บมจ.สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) แจ้งว่าธุรกรรมการลงทุนในธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิ โตรเลียม ซึ่งรวมถึงการได้มาซึ่งสิทธิในการถือครองหุ้นและสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องในการประกอบธุรกิจการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงภายใต้แบรนด์ "คาลเท็กซ์"จาก Chevron Asia Pacific Holdings Limited ได้เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2567 คาดว่าจะเสริมสร้างห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและธุรกิจการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในประเทศไทยที่ครบวงจร นายโรเบิร์ต โดบริค กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SPRC ระบุว่า การได้ธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิงของ บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด เข้ามาร่วมเป็นครอบครัวเดียวกัน การผสานธุรกิจการตลาด และจัดจำหน่ายเชื้อเพลิงเข้ากับการกลั่นน้ำมันจะเสริมสร้างโอกาสการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมกับการขยายธุรกิจเชิงกลยุทธ์ด้านห่วงโซ่ ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีทั้งกับผู้ถือหุ้น และลูกค้าคาลเท็กซ์ อีกทั้งยังจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทยได้อีกด้วย"
"SPRC จะยังคงจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงคุณภาพภายใต้แบรนด์ คาลเท็กซ์® และ เทครอน ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ได้รับความไว้วางใจและอยู่เคียงคู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนานกว่า 75 ปี โดยหวังว่าจะสามารถนำเสนอบริการและผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงคุณภาพสูงให้กับลูกค้าผ่านสถานีบริการน้ำมันคาลเท็กซ์ทั่วประเทศ" นายโดบริค กล่าวเสริม
ด้าน นายชาแชงค์ นานาวาติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านการพาณิชย์ SPRC อดีตประธานกรรมการและผู้จัดการใหญ่ บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด กล่าวว่า "การรวมธุรกิจการกลั่นและการตลาดผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงจะสามารถสร้างเสริมคุณค่าของแบรนด์ให้เพิ่มสูงขึ้นด้วยการเติมเต็มประสบการณ์อันน่าประทับใจได้อย่างครอบคลุม ซึ่งจะช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นให้กับผู้ถือหุ้น และผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันคาลเท็กซ์ของเรา นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มทักษะความรู้ความสามารถของพนักงานให้มีความพร้อมในการมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ เพื่อการเติบโตในระยะยาวต่อไป"
ทั้งนี้ นอกเหนือจากการบริหารโรงกลั่นน้ำมันที่มีกำลังการกลั่นน้ำมันดิบสูงถึง 175,000 บาร์เรลต่อวันแล้ว SPRC มุ่งมั่นที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงคุณภาพสูงภายใต้แบรนด์ คาลเท็กซ์ เทครอน ผ่านสถานีบริการน้ำมันคาลเท็กซ์ประมาณ 450 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งดำเนินการโดยพันธมิตรทางธุรกิจมืออาชีพ การเข้าซื้อธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิงในครั้งนี้ยังรวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อันได้แก่ สัดส่วนการถือครองหุ้นร้อยละ 9.91 ในบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด สัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 2.51 ในบมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) การลงทุนในบริษัทเอกชนที่ถือครองที่ดินแปลงที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และคลังน้ำมันเชื้อเพลิงที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสงขลา และสุราษฎร์ธานีด้วย