เมื่อช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา Zipmex ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลสัญชาติไทยที่เคยเกิดวิกฤต ประชาชนชาวไทยหลายหมื่นชีวิตได้รับความเสียหายจากการใช้บริการผลิตภัณฑ์หนึ่งของ Zipmex กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งการให้ Zipmex ระงับธุรกิจทุกประเภท หลัก ๆ จากการที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิได้ตามที่กฎหมายกำหนด และให้เร่งแก้สถานะเงินกองทุน ตามประกาศของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ กธ. 19/2561 กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้จะต้องระงับการประกอบธุรกิจทุกประเภทจนกว่าจะดำรงเงินกองทุนได้ และได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ให้ดำเนินธุรกิจตามปกติ ซึ่งผู้ใช้งานหรือประชาชนทั่วไปอาจจะไม่คุ้นกับแนวคิดการดำรงเงินกองทุนเท่าใดนัก
การดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งถูกกำหนดเป็นกฎหมายนั้น มีไว้ก็เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจนั้น ๆ ดำรงเงินกองทุนได้อย่างเหมาะสมเพียงพอต่อการเผชิญความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจในแต่ละประเภท ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้หลายเงื่อนไขและวิธีการ
เมื่อพิจารณาจากการประกอบธุรกิจของ Zipmex ซึ่งเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินดิจิทัลของลูกค้า จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมากกว่า 1 ประเภท จะต้องดำรงเงินกองทุนโดยใช้วิธี NC-1 (การดำรงเงินกองทุนมีวิธีการตั้งแต่ NC-1 ถึง NC-4)
กล่าวคือ ต้องมีเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิเมื่อเก็บทรัพย์สินของลูกค้าจำนวนตั้งแต่ 15 ล้านบาท และให้ดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิมากกว่า หรือเท่ากับ 5% ของทรัพย์สินของลูกค้าที่จัดเก็บในระบบของผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับเครือข่ายเมื่อทำธุรกรรมเท่านั้น (Hot Wallet) และมากกว่าหรือเท่ากับ 1% ของทรัพย์สินของลูกค้าจัดเก็บในระบบของผู้ประกอบธุรกิจที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายเมื่อทำธุรกรรมเท่านั้น (Cold Wallet)
สินทรัพย์สภาพคล่องที่ใช้ในการคำนวณเงินกองทุนนั้น ได้แก่ เงินสดหรือเงินฝากของสถาบันการเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงินและตั๋วแลกเงินที่ออกโดยสภาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน เงินลงทุนในหลักทรัพย์ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า และตราสารทางการเงินอื่น ๆ สินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงรายการอื่น ๆ ตามที่ สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
ดังนั้นแล้ว หากกล่าวโดยสรุป คือ การดำรงเงินกองทุน คือการหักเงินของลูกค้าส่วนหนึ่งตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนดและให้เก็บไว้อย่างปลอดภัยเพื่อให้เพียงต่อการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทั้งนี้ เงินดังกล่าวมิใช่เงินที่ผู้ให้บริการต้องเสียหรือเป็นผู้จัดหาโดยตรง จึงน่าพิจารณาว่าเหตุใด เงินกองทุน ของผู้ให้บริการดังกล่าวจึงมีไม่เพียงพอจนทำให้ ก.ล.ต. ต้องมีคำสั่งให้ระงับการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างไม่มีกำหนด
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)