บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) เปิดเผยว่า ตามที่บริษัทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 (รวมที่แก้ไขเพิ่มเติม) และ ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทแล้ว โดยกำหนดวันไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 29 มกราคม 2567 ทำให้เกิดสภาวะการพักชำระหนี้ทั้งหมดของบริษัท (Automatic stay) ตามมาตรา 90/12แห่งพ.ร.บ. ล้มละลาย ซึ่งรวมไปถึงการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยหุ้นกู้ของบริษัททุกรุ่น เว้นแต่ศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ดังนั้น บริษัทจึงขอยกเลิกการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อพิจารณาขอผ่อนผันเหตุผิดนัดตามข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ของบริษัท ได้แก่ JKN243A JKN246A JKN24OA JKN24NA JKN252A และ JKN255A ซึ่งเดิมกำหนดไว้ว่าจะจัดประชุมภายในวันที่ 8 ธันวาคม 2566
นอกจากนั้น ตามที่บริษัทฯ ได้นำส่งงบการเงินสำหรับไตรมาสที่ 3/66 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2566 ของบริษัท ซึ่งผู้สอบบัญชีได้สอบทานและรับรองงบการเงิน โดยไม่ให้ข้อสรุปต่อข้อมูลทางการเงินระหว่างกาลที่สอบทาน ดังต่อไปนี้
1. การขาดสภาพคล่องทางการเงิน
ตามที่ได้เปิดเผยในหมายเหตุประกอบงบการเงิน เนื่องจากกลุ่มบริษัทบริหารจัดการสภาพคล่องทางการเงินไม่เป็นไปตามแผนส่งผลให้บริษัทผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้รุ่น JKN239A การผ่อนผันการชำระหนี้รวมถึงการเลื่อนหรือเปลี่ยนแปลงระยะเวลาชำระหนี้หุ้นกู้ดังกล่าวตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2566 ในวันที่ 27 กันยายน 2566 ถือเป็นเหตุให้เกิดการผิดสัญญาหุ้นกู้รุ่นอื่น ๆ จำนวน 6 รุ่น Cross Default ตามข้อกำหนดสิทธิ นอกจากนี้ยังถือเป็นเหตุให้เกิดการผิดสัญญาหุ้นกู้แปลงสภาพและหนี้สินเงินกู้จากสถาบันการเงินด้วยเช่นกัน ทำให้บริษัทต้องพิจารณาจัดประเภทหนี้สินประเภทหุ้นกู้ หุ้นกู้แปลงสภาพและหนี้สินเงินกู้จากสถาบันการเงินเป็นหนี้สินหมุนเวียนทั้งหมด ณ วันที่ 30 กันยายน 2566
กลุ่มบริษัทจึงมีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนรวมสำหรับงบการเงินรวมจำนวนเงิน 4,285.52 ล้านบาท และงบการเงินเฉพาะกิจการจำนวนเงิน 3,256.15 ล้านบาท สถานการณ์ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเจรจาขอขยายการชำระหนี้สิน และไม่เรียกร้องให้ชำระหนี้โดยพลัน (Call Default) และอยู่ระหว่างการหาแหล่งเงินทุนใหม่การปรับโครงสร้างกิจการและการปรับโครงสร้างทางการเงินใหม่ ต่อมาในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ที่ประชุมกรรมการบริษัท ครั้งที่ 10/2566 มีมติให้บริษัทยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง โดยในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 บริษัทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท และกำหนดวันไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 29 มกราคม 2567 ด้วยเหตุดังกล่าวทั้งหมดจะส่งผลต่อการเรียกชำระคืนของหนี้สินและอาจถูกฟ้องร้องจากกลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ หุ้นกู้แปลงสภาพและหนี้สินเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินโดยพลัน และการจ่ายชำระหนี้สินหมุนเวียนจึงขึ้นอยู่กับความสำเร็จของการปรับแผน จากสถานการณ์ข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนในการจ่ายชำระหนี้สินและการดำเนินงานต่อเนื่องของกลุ่มบริษัท
2. การผิดนัดชำระหนี้
ตามที่ได้เปิดเผยในหมายเหตุประกอบงบการเงิน เมื่อวันที่1 กันยายน 2566 บริษัทผิดนัดชำระหุ้นกู้ครั้งที่ 2/2563 ครบกำหนดไถ่ถอนปี2566 (JKN239A) จำนวนเงินต้นและดอกเบี้ยทั้งสิ้น 609.98 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การผิดนัดชำระหนี้รุ่น JKN239A ส่งผลให้เข้าหลักเกณฑ์ เรื่องการผิดนัดชำระตามข้อกำหนดสิทธิหุ้นกู้ที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขอันถือเป็นเหตุผิดนัดของหุ้นกู้รุ่นอื่น ๆ ที่บริษัทออกและยังมิได้ไถ่ถอนทั้งหมดและในวันที่ 4 กันยายน 2566 ตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้แจ้งการผิดนัดตามข้อกำหนดสิทธิ Cross Default และวันที่ 27 กันยายน 2566 บริษัทได้รับมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้รุ่นดังกล่าวว่าอนุมัติให้เลื่อนการชำระคืนเงินต้นจำนวนเงิน 19.5 ล้านบาทไปเป็นวันที่15 ธันวาคม 2566 ส่วนที่เหลือจำนวนเงิน 432.45 ล้านบาทให้ชำระคืนในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 และปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มจากเดิมร้อยละ 6.60 ต่อปีเป็นอัตราร้อยละ 7 ต่อปี และผู้ถือหุ้นกู้มีมติอนุมัติขอผ่อนผันให้การผิดนัดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยในวันครบกำหนด ไถ่ถอนวันที่ 1 กันยายน 2566 ไม่ถือเป็นเหตุผิดนัดตามข้อกำหนดและไม่เรียกชำระหนี้ตามหุ้นกู้โดยพลัน ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 บริษัทได้รับหนังสือจากผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เพื่อเรียกให้บริษัทชำระเงินต้นหุ้นกู้และดอกเบี้ยหุ้นกู้ของบริษัททั้งหมด
ตามที่ได้เปิดเผยในหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 20 ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2566 ถึง 30 กันยายน 2566 บริษัทไม่สามารถจ่ายชำระหนี้สินเงินกู้จากสถาบันการเงินตามเงื่อนไขในสัญญาจำนวน 3 แห่งจำนวนเงิน 54.64 ล้านบาท และในเดือนกันยายนและตุลาคม 2566 บริษัทได้รับหนังสือเรียกให้ชำระหนี้เงินกู้บางส่วนที่ครบกำหนดชำระแล้ว ตามสัญญาจากสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตามในเดือนกันยายนบริษัทได้ทำหนังสือขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้กับสถาบันการเงิน 3แห่ง และขอให้สถาบันการเงินไม่เรียกร้องให้บริษัทชำระหนี้ทั้งหมดทันที แต่ปัจจุบันบริษัทยังไม่ได้หนังสือยืนยันจากสถาบันการเงิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 บริษัทยังไม่ได้ตั้งประมาณการความเสียหายและดอกเบี้ยผิดนัดชำระที่อาจเกิดขึ้นในงบการเงิน
3. การประเมินการด้อยค่า
กลุ่มบริษัทมีมูลค่าเงินลงทุนในบริษัทย่อยจำนวนเงิน 2,460.31 ล้านบาท เครื่องหมายการค้าจำนวนเงิน 1,333.31 ล้านบาท และสินทรัพย์ไม่มีตัวตนประเภทลิขสิทธิ์รายการจำนวนเงิน 6,277.65 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อบ่งชี้ว่าสินทรัพย์ดังกล่าวอาจด้อยค่าและมีค่าความนิยมจำนวน 717.96 ล้านบาท ที่บริษัทต้องทดสอบและประเมินด้อยค่าทุกปี สินทรัพย์ทั้งหมดอยู่ระหว่างดำเนินการประเมินโดยผู้ประเมินอิสระ
สถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น มีผลกระทบและมีความเกี่ยวข้องกัน ซึ่งแสดงถึงความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญต่อความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องของกลุ่มบริษัท และอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าสินทรัพย์และหนี้สินที่มีสาระสำคัญในงบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะกิจการ
JKN ยังแจ้งว่าบริษัทได้รับหนังสือแจ้งความประสงค์ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการ และกรรมการชุดย่อยของบริษัทจากกรรมการทั้งสิ้น 5 ท่าน โดยมีรายชื่อกรรมการที่ลาออกดังต่อไปนี้
1. พลเรือเอกอภิชาติ เพ็งศรีทอง ลาออกจากตำแหน่งกรรมการอิสระ และประธานกรรมการ เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ มีผลตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566เป็นต้นไป
2. นางสาวอนงค์ พานิชเจริญนาน ลาออกจากตำแหน่งกรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบ เนื่องจากติดภารกิจส่วนตัว มีผลตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566เป็นต้นไป
3. นายสุรชัย ชมภูไพสร ลาออกจากตำแหน่งกรรมการอิสระ ประธานกรรมการตรวจสอบ กรรมการบริหารความเสี่ยงและประธานกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน เนื่องจาก ติดภารกิจส่วนตัว มีผลตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566เป็นต้นไป
4. นายยุทธพงศ์ มา ลาออกจากตำแหน่งกรรมการ เนื่องจาก ทิศทางและกลยุทธ์การแก้ไขปัญหาสภาพคล่องและความไม่แน่นอนของการทำธุรกิจในอนาคตของบริษัท มีผลตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป
5. นายเอกภิสิทธ์ สุทธิกุลพานิช ลาออกจากตำแหน่งกรรมการ เนื่องจาก ทิศทางและกลยุทธ์การแก้ไขปัญหาสภาพคล่องและความไม่แน่นอนของการทำธุรกิจในอนาคตของบริษัท มีผลตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป
บริษัทจึงมีความจำเป็นที่จะต้องแต่งตั้งกรรมการเข้ามาเพื่อปฏิบัติงานแทนกรรมการที่ลาออกเพื่อให้สามารถดำเนินการกิจการของบริษัทได้ต่อไป โดยเมื่อวันที่11 พฤศจิกายน 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 11/2566 ได้มีมติแต่งตั้งกรรมการเข้าใหม่แทนที่กรรมการเดิมที่ ลาออก ดังนี้
1. แต่งตั้งนางสาวรับพร พรหมวงศานนท์ เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการแทนนายยุทธพงศ์ มา โดยดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ ประธานกรรมการ และกรรมการบริหารความเสี่ยง
2. แต่งตั้งนายสุนทรสิงห์ วิทยปิยานนท์เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการแทนนายสุรชัย ชมภูไพสร โดยดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ และประธานกรรมการตรวจสอบ
3. แต่งตั้งนายสรรดิลก จันทร เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการแทนนายเอกภิสิทธ์ สุทธิกุลพานิช โดยดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ และประธานกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน
ดังนั้น ภายหลังการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการดังกล่าว บริษัทมีคณะกรรมการทั้งสิ้น 8 คน