ZEN รุกเปิดสาขาใหม่ทั้งไทยและตปท.-เพิ่มรายได้ค้าปลีกรองรับดีมานด์ผู้บริโภค

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 16, 2023 12:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ZEN รุกเปิดสาขาใหม่ทั้งไทยและตปท.-เพิ่มรายได้ค้าปลีกรองรับดีมานด์ผู้บริโภค

นางยุพาพรรณ เอกสิทธิกุล กรรมการบริหารและรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงินและบัญชี บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป (ZEN) กล่าววา แผนการดำเนินธุรกิจในไตรมาส 4 ก็ยังคงมุ่งเน้นเรื่องการออกแคมเปญที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในช่วงส่งท้ายปี ของทุกแบรนด์ในเครือ และปักหมุดขยายสาขาอย่างต่อเนื่องเช่นเดิม รวมถึงการเพิ่มกำลังการผลิต และปรับเพิ่มรูปแบบการจัดจำหน่าย เพื่อครอบคลุมและรองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าในหลากหลายช่องทาง

ผลประกอบการไตรมาส 3/66 บริษัทมีรายได้รวม 1,004 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 93 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหลักมาจากธุรกิจร้านอาหารเติบโตขึ้น 11% และรายได้ธุรกิจค้าปลีกเติบโตขึ้น 58% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน

สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 รายได้รวมทั้งกลุ่มบริษัทฯ อยู่ที่ 2,883 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 17% จากงวด 9 เดือนแรกของปี 65 มีกำไรสุทธิของทั้งกลุ่มบริษัทฯ อยู่ที่ 134 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22 ล้านบาท หรือ 20% และมีกำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ อยู่ที่ 120 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21 ล้านบาท หรือ 21% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ไตรมาสที่ 3 ธุรกิจร้านอาหารโดยเฉพาะการรับประทานอาหารที่ร้าน ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 73 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11% และสำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 66 มีรายได้เพิ่มขึ้น 414 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 23% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับภาพลักษณ์แบรนด์ของกลุ่มบริษัทฯ อาทิ เดอ ตำมั่ว (De Tummour) ร้านอาหารไทยในเครือ ภายใต้คอนเซ็ปต์ ?The original Thai food? ยกระดับประสบการณ์รสชาติไทยแท้ ครบเครื่องเรื่องอาหารไทย พร้อมลุยตลาดร้านอาหารไทยแบบเต็มตัว เน้นเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยว พร้อมปั้นโมเดลต้นแบบ Flagship Store โฉมใหม่ ที่เทอร์มินอล 21 พัทยา

ทั้งนี้ ยังมีการออกแคมเปญการตลาดที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค กับปรากฏการณ์ครั้งแรกของแบรนด์ ?อากะ? ฉลองครบรอบ 16 ปี ?ความจุกที่ยืดยาววววววว? ต่อยอดมะนาวช็อต ตบท้ายมื้อปิ้งย่าง สู่ Product Killer ?AKA LONG SHOT? ดึงลูกค้าเข้าร้าน ตอกย้ำความสำเร็จของกลยุทธ์การตลาดที่เกิดจากเสียงของผู้บริโภค (Voice of Customer) ซึ่งได้รับการยอมรับในวงกว้างอย่างล้นหลาม และยังมีแคมเปญโปรโมชั่นอื่น ๆ ของทุกแบรนด์ในเครือ ทำให้มีจำนวนลูกค้าเข้ามารับประทานอาหารที่ร้านมากขึ้น ส่งผลให้รายได้จากช่องทางนี้เติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังมี ?การขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง? โดยบริษัทเปิดร้านอาหารใหม่รวม 18 สาขา แบ่งเป็นสาขาที่บริษัทเป็นเจ้าของ 13 สาขา สาขาแฟรนไชส์ในประเทศ 5 สาขา หากนับรวมในงวด 9 เดือนแรก ปี 2566 บริษัทเปิดร้านอาหารใหม่จำนวนทั้งหมด 33 สาขา แบ่งเป็นสาขาที่บริษัทเป็นเจ้าของ 20 สาขา สาขาแฟรนไชส์ในประเทศ 12 สาขา และสาขาแฟรนไชส์ต่างประเทศ 1 สาขา

ในช่วงไตรมาส 3/66 มีการเปิดสาขาใหม่ดังนี้

  • อากะ (AKA) เปิด 6 สาขาใหม่ ได้แก่ มาร์เก็ตวิลเลจ หัวหิน, โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ ลพบุรี, เซ็นทรัล
รามอินทรา, เซ็นทรัล มหาชัย, โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ เพชรบุรี, เซ็นทรัล ศรีราชา รวมทั้งหมดเป็น 50 สาขา และเตรียมเปิดอีก 4 สาขา ภายในสิ้นปี
  • เซ็น เรสเตอร์รอง (ZEN) เปิด 3 สาขาใหม่ ได้แก่ เซ็นทรัลรามอินทรา, ศูนย์การค้าจังซีลอน ภูเก็ต, เซ็นทรัล มหาชัย รวมทั้งหมดเป็น 51 สาขา และเตรียมเปิดอีก 5 สาขาภายในสิ้นปี
  • ออน เดอะ เทเบิ้ล (On the Table) เปิด 2 สาขาใหม่ ได้แก่ เดอะ พอร์ทอล อิมแพ็ค เมืองทองธานี, เทอร์มินอล 21 พัทยา รวมทั้งหมดเป็น 31 สาขา และเตรียมเปิดอีก 3 สาขาภายในสิ้นปี
  • ตำมั่ว เปิดสาขาแฟรนไชส์ 4 สาขาใหม่ และเปิด เดอ ตำมั่ว เป็นสาขาที่บริษัทเป็นเจ้าของ 1 สาขาใหม่ที่เทอร์มินอล 21 พัทยา
  • ลาวญวน เปิด 1 สาขาใหม่ เป็นสาขาที่บริษัทเป็นเจ้าของ ได้แก่ เซ็นทรัล ระยอง และสาขาแฟรนไชส์อีก 1 สาขา
  • เขียง เซอร์ไพรส์ช่วงท้ายปีกับการเตรียมเปิดสาขาแฟรนไชส์ที่สาขาต่างประเทศอีก 2 สาขา ภายในสิ้นปีนี้

ณ วันที่ 30 ก.ย.66 บริษัทมีสาขาร้านอาหารทั้งสิ้น 329 สาขา แบ่งเป็นสาขาที่บริษัทเป็นเจ้าของเอง 166 สาขา สาขาแฟรนไชส์ในประเทศ 154 สาขา และสาขาแฟรนไชส์ต่างประเทศ 9 สาขา

และอีกธุรกิจที่โดดเด่นคือ ธุรกิจอาหารค้าปลีกเติบโตขึ้น 58% จากงวดเดียวกันของปีก่อน จากการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตทั้งธุรกิจค้าปลีกเครื่องปรุงรส ธุรกิจค้าปลีกอาหารทะเลแช่แข็ง และวัตถุดิบในการปรุงอาหาร เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ รวมถึง การควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ? ทั้งค่าใช้จ่ายพนักงานลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างของหน่วยงานสนับสนุนภายในองค์กรในไตรมาสที่ผ่านมา แต่ยังคงมีปัจจัยด้านต้นทุนราคาวัตถุดิบของทั้งธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจอาหารค้าปลีกปรับเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากแรงกดดันด้านอุปทานจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้บริษัทต้องวางแผนการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุมมากขึ้นด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ