บมจ.เอสซีจี เดคคอร์ (SCGD) กำหนดราคาขายหุ้น IPO ที่ 11.50 บาท จำนวนหุ้นที่เสนอขายไม่เกิน 439,100,000 หุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 26.61% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้ มุลค่าเสนอขายทั้งสิ้น 5,049.65 ล้านบาท เสนอขายนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยในวันที่ 8 และ 12 - 13 ธันวาคม 2566 และคาดเข้าเทรดวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในเดือนนี้ โดยมี บล.บัวหลงง เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย และที่ปรึกษาทางการเงิน
ทั้งนี้ ราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนสุดท้ายเท่ากับ 11.50 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาที่ได้มาจากกระบวนการสำรวจความต้องการของผู้ลงทุน (Bookbuilding) (ช่วงราคาที่นำมาใช้ทำการสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ (Bookbuilding) อยู่ที่ระหว่างราคา 11.20-11.50 บาทต่อหุ้น) ขณะเดียวกัน มูลค่าตามราคาบัญชี (Book Value) อยู่ที่ 14.50 บาทต่อหุ้น (อ้างอิงตามส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ตามข้อมูลทางการเงินรวมเสมือน สำหรับงวดเก้าเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2566)
หากพิจารณาผลกำไรสุทธิช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลัง (วันที่ 1 ตุลาคม 2565-วันที่ 30 กันยายน 2566) ซึ่งเท่ากับ 953.6 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทฯ หลังจากการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ (Fully Diluted) ซึ่งเท่ากับ 1,650 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10.00 บาท จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.58 บาทต่อหุ้น จะคิดเป็นอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นที่ (P/E) ประมาณ 19.90 เท่า
การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ ในครั้งนี้ จัดสรรให้
- ผู้ถือหุ้นของ COTTO ที่ตอบรับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ จำนวนหุ้นที่เสนอขาย ประมาณ 214,659,061 หุ้น สัดส่วนที่เสนอขายประมาณ 48.89%
- ผู้ถือหุ้นของ SCC ที่มีสิทธิได้รับการจัดสรร จำนวนหุ้นที่เสนอขายประมาณ 153,685,000 หุ้น สัดส่วนที่เสนอขายประมาณ 35.00%
- ผู้ถือหุ้นของ COTTO ที่มีสิทธิได้รับการจัดสรร (ซึ่งไม่รวมถึงบริษัทฯ) จำนวนหุ้นที่เสนอขายประมาณ 4,450,000 หุ้น สัดส่วนที่เสนอขาย ประมาณ 1.01%
- นักลงทุนสถาบันและนิติบุคคลที่สามารถเข้าร่วมการสำรวจความต้องการซื้อ จำนวนหุ้นที่เสนอขายประมาณ 31,227,839 หุ้น สัดส่วนที่เสนอขาย ประมาณ 7.11%
- ผู้มีอุปการคุณของบริษัทฯ และบริษัทย่อย จำนวนหุ้นที่เสนอขายประมาณ 32,078,100 หุ้น สัดส่วนที่เสนอขายประมาณ 7.31%
- บุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ จำนวนหุ้นที่เสนอขายประมาณ 3,000,000 หุ้น สัดส่วนที่เสนอขายประมาณ 0.68%
บริษัทฯมัวัตถุประสงค์นำเงินที่ระดมทุนได้ไปใช้ลงทุนในโครงการเพื่อขยายกำลังการผลิตและขยายช่องทางการจำหน่ายของบริษัท ประมาณ 795 ล้านบาท , ลงทุนในโครงการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและการลงทุนในโครงการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ในปี 2050 ของธุรกิจของบริษัท ประมาณ 504 ล้านบาท การลงทุนเพื่อบำรุงรักษาสินทรัพย์ ประมาณ 495 ล้านบาท และส่วนที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนรวมถึงการเช้าซื้อและควบรวมกิจการ(ถ้ามี) และปรับโครงสร้างเงินทุน ประมาณ 630 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น ประมาณ 2,425 ล้านบาท
นายนำพล มลิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ SCGD ผู้นำในธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ (Decor Surfaces and Bathroom) ที่ครบวงจร ในภูมิภาคอาเซียน เปิดเผยว่า บริษัทฯ ผสานความแข็งแกร่งของ 5 บริษัทย่อย มุ่งขยายธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียนอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และคงความเป็นผู้นำธุรกิจในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะการขยายตลาดใน 4 ประเทศหลัก ได้แก่ ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ที่มีศักยภาพเติบโตสูงจากแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจและจำนวนประชากรรวมกันประมาณ 560 ล้านคน
โดยใช้จุดแข็งด้านความแข็งแกร่งของแบรนด์สินค้าที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค มีสินค้านวัตกรรมและผลิตภัณฑ์หลากหลาย สามารถตอบสนองลูกค้าทุกระดับ มีช่องทางการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุม ทั้งเครือข่ายผู้จัดจำหน่ายกว่า 800 ราย และร้านค้าเครือข่ายรวมทั้งสิ้นกว่า 10,000 ร้าน ทั้งร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ช่องทางจัดจำหน่ายของบริษัทฯ และออนไลน์ รวมถึงตลาดส่งออกกว่า 57 ประเทศ ทั้งนี้ ภาพรวมตลาดวัสดุตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียน มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาวจากการขยายตัวของเมืองและการเพิ่มขึ้นของรายได้ชนชั้นกลาง คาดว่ามูลค่าตลาดรวมวัสดุตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ในประเทศไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ในปี 2565 - 2569 จะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 180,000 ล้านบาท เป็น 250,000 ล้านบาท โดยความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องการสินค้าระดับพรีเมียม สินค้าที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และกลุ่ม Smart Products มากยิ่งขึ้น จะเป็นโอกาสของบริษัทฯ ที่จะขยายตลาดในภูมิภาคนี้
ปัจจุบันบริษัทฯ ถือเป็นผู้นำธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียน โดยมีโรงงานผลิตกระเบื้องปูพื้นและบุผนังในประเทศไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย กำลังการผลิตรวม 187.2 ล้านตารางเมตรต่อปี ติดท็อป 5 ของโลก มีโรงงานผลิตสุขภัณฑ์ในประเทศไทย กำลังการผลิต 2.3 ล้านชิ้นต่อปี และโรงงานผลิตก๊อกน้ำในประเทศไทย กำลังการผลิต 1.7 ล้านชิ้นต่อปี และมีส่วนแบ่งการตลาดวัสดุตกแต่งพื้นผิวเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ รวมถึงส่วนแบ่งตลาดสุขภัณฑ์เป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย
"บริษัทฯ วางแผนขยายตลาดในภูมิภาคอาเซียนที่มีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก โดยเห็นโอกาสขยายตลาดสุขภัณฑ์จากประเทศไทยสู่ภูมิภาคอาเซียน โดยหนึ่งในตัวอย่างที่ดีคือการที่ปัจจุบันบริษัทฯ ทำการขยายเครือข่ายผู้จัดจำหน่ายสุขภัณฑ์ในเวียดนาม โดยต่อยอดจากร้านผู้แทนจำหน่ายกระเบื้อง และจะใช้ ?COTTO? เป็นแบรนด์เรือธงเจาะกลุ่มลูกค้าระดับพรีเมียม ขณะเดียวกันจะขยายตลาดผลิตภัณฑ์กระเบื้องไวนิล SPC วัสดุตกแต่งพื้นผิวทางเลือกใหม่ในตลาดอาเซียน" นายนำพล กล่าว
ล่าสุดได้เดินหน้าแผนลงทุนติดตั้งสายการผลิตใหม่ที่โรงงานหินกอง สระบุรี กำลังการผลิต 1.8 ล้านตารางเมตรต่อปี รวมถึงเดินหน้าโครงการลงทุนต่างๆ เช่น เตรียมลงทุนโครงการขยายกำลังการผลิตกระเบื้องพอร์ซเลนรวม 6.6 ล้านตารางเมตรต่อปีในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศเวียดนาม และอยู่ระหว่างศึกษาแผนลงทุนโรงงานกระเบื้องในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศเวียดนาม โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในพื้นที่ดังกล่าว นอกจากนี้ไตรมาส 3 ที่ผ่านมาได้เริ่มเดินเครื่องจักรสายการผลิตใหม่กระเบื้องเซมิ-เกลซ พอร์ซเลน และกระเบื้องขนาดใหญ่อีก 1.38 ล้านตารางเมตรต่อปี ที่โรงงาน Dai Loc ในประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นสินค้าระดับกลางถึงพรีเมียมที่มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ดี
นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บล.บัวหลวง ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า การเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้ จะเพิ่มความแข็งแกร่งด้านฐานะการเงินและศักยภาพการขยายธุรกิจ โดย SCGD จะนำไปขยายธุรกิจทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและดำเนินงาน เพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน ชำระเงินกู้ การควบรวมกิจการในอนาคต เป็นเงินทุนหมุนเวียนและปรับโครงสร้างเงินทุน ทั้งนี้ ภายหลังการปรับโครงสร้างและเสนอขาย IPO เป็นที่เรียบร้อย SCGD จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมีผลให้ผู้ถือหุ้น COTTO ที่ตอบรับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์กลายเป็นผู้ถือหุ้นของ SCGD