นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เอ็กโก กรุ๊ป (EGCO) เปิดเผยว่า บริษัทมีกำไรสุทธิ 2,373 ล้านบาทในไตรมาส 3/66 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุน 392.47 ล้านบาท เนื่องจากการรับรู้ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงลดลง
ภาพรวมการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3/66 ได้สร้างการเติบโตทางธุรกิจควบคู่กับการบริหารการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่อยู่ในพอร์ตโฟลิโอและต้นทุนเชื้อเพลิงอย่างเหมาะสม ส่งผลให้การดำเนินงานในปัจจุบันไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากปัจจัยความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลก ซึ่งกดดันต้นทุนเชื้อเพลิงและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
สำหรับความก้าวหน้าทางธุรกิจที่สำคัญในไตรมาส 3 จนถึงปัจจุบัน ได้แก่ การลงนามเพื่อซื้อหุ้นในสัดส่วน 50% ในพอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าคัมแพซ สหรัฐอเมริกา กำลังผลิตรวม 1,304 เมกะวัตต์ การเปิดให้บริการระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ทีพีเอ็น) เต็มรูปแบบ และความสำเร็จในการเสนอขายหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (หุ้นกู้กรีนบอนด์) มูลค่า 7,000 ล้านบาท
ผลประกอบการไตรมาสที่ 3/66 เอ็กโก กรุ๊ป มีรายได้รวมทั้งสิ้น 13,910 ล้านบาท โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน 3,343 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากโรงไฟฟ้าพาจู อีเอส เกาหลีใต้ ที่มีปริมาณการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นและต้นทุนขายลดลง โรงไฟฟ้าลินเดน โคเจน สหรัฐอเมริกา ที่มีปริมาณการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นและมีอัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยเพิ่มขึ้น รวมทั้งโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2 สปป.ลาว ที่มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น
สำหรับการดำเนินงานที่สำคัญในอนาคตอันใกล้ของเอ็กโก กรุ๊ป ได้แก่ การปิดดีลการซื้อหุ้นพอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าคัมแพซ สหรัฐอเมริกา กำลังผลิตรวม 1,304 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 66 การผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าเอ็กโก โคเจนเนอเรชั่น (ส่วนขยาย) จ.ระยอง กำลังผลิต 74 เมกะวัตต์ ที่มีความคืบหน้ากว่า 90% ให้สามารถเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ตามกำหนด ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งหยุนหลิน ไต้หวัน กำลังผลิต 640 เมกะวัตต์ มีความคืบหน้าในการก่อสร้างได้ตามแผนงาน และสามารถขจัดความท้าทายต่าง ๆ ไปได้ด้วยดี โดยทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 264 เมกะวัตต์ ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าได้ดีกว่าเป้าหมาย โดยคาดว่าโครงการทั้งหมดจะแล้วเสร็จตามกำหนด ภายในปี 67
"เอ็กโก กรุ๊ป มุ่งมั่นแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าและธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง โดยขับเคลื่อนภายใต้กลยุทธ์ระยะสั้น "4S" ที่เน้นการสร้างรายได้อย่างรวดเร็วและเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเลือกลงทุนในโครงการที่มีคุณภาพสูง (Select high quality projects) ในรูปแบบ M&A ทั้งโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก (Conventional) อย่างก๊าซธรรมชาติ และพลังงานหมุนเวียน (Renewable) เพื่อรับรู้รายได้ทันที โดยมีความได้เปรียบจากการมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งใน 8 ประเทศ ที่มีฐานทางธุรกิจอยู่แล้ว ในขณะเดียวกันยังได้วางแผนการลงทุนในธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตอย่างซัพพลายเชนไฮโดรเจนที่มีศักยภาพรองรับการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสีเขียว ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการ บรรลุเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 93 (2050)" นายเทพรัตน์ กล่าว