IAA เก็ง EPS ปี 67 โต 12% ศก.ดี-ดอกเบี้ยโลกลดหนุน SET สิ้นปี 1,590 หุ้นเด่น AOT,CPALL,CPN,GPSC เลี่ยง DELTA

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 8, 2024 17:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

IAA เก็ง EPS ปี 67 โต 12% ศก.ดี-ดอกเบี้ยโลกลดหนุน SET สิ้นปี 1,590 หุ้นเด่น AOT,CPALL,CPN,GPSC เลี่ยง DELTA

นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เปิดเผยผลการสำรวจความเห็นสมาชิกนักวิเคราะห์และผู้ จัดการกองทุนรวม 26 สำนัก เกี่ยวกับมุมมองการลงทุนในไตรมาส 4 ปี 2566 สรุปได้ดังนี้

สมมติฐานหลัก

  • ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยของปีนี้ 80.24 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
  • คาดการณ์การขยายตัวของ GDP ไทยปี 2567 จากเดิมที่ 3.56% (ต.ค.66) ลดลงมาเหลือ 3.33%
  • Risk Free Rate ที่ใช้ในการประเมินมูลค่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.92%
  • Risk Premium ของตลาดหุ้น เฉลี่ยอยู่ที่ 7.68%

สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อทิศทางการลงทุนจนถึงสิ้นปี 2567 แบ่งเป็น

ปัจจัยบวก ที่มีผู้โหวตมาเกินกว่า 50% ของผู้ตอบแบบสอบถาม นำโดย ผลประกอบการของบจ.ปี 67 มีผู้ตอบแบบ สำรวจ 92.59% ปัจจัยรองลงมา 92.31% โหวตให้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกา ตามมาด้วยเศรษฐกิจภายในประเทศ มีผู้ตอบ 85.19% และ Fund Flows จากต่างประเทศสู่ตลาดหุ้นไทย มีผู้ตอบ 66.67% ตามลำดับ

ส่วนปัจจัยด้านลบ นำมาจาก การลดหรือยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของประเทศสำคัญทั่วโลก มีผู้ตอบ 81.48% 80% รองลงมาปัจจัยด้านการเมืองในต่างประเทศ มีผู้ตอบ 71.43% ตามมาด้วยปัจจัยด้านเศรษฐกิจโลก มีผู้ตอบ 59.26% ตาม ลำดับ

ด้านคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ณ สิ้นปี 2567 มีนักวิเคราะห์ถึง 62.50% ที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับเดิม คือ 2.50% รองลงมามี 20.83% ของผู้ตอบ มองว่าจะลงไปที่ 2.25% และมีผู้ตอบ 12.50% มองว่าลงไปที่ 2.00% อย่างไรก็ตามมีผู้ตอบ 4.17% มองสวนทางว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นไปอยู่ที่ 2.75%

คาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ปี 2567 ของตลาดเฉลี่ยที่ 95.62 บาท ปรับลดจากผลสำรวจครั้งก่อน ซึ่งอยู่ ที่ 99.47 บาทต่อหุ้น และคาดว่า EPS Growth ของปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 12.32%

คาดการณ์ SET Index ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 ถูกคาดการณ์ว่าจะขึ้นไปปิดสิ้นไตรมาสแรกที่ 1476 จุด และเมื่อ มองตลอดปี จะแกว่งตัวในกรอบ 1340 ถึง 1612 จุด โดยไปปิดสิ้นปี 2567 ที่ 1590 จุด

นักวิเคราะห์แนะนำให้มีการกระจายพอร์ตการลงทุน แบ่งเป็น

          เงินสดและเงินฝากระยะสั้น         8.96%
          กองทุนตราสารหนี้               25.63%

หุ้นหรือกองทุนหุ้นต่างประเทศ 23.67%

          หุ้นไทยหรือกองทุนหุ้นไทย          22.79%
          กองทุนอสังหาฯหรือ REIT          9.17%
          ทองคำหรือกองทุนทองคำ           8.75%

สินทรัพย์อื่นๆ เช่น Bitcoin ,น้ำมัน 1.03%

ความเห็นต่อการลงทุนต่างประเทศนั้น แนะนำให้ลงทุนกองทุนหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ และ Selective Asia เช่น เกาหลี และเวียดนาม

สำหรับในการลงทุนหุ้นไทยนั้น แนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหมวดธุรกิจ ค้าปลีก อาหาร เงินทุน/หลักทรัพย์ และการท่อง เที่ยว ในขณะที่ให้ลดน้ำหนักการลงทุนใน หมวดธุรกิจก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ รายที่มีหนี้สูง และธุรกิจประกัน

*หุ้นที่นักวิเคราะห์แนะนำตรงกันตั้งแต่ 5 สำนักขึ้นไป (เรียงชื่อตามอักษรย่อ)

1. AOT มองว่าได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวดีขึ้น โดยในปี 2567 คาดนักท่องเที่ยว 34.5-35 ล้านคน จากปี 2566 ที่ 27-28 ล้านคน คาดว่าจะเห็นมาตรการรัฐสนับสนุนเพิ่มเติม และนอกจากผลประกอบการจะฟื้นตัวตามการท่องเที่ยว ยังอยู่ระหว่างศึกษา การปรับขึ้นค่า PSC และการเก็บค่า Transit/Transfer รวมถึงการรอรับโอน 3 สนามบินจากกรมท่าอากาศยาน

2. CPALL โดยได้แรงหนุนจากการท่องเที่ยว High Season และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล Easy E- Receipt ตลอดจนการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึง Digital wallet ในปี 2567 ช่วยหนุนการจับจ่ายใช้สอย

3. CPN โดยมองว่า ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่องเช่นกัน ทั้งยังมี แผนการเปิดโครงการใหม่ในระยะยาว มองเป็นหุ้นที่น่าจะเป็นเป้าของกองทุน ThaiESG

4. GPSC ปัจจัยสนับสนุนจาก Bond Yield ที่ปรับตัวลง และคาดกำไรปี 2567 โต 31% ฟื้นตัวตามค่าไฟที่คาดทยอยปรับ ขึ้น ขณะที่ต้นทุนก๊าซมีแนวโน้มค่อยๆ ลดลง

สำหรับหุ้นที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ หุ้น DELTA เกินมูลค่าปัจจัยพื้นฐานไปมาก และหุ้นรายตัวที่มีภาระกู้ยืมสูง/เพิ่มทุน ท้ายที่สุด

นักวิเคราะห์ยังได้เพิ่มเติมการแนะนำไปยังรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายที่จะมีผลบวกต่อภาวะเศรษฐกิจ มีความคุ้มค่ากับผลกระทบ ทางงบประมาณ โดยส่วนใหญ่กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แยกเป็นการลงทุนภาครัฐที่หนุนศักยภาพการ เติบโตทางเศรษฐกิจ เร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

ถัดมาคือด้านการช่วยเหลือภาคประชนได้แก่ มาตรการลดค่าครองชีพ อย่างไรก็ตามเรื่องนโยบายแจกเงินนั้นอยากให้เปลี่ยน เป็นโครงการกระตุ้นการบริโภค (คล้ายคนละครึ่ง) หรือนโยบายช้อปช่วยชาติ

และตามมาด้วย เสนอนโยบายด้านการช่วยเหลือภาคธุรกิจได้แก่ นโยบายกระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศ เร่งแผนยกระดับ ศักยภาพการผลิตไทย ส่งเสริม FDI ในอุตสาหกรรมใหม่ๆ รวมถึงกระตุ้นการลงทุนเอกชนในประเทศเกี่ยวกับ New technology และ ESG


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ