ตลท.ขู่ฟันวินัยโบรกถ้าไม่ส่งหลักฐานมีหุ้นใน 15 วันจะถือเป็น Naked Short-ยังไม่จำเป็นใช้ Uptick

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 21, 2023 13:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะยกระดับการตรวจสอบธุรกรรมช็อตเซลด้วยการเข้มงวดการส่งหลักฐานของโบรกเกอร์เพื่อแสดงการมีหุ้นในครอบครองก่อนส่งคำสั่งขายภายใน 15 วัน หากไม่สามารถส่งได้ทันตามกำหนดจะสันนิษฐานว่าเป็นการทำช็อตเซลโดยไม่มีหุ้นในมือ (Naked Short Sell) ซึ่ง ตลท.จะลงโทษทางวินัยกับโบรกเกอร์

นอกจากนั้น ตลท.จะตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษขึ้นมา ซึ่งจะประกอบด้วยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อทบทวนความเท่าเทียมเป็นธรรมของผู้ที่ใช้โปรแกรมเทรดและไม่ได้ใช้โปรแกรมเทรด ให้เป็นไปตามหลักสากล

ส่วนสิ่งที่ ตลท.ได้ดำเนินการไปแล้ว คือการส่งหนังสือเวียนกำชับไปยังโบรกเกอร์และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความร่วมมือในการตรวจสอบธุรกรรมช็อตเซล พร้อมประสานกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตรวจสอบบัญชีซื้อขายร่วมที่ทำรายการช็อตเซลเพื่อหาผู้ที่มีอำนาจสั่งการตัวจริง

สำหรับข้อแนะนำของ ก.ล.ต.ให้คณะกรรรมการ ตลท.พิจารณาความเหมาะสมในการกำหนดราคาทำชอร์ตเซลด้วยราคาสูงกว่าราคาครั้งสุดท้าย (Uptick Rule) เพื่อไม่ให้เกิดการดัมพ์ราคานั้น ตลท.ได้หารือกันแล้วเห็นว่าขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องนำมาใช้ เพราะตลาดหุ้นไทยเปลี่ยนแปลงไปตามเทรนด์โลกไม่ได้เกิดจากความผิดปกติ แต่ไม่ได้ปิดโอกาสการนำมาใช้หากพบสถานการณ์ที่ไม่ปกติที่มีผลกระทบต่อการซื้อขายก็จะดำเนินการทันที

นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมาย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร ตลท. เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ตลท.ทำงานร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต.ตรวจสอบ Naked Short Sell และโปรแกรมเทรดดิ้ง มาอย่างต่อเนื่อง และยังส่งหนังสือเวียนไปยังบริษัทสมาชิก รวมถึงบริษัทที่ไม่ใช่สมาชิก และ Custodian ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้ลงทุนจากต่างประเทศ ให้ช่วยกันกำกับดูแลการซื้อขายช็อตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

นอกจากนี้ ยังมีการประสานความร่วมมือกับ ก.ล.ต. ยกระดับการตรวจสอบบัญชีลูกค้า ประเภทบัญชีที่มีคนลงทุนร่วมกันหลายคน แต่อยู่ภายใต้บัญชีเดียวกัน (Omnibus Account) เพื่อให้ทราบถึงผู้ลงทุนที่แท้จริง (End Beneficiary owner) ที่เข้ามาทำธุรกรรมการซื้อขายช็อตเซล

และสิ่งที่จะทำเพิ่มเติม คือ ในกรณีที่มีการทำธุรกรรมขายช็อต ในทางปฎิบัติที่ผ่านมาจะให้โบรกเกอร์ส่งหลักฐานมาพิสูจน์ว่า ลูกค้าที่ขายผ่าน Omnibus Account มีหุ้นในการครอบครองจริงหรือไม่ แต่ที่ผ่านมาพบปัญหาในการเข้าไปตรวจสอบ เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน ดังนั้น ตลท.จึงกำหนดเป็นแนวปฎิบัติให้โบรกเกอร์ต้องนำส่งหลักฐานมาพิสูจน์ภายใน 15 วัน หากไม่ทันก็จะสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็น Naked Short Sell และจะดำเนินการทางวินัยกับบริษัทสมาชิก โทษจะมีตั้งแต่การปรับ ภาคทัณฑ์ ตักเตือน ตลอดจนระงับการซื้อขาย ขึ้นอยู่กับความผิดของการกระทำ และการพิจารณาของคณะกรรมการวินัย

ปัจจุบันแม้สัดส่วนบัญชี Omnibus Account จะมีไม่มาก แต่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะมีการตรวจสอบเข้มข้นขึ้น และปกติก็จะตรวจสอบทุกบัญชี ทุกรายการ และทุกโบรกเกอร์ที่ทำช็อต ไม่เพียงแต่รายการขนาดใหญ่ หรือโบรกเกอร์ที่มีลูกค้าต่างชาติเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น

พร้อมกันนั้น ตลท.เตรียมแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเข้ามาช่วยตรวจสอบ เสนอแนะ ต่อกระบวนการทำงานของ ตลท.ในเรื่องการกำกับดูแลโปรแกรมเทรดดิ้ง และ Naked Short Sell รวมทั้งทบทวนเกณฑ์ที่จะสร้างความเป็นธรรมให้กับนักลงทุนที่เข้าที่เข้ามาซื้อขายผ่านโปรแกรมเทรดและที่ไม่ได้ใช้โปรแกรมเทรด โดยจะเชิญผู้แทนจากสำนักงาน ก.ล.ต., ตลท. และผู้เชี่ยวชาญทั้งในไทยและต่างประเทศ ของทางตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก (Nasdaq) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาระบบของ SET และตลาดหลักทรัพย์เกาหลี (Korea Exchange : KRX) ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการประสานงาน ซึ่งจะนำตวอย่างมาตรการที่ใช้ในต่างประเทศมาพิจารณาด้วย

นายรองรักษ์ กล่าวถึงข้อแนะนำของสำนักงาน ก.ล.ต.ให้คณะกรรรมการ ตลท.พิจารณาความเหมาะสมในการใช้ Uptick Rule ว่า หลังจากได้รับหนังสือจาก ก.ล.ต. วานนี้ ตลท.ได้เรียกประชุมเป็นกรณีพิเศษเพื่อพิจารณาในเรื่องดังกล่าว โดยมีความเห็นว่า การลดลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมามีความสอดคล้องไปกับตลาดหุ้นอื่นๆ ทั่วโลก ไม่ได้มีความผิดปกติอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหากดูสัดส่วนการขายของผู้ลงทุนส่วนใหญ่จะมาจากนักลงทุนต่างประเทศที่มีการขายมาโดยตลอด และอยู่ในสัดส่วนที่สูงมากถึงประมาณ 138,000 ล้านบาท ทำให้มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย

โดยสาเหตุหลักๆ มาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ที่มีผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้ผิดปกติ ฉะนั้น การปรับเกณฑ์จาก Zerotick Rule เป็น Uptick Rule ตามที่ก.ล.ต. มีข้อเสนแนะมานั้น ตลท.มองว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องนำมาใช้ในขณะนี้ แต่ตลท.ก็พร้อมนำมาพิจารณาใช้เป็นมาตรการชั่วคราวเหมือนในอดีตหากมีเหตุการณ์พิเศษเกิดขึ้น หรือมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการใช้มาตรการพิเศษเพื่อดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์

ส่วนกรณีค่าธรรมเนียน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยืนยันไม่สามารถเข้าไปแทรกแทรงการกำหนดค่าธรรมเนียมของบริษัทสมาชิกได้ เนื่องจากเป็นการเปิดเสรีค่าธรรมเนียมอยู่แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ