 2 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งลงทุนด้านไอที และส่วนที่เหลือจะเป็นเงินสดสำรองของบริษัท

*ปี 67 รายได้กลับมาเท่าก่อนโควิด

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ในปี 66 ถือว่ามีผลประกอบการที่ดี โดยในงวด 9 เดือนมีรายได้รวม 115,897 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และจำนวนผู้โดยสาร 10.13 ล้านคน และคาดว่าทั้งปี 66 จะมีรายได้รวม 1.5 แสนล้านบาท จำนวนผู้โดยสาร 14 ล้านคน โดยในไตรมาส 4 และไตรมาส 1 เป็นช่วงไฮซีซั่น

แต่บริษัทก็ยังต้องระมัดระวังค่าใช้จ่าย เนื่องจากยังมีปัญหาข้อพิพาทภูมิรัฐศาสตร์ จึงยังเห็นผู้โดยสารบางส่วนยกเลิกการเดินทางในเส้นทางยุโรป รวมถึงภาวะเศรษฐกิจจีนยังชะลอตัว ทำให้การจองตั๋วล่วงหน้าในเส้นทางยุโรปไม่ค่อยคึกคัก ขณะที่นักท่องเที่ยวจากจีนก็ยังมาท่องเที่ยวในไทยน้อย แม้ว่าจะมีฟรีวีซ่าแล้วก็ตาม

นอกจากนี้ ต้นทุนด้านราคาน้ำมันก็สูงขึ้น โดยในไตรมาส 3/66 ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเป็น 40% ของต้นทุนรวม จากก่อนที่จะมีสงครามในอิสราเอล บริษัทมีต้นทุนน้ำมันอยู่ที่ 33% ทิศทางธุรกิจในปี 67 ยอมรับว่ายังมีความท้าทายและมีความเสี่ยงที่ภาวะการแข่งขันจะรุนแรงขึ้นจากจำนวนเครื่องบินที่กลับเข้าสู่ระบบให้บริการเพิ่มขึ้น, ปัญหาข้อพิพาทในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ส่งผลกระทบกับการตัดสินใจเดินทางของผู้โดยสาร รวมถึงการชะลอตัวเศรษฐกิจของจีน, ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ และค่าใช้จ่ายการบริการภาคพื้นในต่างประเทศปรับตัวสูงขึ้นจากปัญหาการขาดแคลนบุคลากร

แต่ในปี 67 บริษัทจะมีการรับมอบเครื่องบิน A350-900 อีก 6 ลำ จากทั้งหมดที่จะมีจำนวนเครื่องบินที่ได้ทำการเช่าเพิ่มอีก 26 ลำ (A350-900 จำนวน 11 ลำ, A330-300 2 ลำ , B787 1 ลำ และ A321 จำนวน 12 ลำ) ซึ่งรับมอบเครื่องบิน A350-900 ไปแล้ว 3 ลำในปีนี้ และที่เหลือจะรับมอบในปี 68 จากปัจจุบันมี 68 ลำ ก็จะทำให้การบินไทยมีฝูงบินใหญ่ขึ้น ก็สามารถบินในเส้นทางยอดนิยมได้มากขึ้น อย่างญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เมืองออสโล

ด้านนายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการบินการพาณิชย์ (CCO) THAI กล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 4/66 ยอดจองตั๋วล่วงหน้ายังไม่คึกคักมากนัก โดยในเดือน ต.ค.66 มี Cabin Factor เฉลี่ย 75-76% ส่วนในเดือน พ.ย.66 มียอดจองตั๋วล่วงหน้า 78% ส่วนในเดือนธ.ค.66 คาดว่าจะมี Cabin Factor เฉลี่ย 80%ขึ้นไป

ส่วนเส้นทางบินไปจีน การบินไทยกลับมาบิน 40% ของ Capacity โดยเปิดบินไปเมืองหลักแล้ว ทั้ง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางเจา ทำการบิน 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และเฉิงตู 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ทั้งนี้ ผู้โดยสารจากจีนยังชะลอตามภาวะเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี บริษัทกำลังจับตามองในช่วงตรุษจีน ซึ่งวันนี้ยังไม่เห็นการจองตั๋วล่วงหน้าเข้ามามาก ทั้งนี้ การบินไทยวางเป้าหมายว่า ในปี 68 จะกลับไปบินเส้นทางจีนให้ได้ใกล้เคียงในปีก่อนโควิดมากที่สุด ส่วนอินเดีย ขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขชัดเจนว่าเพิ่มขึ้นอย่างไร หลังไทยให้ฟรีวีซ่ากับนักท่องเที่ยวอินเดีย

https://youtu.be/66ah4GfXSW4


แท็ก การบินไทย   (THAI)  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ