ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดรับฟังความคิดเห็น "การปรับปรุงหลักเกณฑ์การซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยเงินสด" ตามที่ตลท.ได้พัฒนาและปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจในตลาดทุน เพื่ออำนวยความสะดวกและตอบสนองต่อความต้องการของนักลงทุน รวมถึงยกระดับการกำกับดูแลและทบทวนหลักเกณฑ์เพื่อให้เป็นปัจจุบัน ตามแผนกลยุทธ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น
ในครั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ทบทวนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยเงินสดให้เหมาะสมกับสภาพในปัจจุบัน เพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงานและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทสมาชิก เนื่องจากหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติถึงระดับลูกค้า เช่น การกำหนดระยะเวลาในการชำระราคาค่าซื้อและค่าขาย รวมถึงการส่งมอบหลักทรัพย์ซึ่งอาจทำให้สมาชิกขาดความยืดหยุ่นในการทำงาน และอาจไม่สามารถกำหนดวิธีปฏิบัติที่แตกต่างและเหมาะสมกับความเสี่ยง (credit risk) ของลูกค้าแต่ละรายได้ ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศจะกำหนดให้เป็นดุลพินิจของสมาชิก เนื่องจากเป็นผู้มีความใกล้ชิดและติดต่อกับลูกค้าแต่ละราย ประกอบกับหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) กำหนดให้สมาชิกต้องทำความรู้จักและประเมินข้อมูลของลูกค้าผ่านกระบวนการทำความรู้จักลูกค้า (Know Your Customer) และการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (Customer Due Diligence) รวมถึงสามารถจัดประเภทลูกค้าเพื่อให้บริการที่สอดคล้องกับลูกค้าแต่ละประเภทได้
ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงขอรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยท่านสามารถให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 5 มกราคม 2567 ทางช่องทาง https://forms.gle/rysFyW4mRtLB48cp9
หลักเกณฑ์ปัจจุบัน
1. หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยเงินสด (Cash Account) ในปัจจุบัน ได้กำหนดกระบวนการและระยะเวลาชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ระหว่างบริษัทสมาชิกและลูกค้าแต่ละประเภท เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทสมาชิกจะได้รับเงินและหลักทรัพย์ทันเวลาที่จะชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ต่อสำนักหักบัญชี (Clearing House) โดยเหตุผลหนึ่งคือในอดีตการส่งมอบหลักทรัพย์จะเป็นการส่งมอบในรูปแบบใบหลักทรัพย์ (Script)
โดยสรุปเกณฑ์ปัจจุบันได้ดังนี้
? เมื่อลูกค้าซื้อหลักทรัพย์: ให้ลูกค้าชำระเงินภายในวันที่ T+2 และบริษัทสมาชิกส่งมอบหลักทรัพย์ให้ลูกค้าภายในวันที่ T+3
? เมื่อลูกค้าขายหลักทรัพย์: ให้ลูกค้าส่งมอบหลักทรัพย์ 12.00 ของ T+1 และบริษัทสมาชิกจะชำระเงินในวันที่ T+2
ทั้งนี้ เกณฑ์ข้างต้นไม่ใช้กับลูกค้าบางประเภทที่มีวิธีปฏิบัติที่แตกต่างออกไป เช่น บริษัทหลักทรัพย์ที่มิใช่สมาชิก (Sub-Broker) หรือนิติบุคคลต่างประเทศที่ใช้บริการคัสโตเดียน
2. สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดให้บริษัทสมาชิกมีการดูแลความเสี่ยงของลูกค้าเป็นหลักการไว้ว่า สมาชิกต้องทำความรู้จักและประเมินข้อมูลของลูกค้าผ่านกระบวนการท ความรู้จักลูกค้า (Know Your Customer) และการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (Customer Due Diligence) รวมถึงสามารถจัดประเภทลูกค้าเพื่อให้บริการที่สอดคล้องกับลูกค้าแต่ละประเภทและปฏิบัติต่อลูกค้าแต่ละประเภทอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน