KWI ส่งกองทุนหุ้นเวียดนามรับศก.โตโดดเด่นระยะยาว ขาย 20-28 พ.ย.

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 16, 2023 17:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

KWI ส่งกองทุนหุ้นเวียดนามรับศก.โตโดดเด่นระยะยาว ขาย 20-28 พ.ย.

นายสุรเชษฐ์ ศรีวัฒนกุลวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.เคดับบลิวไอ กล่าวว่า บลจ. เคดับบลิวไอ ได้เตรียมเปิดเสนอขาย กองทุนเปิด เคดับบลิวไอ เวียดนาม อิควิตี้ เอฟไอเอฟ (KWI VIETNAM) ซึ่งเป็นกองทุนประเภท Feeder Fund ที่เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน CGS Fullgoal Vietnam 30 Sector Cap ETF (กองทุนหลัก) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAVลงทุนครั้งแรกเพียง 1,000 บาท IPO 20-28 พฤศจิกายน นี้

กองทุนหลักเป็นกองทุนรวมอีทีเอฟ (Exchange Traded Fund) ที่จดทะเบียนซื้อขายในกระดานหลักของตลาดหลักทรัพย์ประเทศสิงคโปร์ (SGX-ST Main Board) บริหารจัดการโดย CGS-CIMB Securities (Singapore) Pte. Ltd. และได้แต่งตั้งให้ Fullgoal Asset Management (HK) Limited เป็นที่ปรึกษาการลงทุน ทั้งนี้ บริษัทจัดการจะลงทุนใน USD Class Units ของกองทุนหลัก ซึ่งในปัจจุบันมีการซื้อขายใน 2 สกุลเงิน (Trading Currencies) ได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐฯ (USD) เป็นสกุลเงินหลัก และดอลลาร์สิงคโปร์ (SGD) เป็นสกุลเงินรอง โดยบริษัทจัดการอาจพิจารณาลงทุนในสกุลเงิน USD และ/หรือ SGD ตามความเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นสำคัญ

นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า เวียดนามเป็นประเทศดาวเด่นแห่งอาเซียนที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค โดยในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา (ปี พ.ศ. 2533 - พ.ศ. 2563) มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยต่อปี (Average annual growth rate) ของ Real GDP สูงถึง 6.7% ? 6.8% แม้ว่าปี 2563 ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจและภาคการผลิตต้องชะงักจากมาตรการล็อกดาวน์ แต่ในปี 2565 GDP ของเวียดนามฟื้นตัวด้วยอัตราสูงถึง 8.02% นับเป็นอัตราที่สูงที่สุดในทวีปเอเชีย และยังคงมีแนวโน้มเติบโตในระดับสูงอย่างต่อเนื่องในระยะยาว โดยมีการคาดการณ์ GDP ปี 2566 และ ปี 2567 จะเติบโตที่ 4.7% และ 5.5% ตามลำดับ (ที่มา: The World Bank)

ในส่วนของตลาดหุ้นเวียดนามนั้นปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงในช่วงปี 2564 แต่มีการชะลอตัวลงจากผลกระทบต่อเนื่องจากโรคระบาด COVID-19 การคุมเข้มด้านบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ความกังวลเกี่ยวกับสถาบันการเงินในประเทศ และในช่วง1-2 เดือนที่ผ่านมามีความผันผวนตามตลาดหุ้นทั่วโลก รวมทั้งการคาดการณ์ว่าสหรัฐอเมริกาจะยังคงนโยบายทางการเงินตึงตัวเพื่อควบคุมเงินเฟ้อประกอบกับการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญอันเป็นปัจจัยกดดันสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นเวียดนามเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นในปี 2566 และมีศักยภาพอย่างมากสำหรับการเติบโตในอนาคต ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลายประการ อาทิเช่น โครงสร้างประชากรส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานและคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอีก 20 ปีข้างหน้า ทำให้มีความได้เปรียบในภาคอุตสาหกรรมแรงงานและมีจุดแข็งด้านต้นทุนค่าแรงต่ำ ความแข็งแกร่งของภาคการผลิตจากการที่บริษัทชั้นนำของโลกหลายแห่งย้ายฐานการผลิตมายังประเทศเวียดนาม ประกอบกับภาคอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วจากการขยายตัวของเมืองต่างๆ ที่ได้รับอานิสงส์จากการย้ายถิ่นฐานของประชากรเข้ามาทำงานในเมือง (Urbanization) รวมทั้งความสามารถในการค้าขายได้อย่างอิสระกับหลากหลายประเทศจากการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับนานาประเทศ เป็นต้น

"ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ล้วนส่งผลให้การลงทุนโดยตรงในเวียดนาม ตลอดจนตลาดหุ้นได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญตลาดหลักทรัพย์เวียดนามยังมีแผนที่จะปรับเกณฑ์การซื้อขายหุ้นให้มีความเป็นสากลมากขึ้นเพื่อยกระดับตลาดหุ้นเวียดนามจาก Frontier Market เป็น Emerging Market ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความน่าสนใจในการลงทุนต่อนักลงทุนสถาบันทั่วโลก โดยในปัจจุบัน ค่า Forward P/E ของดัชนีโฮจิมินห์อยู่ที่ 11.7 เท่า ต่ำกว่าค่า Forward P/E เฉลี่ย 10 ปี ที่ 14.2 เท่า (ที่มา: Bloomberg) จึงเป็นระดับที่น่าสนใจลงทุน"

นายสุรเชษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทุน CGS Fullgoal Vietnam 30 Sector Cap ETF (กองทุนหลัก) มีวัตถุประสงค์ในการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทน (ก่อนหักค่าใช้จ่าย) ให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี iEdge Vietnam 30 Sector Cap Index ซึ่งเป็นดัชนีที่ประกอบด้วยหลักทรัพย์ของบริษัทที่มีขนาดใหญ่และสภาพคล่องสูงสุดตามมูลค่าราคาตลาด (market capitalization) จำนวน 30 อันดับแรกซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม โดยดัชนีดังกล่าวจะไม่รวมบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ เช่น อาวุธป้องกันตัว การพนัน ยาสูบ ยาเสพติด และแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ ดัชนี iEdge Vietnam 30 Sector Cap Index มีการถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดปรับด้วยสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float Market Capitalization) ซึ่งพิจารณาจากสัดส่วนการถือครองหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติ (foreign-ownership limits) โดยมีสัดส่วนรายหลักทรัพย์สูงสุดไม่เกิน 10% และสัดส่วนรายหมวดอุตสาหกรรมสูงสุดไม่เกิน 25%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ