นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) ประกาศเป้าหมาย 5 ปี ผลักดันรายได้ LPN ให้ฟื้นกลับไปเท่ากับในปี 58 หรือ 59 ที่มีรายได้ 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นจุดพีคของรายได้ LPN มุ่งหน้าเดินตามแผนงานท่ามกลางอุปสรรคที่ยังท้าทายค่อนข้างมาก พร้อมปรับความสมดุลพอร์ตคอนโด-แนวราบในมือให้สอดคล้องกัน รวมถึงการวางแผนซื้อที่ดินอย่างเหมาะสม
นายโอภาส กล่าวว่า อสังหาริมทรัพย์ของไทยบอบช้ำมาพอสมควร โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 เศรษฐกิจย่ำแย่ ซึ่งอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโดยตรง อีกทั้งความหวังว่าปีนี้จะดีขึ้นจากปี 65 หลังได้รัฐบาลใหม่ แต่กลับกลายเป็นว่าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นมากอย่างที่หวัง ยังคงต้องว่าลุ้นปี 67 จะดีขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปได้หรือไม่
แม้จะมองว่าอสังหาริมทรัพย์ไทยยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว เพราะคนไทยยังคงมีความต้องการซื้อบ้านอีกมาก แต่ส่วนใหญ่ 80-90% ซื้อด้วยเงินผ่อน จะเห็นว่าหลายปีที่ผ่านมาธนาคารเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ยอดขายที่เกิดขึ้นของบริษัทอสังหาฯทุกเจ้ามาสะดุดที่ยอดโอน ลูกค้ากู้ไม่ผ่าน อย่างกรณีของ LPN ยอดขายทำได้ปีละ 1 หมื่นล้านบาท แต่กู้ไม่ผ่านถึง 50% เหมือนเป็นการเทกระจาด และทุกเจ้าก็เจอแบบนี้เหมือนๆ กัน สะท้อนภาพว่าคนมีความต้องการซื้อแต่แหล่งเงินทุนจำกัด และเผชิญความเข้มงวดของการขอสินเชื่อ กลายเป็นปัญหาหลักของภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยในยุคนี้
นายโอภาส กล่าวว่า LPN ยังคงเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน วิสัยทัศน์องค์กรนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ในการดำเนินธุรกิจที่ทำแบบพอประมาณตนเอง รวมถึงการดูแลบริหารความเสี่ยง ทำให้ LPN เดินหน้าอย่างยั่งยืนได้
แต่ยอมรับว่าไซส์ของ LPN ถือว่าเล็กลง เรากลับมาเริ่มพัฒนาโครงการที่ไม่ใช่โครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าสูงเหมือนเมื่อในอดีต และไม่ได้เดินตามผู้ประกอบการรายอื่น แต่ปรับลดมูลค่าการเปิดโครงการลงมาเหลือ 1 หมื่นล้านบาท/ปี จำนวนยูนิตที่ลดลงเหลือ 300-500 ยูนิต/โครงการ ทำให้ใช้เงินลงทุนไม่ได้สูงมากเหมือนในอดีต และสามารถรกะจายความเสี่ยงได้ดีขึ้น
"LPN เราหันมาทำในสิ่งที่เล็กที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และต้องทำประโยชน์เพื่อสัมคมให้ได้มากที่สุดด้วยเช่นกัน" นายโอภาส กล่าว
*ปรับลุค-ปรับแบรนด์อิง"สายมู"เอาใจคนรุ่นใหม่
นายโอภาส เล่าอีกว่า การเปลี่ยนแปลงจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้พฤติกรรมการซื้อที่อยู่อาศัยของคนแต่ละ Gen เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลต่อการปรับกลยุทธ์อีกด้าน คือ จากเดิม LPN เน้นการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เน้นความคุ้มค่าเพื่อเจาะกลุ่มคน Gen B และ Gen X ที่เกิดมาในยุคข้าวยากหมากแพง ทำให้เน้นการซื้อที่อยู่อาศัยแบบ Value for money
แต่ยุคปัจจุบัน กลุ่มผู้ซื้อหลักเปลี่ยนมาสู่ Gen Y ซึ่งความคุ้มค่าเป็นสิ่งที่คนใน Gen นี้จะไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก แต่ต้องการสิ่งที่สร้างอัตลักษณ์และความเป็นปัจเจกที่บ่งบอกตัวตนมากขึ้น ส่งผลต่อการพัฒนาโครงการของ LPN ที่แต่ละโครงการมีความแตกต่างและไม่ซ้ำกัน ต่างจากนอดีตที่คอนโดมิเนียมของ LPN จะเป็นโมเดลที่เหมือนกันในทุกโครงการ
พร้อมกันนั้น LPN ยังได้ปรับแบรนด์โครงการเป็นเลข 168 ซึ่งยอมรับว่าเป็นทาง "สายมู" ให้สอดคล้องกับกระแสความนิยมของคนในยุคนี้ เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการผู้บริโภคได้ตรงจุด โดยเลข 168 มาจาก "ฮก ลก ซิ่ว" ที่หมายถึงความสำเร็จ ความมั่งมีเงินทอง และความเป็นมงคล และอีกนัยหนึ่ง 168 เป็นผลคูณของ 24x7 มาจากหนึ่งวันมี 24 ชั่วโมง และทุกวันใน 1 สัปดาห์มี 7 วัน
"จุดเริ่มต้นของ LPN คือ เลข 168 เป็นบ้านเลขที่ของ LPN อาคารแรกที่ลุมพินีทาวเวอร์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบให้ 168 เป็น Master Brand ใหม่ของ LPN ที่มีความเป็นมงคล และเป็นจุดเริ่มต้นของ LPN และทำให้ LPN ยังเฉิดฉายในอุตสาหกรรมได้ในทุกวันนี้"นายโอภาส กล่าว
นอกจากนั้น LPN ยังมีแบรนด์ EARN ที่ตอบโจทย์กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มองการซื้ออสังหาริมทรัพย์เป็นการลงทุนไปในตัวด้วย นอกเหนือจากซื้อเพื่ออยู่อาศัยเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาลูกค้าที่ซื้อโครงการของ LPN ในสัดส่วน 20% ของ LPN ซื้อเพื่อลงทุน เพราะโครงการของ LPN อยู่ในทำเลที่ดี ไม่ต้องใช้เงินลงทุนสูง แต่ให้ผลตอบแทนสูง ทำให้แบรนด์ EARN เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่เข้ามาตอบสนองกลุ่มนักลงทุน
"การปรับเปลี่ยนด้านการใช้คำในการสื่อสารการตลาดใหม่เป็น LPN น่าอยู่ จากชุมชนน่าอยู่ และการนำเสนอแบบใหม่ที่มีแฮชแท็ก #สารภาพว่าติดบ้าน ที่เปรียบเสมือนบ้านเป็นทุกอย่างของชีวิต และเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าบ้านของ LPN ให้อะไรมากกว่า และบ่งบอกถึงมีการขยับพัฒนาโครงการที่มียูนิตน้อยลง และมีการพัฒนาแนวราบมากขึ้น จากอดีตเน้นการพัฒนาคอนโดมิเนียมหลักพันยูนิต"นายโอภาส กล่าว
https://youtu.be/HXu_v2I34_U