นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/66 ด้วยกำไรสุทธิ 2,099 ล้านบาท โดยมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) รวม 7,460 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 289% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
BPP แจ้งผลประกอบการไตรมาส 3/66 มีกำไรสุทธิ 2.1 พันล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.689 บาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2.32 พันล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.76 บาท
โดยในไตรมาส 3 นี้ BPP ยังคงความสามารถในการรักษาเสถียรภาพการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าทุกแห่งได้อย่างมั่นคง มีการบริหารจัดการความเสี่ยงของราคาค่าไฟที่มีความผันผวนอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเร่งสร้างพอร์ตโฟลิโอที่สมดุลจากทั้งพลังงานความร้อน (Thermal Power Business) และพลังงานหมุนเวียน (Renewable Power Business) ส่งผลให้ BPP มีกระแสเงินสดและกำไรที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง พร้อมมุ่งสู่เป้าหมายกำลังผลิต 5,300 เมกะวัตต์ภายในปี 68 ภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter
สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/66 ส่วนหลักมาจากผลการดำเนินงานที่โดดเด่นของโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติทั้ง 2 แห่งในสหรัฐฯ ได้แก่ Temple I ที่บริษัทฯ ได้เข้าไปลงทุนเมื่อปลายปี 64 และ Temple II เมื่อกลางปี 66 ซึ่งรับรู้รายได้รวม 15,008 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 289% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติทั้งสองแห่งมีค่าความพร้อมจ่าย (Equivalent Availability Factor: EAF) สูงถึง 99% นับเป็นโรงไฟฟ้าในตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรี ERCOT (Electric Reliability Council of Texas) ที่มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพในการผลิตเพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ตอบสนองความต้องการไฟฟ้าสูงที่สุดในรอบปีในช่วงฤดูร้อนของรัฐเท็กซัส ที่ประสบกับวิกฤตคลื่นความร้อน (heat wave) ปัจจัยดังกล่าวทำให้ BPP สามารถสร้างกระแสเงินสดและทำกำไรในช่วงที่มีอากาศร้อนจัดและราคาค่าไฟสูงขึ้น อันเป็นผลที่เกิดขึ้นสอดคล้องกันตามกลไกตลาด
"ผลประกอบการที่โดดเด่นของโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ Temple I และ Temple II ในสหรัฐฯ สะท้อนถึงความสำเร็จในการลงทุนและบริหารจัดการโรงไฟฟ้าคู่แฝดในตลาดที่มีศักยภาพ ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยบวกทั้งสภาพอากาศฤดูร้อนซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่น ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น อีกทั้งมีมาตรการบริหารความเสี่ยงเพื่อรักษากระแสเงินสดโดยใช้เครื่องมือทางการเงินรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการทำประกันราคาสำหรับโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งนี้ด้วยกำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 50% ของกำลังผลิตทั้งหมดในช่วงไตรมาส 4/66 ถึงไตรมาส 4/67 เพื่อป้องกันความผันผวนของรายได้แม้ไม่ใช่ช่วงไฮซีซั่น รวมถึงมีแผนรับมือและแผนซ่อมบำรุงเพื่อเตรียมความพร้อมล่วงหน้า เพื่อให้มั่นใจได้ว่าโรงไฟฟ้าคู่แฝดนี้จะสามารถจ่ายไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องตลอดช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง" นายกิรณ กล่าว
นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (BLCP) ในไทยยังสามารถเดินเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีค่าความพร้อมจ่าย (Equivalent Availability Factor: EAF) สูงถึงร้อยละ 99.9 ทำให้สามารถผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมทั้ง 3 แห่ง รวมถึงโรงไฟฟ้า SLG ในจีนมีรายได้จากการขายไฟเพิ่มสูงขึ้นจากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อน ขณะเดียวกัน ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในไตรมาส 3/66 ของ BPP ยังเติบโตอย่างมั่นคง โดยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนามรับรู้รายได้รวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่โครงการโซลาร์รูฟท็อปภายใต้นโยบายสนับสนุนของรัฐบาลท้องถิ่นในมณฑลเจิ้งติ้ง ประเทศจีน ปัจจุบันมีกำลังผลิต 66 เมกะวัตต์ BPP ยังคงเดินหน้าเพิ่มเมกะวัตต์อย่างต่อเนื่องด้วยศักยภาพที่คาดว่าสามารถพัฒนาได้ถึง 167 เมกะวัตต์ ภายในปี 66 นี้
ในส่วนธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานที่ BPP ถือหุ้นในบ้านปู เน็กซ์ในสัดส่วน 50% ได้ขยายกำลังผลิตของธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและทุ่นลอยน้ำในไทยและอินโดนีเซีย รวมถึงมีการลงทุนในธุรกิจกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ครบวงจร รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเข้าซื้อหุ้นร้อยละ 40 ในบริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด (SVOLT Thailand) งบลงทุน 750 ล้านบาท โดยโรงงานผลิตแบตเตอรี่ตั้งอยู่ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี รองรับการผลิตแบตเตอรี่เริ่มต้น 60,000 ชุดต่อปี ภายในปี 67