บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง สกอตแลนด์ โบรกฯ มองบวกถือเป็นก้าวแรกของการลงทุนในพลังงานสะอาด แม้ว่าดีลดังกล่าวจะรับรู้กำไรไม่มากนัก ซึ่งเป็นไปตามสัดส่วนการลงทุน แต่จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่สม่ำเสมอ และช่วยลดความผันผวนจากราคาน้ำมันดิบได้บ้างขณะเดีวกัน ปรับลดการลงทุนในภูมิภาคอื่นตามกลยุทธ์เน้นลงทุนใน Focus Country ของบริษัทฯ ส่วนราคาหุ้น PTTEP อยู่ในโซนไม่แพง โบรกเกอร์แนะนำ "ซื้อ"
ราคาหุ้น PTTEP วันนี้ (10.41น.) อยู่ที่ 148.50 บาท เพิ่มขึ้น 2.50 บาท (+1.710%) โดยในช่วงเดือนธ.ค.66 ราคาลงมาต่ำสุดที่ 137.50 บาท
*ราคาหุ้นไม่แพง
นายศรชัย พิทยาพฤกษ์ นักวิเคราะห์อาวุโส กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี บล.กรุงศรี พัฒนสิน กล่าวว่า PTTEP ได้มีการประกาศเข้าลงทุนในพลังงานลมนอกชายฝั่ง ในสกอตแลนด์ ขนาด 1,075 เมกะวัตต์ (MW) ถือเป็นโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ แต่ PTTEP ถือหุ้นในสัดส่วนเพียง 25.5% ก็จะรับรู้เข้ามาแค่ส่วนแบ่งกำไร ทั้งนี้โครงการดังกล่าวมีการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่เดือนต.ค.66 ทำให้จะสามารถรับรู้กำไรเข้ามาทันที ขณะที่คาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ราว 7-10% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับใกล้เคียงกับการลงทุนในพลังงานลมทั่วไป และโครงการนี้จะสามารถปลดปล่อยคาร์บอนฯ ราว 2 ล้านตันต่อปี หรือคิดตามสัดส่วนการถือหุ้นจะอยู่ที่ 5 แสนตันต่อปีสำหรับ PTTEP
มอง Positive ต่อการขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานลมในครั้งนี้ เนื่องด้วยบริษัทมีโอกาสในการลงทุนพลังงานหมุนเวียนไปกับพันธมิตรระดับโลก อย่าง TotalEnergies อีกมากในอนาคต ซึ่ง Total ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตอีก 80,000 เมกะวัตต์ ภายใน 2030) ขณะที่ปัจจุบันก็มีการเซ็น MOU กันในการศึกษาโครงการลงทุนอีกประมาณ 2-3 โครงการแล้ว
ทั้งนี้เบื้องต้นประเมินโครงการดังกล่าวจะสร้างกำไรให้ PTTEP ราว 93-645 ล้านบาท/ปี หรือราว 1% ของกำไรในปี 68 และคาดว่าดีลดังกล่าวจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาส 2/67 อย่างไรก็ตามโรงไฟฟ้าโรงเดียวคงไม่ได้ทำให้น่าตื่นเต้น แต่จะเป็นหนึ่งในการ Diversify ไปสู่พลังงานสะอาด และก็อาจจะช่วยบรรลุเป้า Net Zero Emission ภายใน 2050 (พ.ศ.2593)
มูลค่าลงทุนต่อเมกะวัตต์จะอยู่ราว 2.5 ล้านเหรียญฯ/MWe อยู่ในระดับใกล้เคียงการซื้อขายโครงการลักษณะใกล้เคียงกัน (brownfield) ในตลาดราว 2-3 ล้านเหรียญฯ/MW
แนะนำ "ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 180 บาท โดยราคาปรับตัวลงรับกำไรอ่อนแอในไตรมาส 4/66 หรือลดลง QoQ และมีความเสี่ยงด้อยค่าจากโครงการโมซัมบิกฯ ไปในระดับหนึ่งแล้ว ขณะที่ P/E ปัจจุบันซื้อขายราว 7-8 เท่า และเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 กำไรอยู่ที่ 3.9-4.5 หมื่นล้านบาท (ปี 61-62) ยังต่ำกว่าตอนนี้อีก โดยซื้อขายอยู่ที่ 13-26 เท่า ซึ่งตอนนี้ซื้อขายไม่แพง มองเป็นจุดเข้าเก็งกำไร รับการฟื้นตัวในไตรมาส 1/67, ไตรมาส 2/67 และไตรมาส 4/67 ได้
บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย)ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ถือเป็นก้าวแรกสำหรับการกระจายการลงทุนของบริษัทสู่พลังงานสะอาด โดยบริษัทจะเน้นที่โครงการพลังงานลม
ทั้งนี้ PTTEP แจ้งซื้อหุ้น 50% ในบริษัท TotalEnergies Renewables Seagreen Holdco Ltd (TERSH) จำนวน 689 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย TERSH ถือหุ้น 51% ในโครงการลมนอกชายฝั่งของประเทศสกอตแลนด์ กำลังการผลิตรวม 1,100 MW คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนถือหุ้นประมาณ 280 MW โครงการ COD แล้วเมื่อเดือนต.ค.66 เป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดในสกอตแลนด์ คาดปิดดีลภายในไตรมาส 2/67 โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากเงินสดในมือทั้งหมด
คาด EIRR อยู่ในช่วง 7-10% ซึ่งต่ำกว่าโครงการสำรวจและผลิตที่ระดับ 10-15% อย่างไรก็ตาม โครงการนี้จะช่วยให้ความเสี่ยงด้านความผันผวนของกำไรจะลดลงจากการได้รับกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอเข้ามาทดแทน โดยคาดจะมีส่วนแบ่งกำไรประมาณ 30-80 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1-3% ของกำไรปีหน้า
ระยะสั้นราคาจะผันผวนตามราคาน้ำมัน แต่ทางฝ่ายยังคงมุมมองว่าตลาดน้ำมันในปีหน้าจะยังอยู่ในภาวะสมดุล และมีการควบคุมอุปทานช่วยหนุนราคา คงคำแน่ะนำ "ซื้อ" ราคาพื้นฐาน 175 บาท
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า PTTEP ประกาศข่าว 1.เข้าซื้อหุ้น 50% ใน TotalEnergies Renewables Seagreen (TERSH) จากบริษัทเครือ Total มูลค่า 689 ล้านเหรียญฯ เราคงประมาณการ และราคาเหมาะสมเดิมเอาไว้ก่อน เนื่องจากคาด Upside จากประมาณการปี 67-68 เล็กน้อย 0.8-1.5% เพราะคาดเริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไรตั้งแต่ 2H67 โดยช่วงแรกของการดำเนินงานอาจถูกถ่วงด้วยต้นทุนการเงินรวมทั้งลักษณะธุรกิจของพลังงานหมุนเวียนที่มีผลตอบแทน-ความเสี่ยงต่ำทำให้ EIRR จะอยู่ที่ 7-10% (เทียบกับธุรกิจ E&P 10-15%)
โดยมองโครงการดังกล่าวน่าสนใจเพราะเป็นก้าวสำคัญกระจายสู่ธุรกิจอื่นนอกจาก E&P,สกอตแลนด์มีกระแสลมดี Capacity Factor > 45% (ไทย 25-30%), เป็น Operating Asset ไม่มีความเสี่ยงการก่อสร้าง,สัญญารับซื้อไฟฟ้า 15 ปี(Secure ราคา70%),อายุสินทรัพย์ยังน้อย, MOU กับเครือ Total สร้างโอกาสร่วมมือด้านพลังงานหมุนเวียนในอนาคต, ราคาซื้อขาย EV/MW 110 ล้านบาท (ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม),ช่วยชดเชยการปล่อยคาร์บอนได้ราว 2 ล้านตัน/ปี
2.รายงานความคืบหน้าการขายสัดส่วนลงทุนทั้งหมด (90-100%) ในแปลงปิโตรเลียม AC/RL 7 (Cash-Maple) ประเทศออสเตรเลีย และสัดส่วนลงทุน 2.5% ในแปลงปิโตรเลียม 17/06 ประเทศแองโกลา ได้ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์
การจำหน่ายสัดส่วนลงทุนในโครงการทั้ง 2 แห่งเป็นประเด็นที่บริษัทฯ ให้ข้อมูลไว้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 65 ถึงกลางปี 66ซึ่งเป็นการปรับลดการลงทุนในภูมิภาคอื่นตามกลยุทธ์เน้นลงทุนใน Focus Country ของบริษัทฯ โดยโครงการทั้ง 2 แห่งยังอยู่ในขั้นตอนพัฒนาปัจจุบันยังไม่เริ่มผลิต ธุรกรรมนี้จึงไม่กระทบต่อโมเมนตัมผลประกอบการ และสมมติฐานปริมาณขาย
เรามองว่าจังหวะเวลาเจรจาซื้อขายแปลงปิโตรเลียมดังกล่าว(ปลายปี 65-กลางปี 66) เป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับ Exit Strategy (ราคาน้ำมันอยู่ระดับสูง) โดยเฉพาะโครงการ Cash-Maple
เบื้องต้นคาดจะบันทึกกำไรพิเศษเข้ามาในไตรมาส 4/66 ทั้งนี้ จำนวนเงินอาจไม่สูงเพราะ Book Value ของโครงการ Cash Maple คาดอยู่ที่ 100-200 ล้านเหรียญฯ(ส่วนโครงการในแองโกลาคาดราคาซื้อขายไม่แตกต่างจาก Book Value มากนัก
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย(บาท/หุ้น) กรุงศรี พัฒนสิน ซื้อ 180.00 ฟิลลิป ซื้อ 175.00 หยวนต้า ซื้อ 165.00 บียอนด์ ซื้อ 195.00 ทิสโก้ ซื้อ 183.00 แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซื้อ 189.00