นายโทนี่ เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แคปปิตอล เอ (Capital A) ซึ่งดำเนินการในชื่อ แอร์เอเชีย ได้ขายหน่วยธุรกิจการบินให้กับแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เพื่อให้เกิดหน่วยธุรกิจที่มุ่งเน้นด้านการบินโดยเฉพาะอย่างแท้จริง โดยรวมสายการบินทั้งระยะไกลและระยะสั้นภายใต้แบรนด์แอร์เอเชีย มั่นใจว่าจะทำให้ธุรกิจการบินได้รับประโยชน์จากการบริหารจัดการที่มีความเฉพาะทาง ตลอดจนทิศทางเชิงกลยุทธ์ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจการบินในการคว้าโอกาสการเติบโต ขยายส่วนแบ่งการตลาด และบรรลุผลกำไรที่เพิ่มขึ้นในท้ายที่สุด
บริษัทได้ทำจดหมายข้อเสนอแบบไม่ผูกมัดกับ แอร์เอเชีย เอ็กซ์ เบอร์ฮาด (AAX) สำหรับข้อเสนอการขายธุรกิจการบินของบริษัท ได้แก่ แอร์เอเชีย เบอร์ฮาด (แอร์เอเชีย มาเลเซีย) และ แอร์เอเชีย เอวิเอชั่น กรุ๊ป (บริษัทในเครือแอร์เอเชียในประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา) การเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของกลุ่มบริษัท และอำนวยความสะดวกในการประเมินมูลค่าธุรกิจที่มุ่งเน้นธุรกิจเป็นศูนย์กลางของหน่วยงานที่แยกจากกัน ซึ่งอาจช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นได้มากขึ้น
"เรามั่นใจว่าการแยกธุรกิจการบินออกจาก Capital A จะมีส่วนทำให้ธุรกิจอื่นๆ ภายในกลุ่มที่ไม่ได้เกี่ยวของกับการบิน ซึ่งปัจจุบันอาจจะยังถูกประเมินค่าในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริงเกินไป จะได้รับการยอมรับในคุณค่าและศักยภาพที่แท้จริงด้วย
ขณะเดียวกันบริษัทของ Capital A ซึ่งรวมถึง Teleport (โลจิสติกส์), Capital A Aviation Services (MRO และ Inflight) และ MOVE digital ก็จะระดมทุน โดยเสนอให้ผู้ถือหุ้นได้เพิ่มหุ้น Capital A ของตน เสริมด้วยหุ้นในกลุ่มการบินที่ขยายใหญ่ขึ้นภายใต้ข้อเสนอ การกระจายหุ้น หลังจากการขายธุรกิจการบิน ผู้ถือหุ้น Capital A จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่แข็งแกร่งทั้งสองแห่ง เราเชื่อว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้จะนำความชัดเจนมาสู่การลงทุน สร้างฐานผู้ถือหุ้นที่มุ่งเน้นมากขึ้น และปลดล็อคมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นของเราในท้ายที่สุด"
การตัดสินใจในครั้งนี้ เพื่อสร้างกิจการที่มีบทบาทที่ชัดเจนสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ให้ข้อมูลที่โปร่งใส มีการประเมินมูลค่าที่ชัดเจนได้ และมีจุดแข็งที่แตกต่างกันของธุรกิจการบิน และธุรกิจที่ไม่ใช่การบิน
มีการประกาศเกี่ยวกับเรื่องนี้ผ่านทางตลาดหลักทรัพย์ Bursa Malaysia โดยหลังจากที่ธุรกิจการบินฟื้นตัวและได้กลับมาให้บริการอีกครั้ง Capital A มุ่งมั่นที่จะนำเสนอแผนการปรับมาตรฐาน PN17 ที่ครอบคลุมภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ดังนั้น Capital A พร้อมทุ่มเทให้กับการสื่อสารที่โปร่งใส และจะให้ข้อมูลโดยละเอียดแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดตลอดกระบวนการนี้
ด้านแอร์เอเชีย เอ็กซ์ (AAX) ประกาศในวันนี้ว่า บริษัทได้ทำหนังสือตอบรับแบบไม่ผูกมัดกับแคปิตอล เอ สำหรับข้อเสนอการเข้าซื้อธุรกิจการบินของบริษัท ได้แก่ แอร์เอเชีย เบอร์ฮาด และแอร์เอเชีย เอวิเอชั่น กรุ๊ป จำกัด
การเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์ดังกล่าวทำให้แอร์เอเชีย เอ็กซ์ กลายเป็นผู้ให้บริการการบินระดับภูมิภาคที่ครอบคลุมสำหรับเส้นทางระยะสั้นและระยะกลางทั้งหมดภายใต้ชื่อแบรนด์แอร์เอเชีย การเข้าซื้อกิจการนี้คาดว่าจะส่งเสริมความมั่นคง สร้างความเข้มแข็ง รวมถึงยกระดับตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งขึ้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพการดำเนินงานเพิ่มขึ้น และช่วยประหยัดต้นทุนและประสิทธิภาพทางการเงินที่ดีขึ้น
การตัดสินใจรวมธุรกิจสายการบินผ่านการซื้อกิจการเหล่านี้ เป็นการใช้ประโยชน์จากเส้นทางการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของแอร์เอเชีย เอ็กซ์ หลังจากได้รับการยกระดับจากสถานะออกจาก Practice Note 17 (PN17) ในเดือนพฤศจิกายน 2566
ดาโต๊ะแฟม ลี อี ประธานบอร์ดแอร์เอเชียเอ็กซ์ (AAX) กล่าวว่า การเข้าซื้อกิจการเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ภายหลังการออกจาก PN17 ของแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ซึ่งจะช่วยหนุนเสถียรภาพทางการเงิน และยกระดับทางการตลาดของเรา การควบรวมกิจการภายใต้แบรนด์แอร์เอเชียในฐานะบริษัทจดทะเบียนเดียว สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเราที่จะใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งที่กลับมา และความเชื่อมั่นของตลาดเพื่อมอบประสบการณ์การเดินทางที่เป็นหนึ่งเดียวแก่ผู้โดยสาร ทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นของเราอีกด้วย
"การใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของทุกสายการบินภายใต้แบรนด์แอร์เอเชีย จะผลักดันองค์กรให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างแท้จริง การทำงานร่วมกันเกิดขึ้นจากการเข้าซื้อกิจการเชิงกลยุทธ์เหล่านี้ และมีความสำคัญมากกว่าแค่การรวมตัวในมิติทางการเงิน หากแต่ยังเป็นสัญลักษณ์ตอกย้ำบทบาทของเราในฐานะผู้บุกเบิกและกำหนดอนาคตของอุตสาหกรรมการบินที่มีศักยภาพมหาศาล และเรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้เริ่มต้นการเดินทางแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้" ดาโต๊ะแฟม ลี อี กล่าว
การประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับการเข้าซื้อกิจการ รวมถึงผลกระทบต่อตัวชี้วัดทางการเงินต่างๆ คาดว่าจะประกาศให้ทราบในเวลาอันใกล้ โดยขึ้นอยู่กับข้อตกลงการซื้อและขายหุ้นขั้นสุดท้ายและความสมบูรณ์ของข้อตกลง
*แอร์เอเชียในไทยยังไม่ควบรวมกิจการ
นายธรรศพลฐ์ แบเลเวิลด์ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่และประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) และประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เปิดเผยว่า ประเด็นข่าวการรวมกันของสายการบินแอร์เอเชีย และแอร์เอเชีย เอ็กซ์ นั้นเป็นแนวคิดจากการปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่มแอร์เอเชีย ในประเทศมาเลเซีย
แต่สำหรับในประเทศไทย ยังไม่มีแผนการควบรวมของสายการบินไทยแอร์เอเชีย (TAA) และไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ (TAAX) แต่อย่างใด
ทั้งนี้ สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยศาลเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการเมื่อ 31 ส.ค.66
นอกจากนั้น กลุ่มสายการบินแอร์เอเชียประกาศแต่งตั้งผู้บริหาร 2 ตำแหน่ง ได้แก่ ดาโต๊ะ กัปตันเชสเตอร์ วู ดำรงตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม (ฝ่ายปฏิบัติการสายการบิน) และนายฟารูค คามาล ดำรงตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม (องค์กร) ผู้บริหารทั้งสองจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดอนาคตของกลุ่มสายการบิน เพื่อเตรียมก้าวเข้าสู่การเติบโต
ดาโต๊ะ กัปตันเชสเตอร์ วู จะเป็นผู้นำฝ่ายปฏิบัติการของสายการบิน โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ การทำงานของสายการบินหลัก ตลอดจนการระบุและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพโดยรวมของสายการบิน ด้วยประสบการณ์ที่พิสูจน์แล้วในอุตสาหกรรมการบิน รวมถึงประสบการณ์กว่า 11 ปีกับแอร์เอเชีย สำหรับประสบการณ์การทำงานก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งผู้นำ รวมถึงในตำแหน่งซีอีโอของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งมาเลเซีย (CAAM)
ด้านนายฟารูค คามาล จะรับผิดชอบหน้าที่ขององค์กร ซึ่งครอบคลุมการเงิน การเงินองค์กร การเช่าเครื่องบิน กฎหมาย นักลงทุนสัมพันธ์ และกลยุทธ์ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่กำกับดูแลการตรวจสอบภายใน และการบริหารความเสี่ยงสำหรับกลุ่มการบินอีกด้วย นายฟารูคมีประสบการณ์ทำงานจากบริษัท Urusharta Jamaah ซึ่งเป็นบริษัทด้านการลงทุน Government Linked Investment Company (GLIC) ซึ่งเขาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุน นอกจากนี้ยังเคยทำงานในวาณิชธนกิจกับ Deutsche Bank, J.P. Morgan และ Credit Suisse อีกทั้งยังเป็นคณะกรรมการของแอร์เอเชีย เอ็กซ์ อีกด้วย
สำหรับทิศทางธุรกิจของแอร์เอเชียในปี 67 กลุ่มบริษัทมุ่งเน้นไปที่การทำงานอย่างแข็งขันเพื่อนำฝูงบินกลับสู่การให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ ปัจจุบินมีเครื่องบินจำนวน 166 ลำที่ปฏิบัติการให้บริการ และมีแผนในการนำเครื่องบินกลับสู่การให้บริการเป็นจำนน 191 ลำภายในไตรมาสแรกของปีนี้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงวิถีการฟื้นตัวที่แข็งแกร่ง กลุ่มสายการบินคาดว่าความสามารถในการขนส่งผู้โดยสารจะทะยานขึ้นเป็น 83% จากช่วงก่อนโควิด ภายในสิ้นไตรมาส 1/67 และจะเติบโตต่อไปในอนาคต