โพลล์ บลจ.ห่วงการเมืองฉุดศก. ให้น้ำหนักตราสารหนี้,หุ้นใหญ่กลุ่ม Commerce-Med-F&D-Elec

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 5, 2024 17:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (Association of Investment Management Companies ? AIMC) เปิดผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ลงทุนสถาบันไทยต่อมุมมองภาวะเศรษฐกิจ ทิศทางอัตราดอกเบี้ย ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการลงทุน และมุมมองการจัดน้ำหนักการลงทุนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยในภาพรวมมีมุมมองเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศแต่ยังคงกังวลในเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะทรงตัวหรือถดถอยลงได้บ้าง

นางชวินดา หาญรัตนกูล ในฐานะนายก AIMC เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของสมาชิก บลจ.ในช่วงปลายเดือน ธ.ค.66 ต่อมุมมองการลงทุนสำหรับปี 67 สรุปได้ว่าทีมผู้จัดการกองทุนไทยเกือบทั้งหมดมีมุมมองเชิงบวกต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป โดยทิศทางของอัตราดอกเบี้ย ระดับของเงินเฟ้อ และการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP Growth) จะเป็นปัจจัยบวกที่มีอิทธิพลต่อการลงทุนในประเทศ ขณะที่เสถียรภาพทางการเมืองจะเป็นปัจจัยลบที่อาจฉุดรั้งการลงทุนให้ไม่เติบโตอย่างเต็มศักยภาพได้

นอกจากนั้นเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จึงคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 67 จะรักษาระดับอยู่อัตราเดิม (อัตราดอกเบี้ยนโยบายเปลี่ยนแปลงล่าสุด ณ 29 พ.ย. 2566 อยู่ที่ร้อยละ 2.5) หรืออาจมีการปรับลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับร้อยละ 2-2.25 ซึ่งเป็นไปเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาสินค้าควบคู่ไปกับการดูแลเศรษฐกิจในภาพรวมให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ

ส่วนของการจัดน้ำหนักการลงทุนในประเทศนั้น ในภาพรวมทีมผู้จัดการกองทุนมีมุมมองการลงทุนเป็นกลางค่อนไปในทางบวก (Neutral to Overweight) เน้นให้น้ำหนักการลงทุนไปยังสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ โดยเฉพาะตราสารหนี้ระยะปานกลางถึงยาว ส่วนการลงทุนในตราสารทุนจะมีมุมมองเป็นกลางค่อนไปในทางบวก เน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ (Large Cap) เป็นหลัก กลุ่มอุตสาหกรรมในดวงใจคือกลุ่มการค้าพาณิชย์ กลุ่มบริการทางการแพทย์ กลุ่มท่องเที่ยวสันทนาการ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มอิเล็กทรอนิคส์ตามลำดับ

สำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกมีมุมมองเป็นกลาง โดยเน้นการลงทุนในทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานเป็นสำคัญ

นอกจากนั้นทีมผู้จัดการกองทุนยังให้ความสำคัญต่อการลงทุนในรูปแบบความยั่งยืน (ESG Investing) โดยสำหรับการลงทุนในประเทศจะเน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่โดยเฉพาะที่ให้ความสำคัญต่อปัจจัยด้าน สิ่งแวดล้อม รวมถึงการลงทุนในหุ้นรูปแบบผสมผสาน (ESG Equity Blending) รวมทั้งคาดหวังที่จะออกกองทุนที่เน้นลงทุนเพื่อสร้างความยั่งยืนในต่างประเทศรูปแบบ FIF เพื่อนำเสนอให้แก่ผู้ลงทุนไทยให้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ส่วนมุมมองต่อเศรษฐกิจโลกในระยะ 1 ปีข้างหน้านั้น ส่วนใหญ่เชื่อว่าในภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงเช่นเดียวกับการสำรวจมุมมองครั้งก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากอัตราการเติบโตของ GDP ในประเทศเศรษฐกิจหลักที่ส่วนใหญ่ชะลอตัวลง และผลกระทบจากภาวะสงคราม

อย่างไรก็ตาม ทางผู้จัดการกองทุนยังเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยจะค่อยๆทยอยลดระดับลงได้ในระยะถัดไปโดยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.5-4.75 ณ สิ้นปี 67 ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยให้เศรษฐกิจโลกจะปรับตัวได้ดีขึ้นระยะปานกลาง

การจัดน้ำหนักการลงทุนทั่วโลกยังคงเชื่อว่าผลกระทบของเศรษฐกิจโลกไม่เท่ากันในแต่ละภูมิภาค ขณะที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Markets) ทีมผู้จัดการกองทุนมีมุมมองเป็นกลางค่อนข้างไปในทางบวก ในขณะที่มีมุมมองเป็นกลางต่อกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets)

ประเภทสินทรัพย์เพื่อการลงทุนนั้น ในภาพรวมตราสารหนี้มีความน่าสนใจกว่าสินทรัพย์เสี่ยงอื่น โดยให้น้ำหนักไปที่ตราสารหนี้ระยะยาวของสหรัฐอเมริกาและยุโรป ส่วนการลงทุนในหุ้นทั่วโลกมีมุมมองเป็นกลาง (Neutral) โดยกรณีลงทุนจะเน้นลงทุนเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ (Large Cap) ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมากกว่าประเทศตลาดเกิดใหม่เล็กน้อย

สำหรับประเทศที่น่าสนใจลงทุนในหุ้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกาและอินเดีย โดยกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ กลุ่มบริการสื่อสารกลุ่มอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภคทั้งสินค้าพื้นฐานและฟุ่มเฟือย และกลุ่มบริการทางการแพทย์เป็นกลุ่มที่มีความโดดเด่นกว่ากลุ่มอื่น ในส่วนของสินทรัพย์การลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกยังคงให้น้ำหนักปานกลางโดยทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับความสนใจ

อนึ่ง การสำรวจมุมมองผู้ลงทุนสถาบันไทยโดย AIMC นั้น มุ่งหวังให้ผลสำรวจนี้เป็นแนวทาง หลักคิดด้านการออมและลงทุน และช่วยให้ภาพรวมในการจัดแบ่งเงินลงทุน เพื่อที่ภาคธุรกิจ ผู้ลงทุน และประชาชนทั่วไปจะได้ประโยชน์ และสามารถสร้างความยั่งยืนผ่านเงินลงทุนของกิจการหรือของตนเองได้ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ