บมจ. บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) และ บมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวง (SCCC) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในการจัดหาพลังงานทดแทนสำหรับการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดินภายในพื้นที่โรงงานของ SCCC จังหวัดสระบุรี ขนาดกำลังการผลิตรวม 102 เมกะวัตต์พีค แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 เฟส ในระยะเวลา 5 ปี
นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BGRIM เปิดเผยว่า บี.กริม เพาเวอร์ ได้ผนึกความร่วมมือกับ ปูนซีเมนต์นครหลวง เพื่อพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดิน ซึ่งถือเป็นแนวทางการพัฒนาโซลูชันด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับโรงงานปูนซีเมนต์ ซึ่งมีพื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจด้วยความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบข้าง
สอดคล้องกับกลยุทธ์ไปสู่ความยั่งยืนของทั้งสององค์กร และตอกย้ำวิสัยทัศน์ของ บี.กริม เพาเวอร์ ที่มุ่งสร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี (Empowering the World Compassionately) ด้วยความพร้อมในการพัฒนาด้านพลังงานที่ยั่งยืนและปลอดภัยภายใต้กลยุทธ์หลัก Green Leap - Global and Green และบี.กริม เพาเวอร์ ตั้งเป้ากำลังผลิตไฟฟ้าเติบโตสู่ 10,000 เมกะวัตต์ จากโครงการที่เปิดดำเนินการแล้วและอยู่ระหว่างพัฒนา ภายในปี พ.ศ. 2573 และเป็นองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ภายในปี พ.ศ. 2593
นายมนตรี นิธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจปูนซีเมนต์ SCCC กล่าวว่า ความร่วมมือในพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดินภายในพื้นที่โรงงานปูนซีเมนต์นครหลวง จังหวัดสระบุรี มีขนาดกำลังการผลิตรวม 102 เมกะวัตต์โดยการดำเนินงานจะแบ่งเป็น 2 เฟสในระยะเวลา 5 ปี เฟสที่ 1 กำลังการผลิต 80 เมกะวัตต์ ในส่วนเฟสที่ 2 กำลังการผลิต 22 เมกะวัตต์ ซึ่งจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 60,000 ตันต่อปี
ความร่วมมือระหว่าง บี.กริม เพาเวอร์ และ ปูนซีเมนต์นครหลวง แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน โดยความร่วมมือครั้งนี้จะสะท้อนถึงเป้าหมายร่วมกันของผู้นำในอุตสาหกรรมเพื่อสร้างโซลูชันด้านพลังงานที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรมที่มีความต้องการใช้พลังงานในปริมาณสูง รวมทั้งยังช่วยเพิ่มศักยภาพในการขับเคลื่อนประเทศไทย ก้าวสู่ความเป็นผู้นำในการดำเนินธุรกิจด้วยความยั่งยืน