นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานกฎหมาย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า วันนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการเปิดเผยข้อมูลซื้อขายรายวัน Program Trading Value เพิ่มเติม บนเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้นักลงทุนนำไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุนได้เพิ่มมากขึ้น โดยจะแสดงให้เห็นว่าในวันที่ผ่านมามี Program Trading เป็นสัดส่วนเท่าไหร่ หรือมียอดซื้อ ยอดขาย เท่าไหร่ รวมถึง Non Program Trading เป็นสัดส่วนเท่าไหร่
สำหรับ Program Trading คือ การส่งคำสั่งซื้อขายด้วยชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์ ซึ่งในกรณีที่ถึงเงื่อนไขที่กำหนด เช่น ราคาของหลักทรัพย์ หรือระดับของดัชนี เมื่อถึงระดับที่กำหนดไว้ให้ส่งคำสั่งซื้อ หรือคำสั่งขาย โดยโบรกเกอร์หลายแห่งก็ให้บริการกับนักลงทุนรายย่อยด้วย
ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการนำเสนอข้อมูล Program Trading รายหลักทรัพย์มาแสดงให้นักลงทุนได้เห็นด้วย โดยกำหนด Criteria เอาเฉพาะหลักทรัพย์ที่มีราคาเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก หรือบวก-ลบ 10% และมีมูลค่าซื้อขายมากกว่า 50 ล้านบาท ขณะเดียวกันหากหุ้นตัวนั้นๆ ราคาหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงไม่ถึง 10% แต่มีมูลค่าซื้อขายสูงเกิน 50 ล้านบาท ก็จะไม่ได้ถูกดึงขึ้นมาแสดง อีกทั้งต้องเป็นหุ้นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ (SET) และ mai ไม่นับรวมกับ DW, DR
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ที่มีความผันผวน พบว่ามีหลักทรัพย์ที่มีราคาเปลี่ยนแปลงเกิน 10% อยู่ราว 5-6 ตัว
"การเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติม เราไม่ได้มุ่งหวังลดความผันผวนของตลาด แต่เพื่อสะท้อนว่าเรารับฟังข้อมูลของทุกฝ่าย"
ด้านนายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บล.บัวหลวง ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กล่าวว่า ประเด็นที่ Program Trading มีบทบาทในตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ขออธิบายว่า Program Trading มีหลายลักษณะ โดยแบ่งออกเป็น 1. ที่นักลงทุนสถาบันใช้มาอย่างยาวนาน คือ การส่งคำสั่งแบบเป็นรูปแบบ หรือเป็นการเฉลี่ยซื้อหรือขายตลอดทั้งวันตามวอลุ่มที่เข้ามา และหลายโบรกเกอร์ก็มีการทำ Program Trading ลักษณะนี้ให้นักลงทุนรายย่อยใช้ด้วยเช่นกัน 2. การใช้คอมพิวเตอร์จับสัญญาณแทนคนและใช้ Program ส่งคำสั่ง โดยรูปแบบนี้ก็มีหลายโบรกเกอร์ทำกัน และเชื่อว่านักลงทุนรายย่อยจำนวนหนึ่งก็ทำลักษณะนี้ เชื่อมต่อกับ Settrade 3. Issuer ต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการตรวจสอบ และ 4. High Frequency Trading หรือ HFT
ทั้งนี้ Program Trading ใน 3 กลุ่มแรก ช่วยให้มีประสิทธิภาพในการทำกำไรสูงขึ้น ส่วนลักษณะที่ 4 ยอมรับว่ามีผลกระทบต่อนักลงทุนเฉพาะกลุ่ม เช่น นักลงทุนเล่นสั้น เข้าเร็ว ออกเร็ว เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่ทุกกลุ่มของตลาดหลักทรัพย์ไทย และไม่ถึงกับทำให้ตลาดอยู่ในภาวะซึมเซา แต่จะเป็นเฉพาะบางเวลาและจังหวะเท่านั้นที่มีผล
ส่วน Short Sell ถือเป็นกติกาที่มีอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก ทำให้กลไกของตลาดทำงานได้ดีขึ้น เพราะทำให้เกิดการลงทุนได้ทั้งสองฝั่ง ทั้งฝั่งซื้อ และฝั่งขาย แต่ที่มีปัญหาคือ การทำ Naked Short Selling ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตรวจสอบอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว รวมถึงโบรกเกอร์ก็ถูกตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา ในอดีตที่ผ่านมาก็มีการตรวจพบการทำ Naked Short Sell บ้าง และได้มีการลงโทษไปตามกฎหมาย ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. ยังคงดำเนินการตรวจการกระทำ Naked Short Selling อยู่เป็นรอบๆ
ในกรณีที่มีข้อกังวลว่ากลุ่มซื้อขายผ่าน HFT มีค่าธรรมเนียมต่ำกว่าการซื้อขายปกติ นายพิเชษฐ มองเรื่องดังกล่าวไม่สามารถบอกได้ว่าถูกหรือแพง เนื่องจากแต่ละโบรกเกอร์มีลักษณะการทำธุรกิจแตกต่างกัน บางโบรกเกอร์มีนักลงทุนรายใหญ่ค่อนข้างมาก บางโบรกเกอร์อาจมีน้อยมาก หรือมี HFT มาก โดยเชื่อว่าค่าธรรมเนียนเป็นเสรี ขึ้นอยู่กับว่าโบรกเกอร์มองธุรกิจไหนเพือทำให้มีโครงสร้างรายได้ที่เหมาะสม
นายรองรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นการตรวจสอบ Naked Short Selling ที่ดำเนินการผ่านผู้ดูแลรับฝากทรัพย์สิน (Custodian) จากต่างประเทศ ยืนยันว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถตรวจสอบได้ แม้จะมีการปิดดีลภายในวัน (Net Settlement) เพราะทุกธุรกรรมจะมีการประทับเวลา (Time Stamp) และติดตามข้อมูลย้อนหลังได้ ที่สำคัญธุรกรรมต้องตรงกับข้อมูลที่อยู่ในบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD) หากผิดปกติแสดงว่ามีการแก้ไขหรือปกปิดธุรกรรม อย่างไรก็ตามผู้ให้บริการ Custodian ล้วนเป็นบริษัทระดับ Global มีชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือต้องรักษา การเสี่ยงแก้ไขข้อมูลเพื่อประโยชน์ของลูกค้ารายใดรายหนึ่งคงไม่น่าเกิดขึ้น
และยืนยันอีกครั้งว่าการทำ Naked Short Selling ถือเป็นความผิดอาญาตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ หากตรวจสอบพบจะส่งเรื่องให้ ก.ล.ต.ดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องทันที
"ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการตรวจจับ Naked Short Selling และได้มีการลงโทษสมาชิกไปแล้ว เนื่องจากเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยกระบวนการตรวจสอบ จะเป็นการเข้าไปตรวจสอบกับบริษัทสมาชิก ซึ่ง ณ วันที่ส่งคำสั่งขายนักลงทุนมีหุ้นที่ขายหรือไม่ นักลงทุนมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ตรงนั้น ในกรณีที่เป็นนักลงทุนต่างชาติ แม้หุ้นจะฝากอยู่ที่ custodian โบรกเกอร์ต้องมีหน้าที่ไปสอบถามว่าเวลาที่ลูกค้าสั่งคำสั่งขายมีหุ้นในพอร์ตหรือไม่ ซึ่ง custodian ก็มี time stamp ของหุ้นในพอร์ต และทุกสิ้นวัน custodian จะมีขั้นตอนการส่ง outstanding balance ไปให้ลูกค้าของเขา ก็เป็นการคอมเฟิร์มอีกระดับหนึ่ง" นายรองรักษ์ กล่าว
ประเด็นการรวมกันหยุดเทรดในวันที่ 20 พ.ย.นี้ ของนักลงทุนรายย่อย มองว่าเป็นสิทธิของนักลงทุน โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ พยายามทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลอย่างโปร่งใส ในเรื่องที่นักลงทุนให้ความสนใจ ซึ่งสามารถเข้ามาดูได้บนเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลอดเวลา