ก.ล.ต.ปรามโบรกฯพารายย่อยเข้า Bitcoin ETF พร้อมย้ำหนุน Investment Token ยื่นแล้ว 10 ราย

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 17, 2024 17:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต.ยังคงเดินหน้าดูแลตลาดสินทรัพย์ดิจ้ทัลอย่างรอบด้าน ซึ่งล่าสุดได้ออกมาแสดงท่าทีที่ชัดเจนต่อการลงทุนใน Bitcoin ETF หลังจากมีโบรกเกอร์บางรายนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ Bitcoin ETF ให้กับลูกค้า

ก.ล.ต.จำเป็นต้องเข้ามาควบคุมในการที่จะมีโบรกเกอร์การพาลูกค้านักลงทุนเข้าไปลงทุนใน Bitcoin ETF โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อย ซึ่งอาจมีความเสียหายเกิดขึ้นได้ ซึ่งการที่โบรกเกอร์จะนำนักลงทุนออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศจะต้องเป็นไปตามเกณฑ์เดียวกับการลงทุนหลักทรัพย์ประเภทอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม ก.ล.ต.มองว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องเร่งสนับสนุนการลงทุน Bitcoin ETF เพราะยังต้องใช้เวลาให้ผู้ลงทุนมีความรู้ความเข้าใจให้มากขึ้นก่อน ซึ่ง ก.ล.ต.ให้ความสำคัญกับประชาชนผู้ลงทุนเป็นสำคัญ ประกอบกับ จะต้องพิจารณาว่าการลงทุนดังกล่าวมีความจำเป็นหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมากกว่า Bitcoin ETF จะได้รับอนุมัติจากก.ล.ต.สหรัฐก็ใช้ระยะเวลาหลายปี ประกอบกับ ก.ล.ต.ยึดหลักการว่าการให้ลงทุนหรือการมี Bitcoin ETF จะสร้างประโยชน์ได้อย่างไร ใครจะได้ประโยชน์บ้าง เป็นองค์ประกอบหลักในการพิจารณา

*หนุน Investment Token ยื่นแล้ว 10 ราย

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัล ก.ล.ต.ต้องการผลักดันการออกผลิตภัณฑ์ Investment Token ใหม่ๆ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เช่น Investment Token ประเภท Green Projects เกี่ยวข้องกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ การปลูกป่า การสร้างป่า และคาร์บอนเครดิต หรือการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น รถ EV พลังงานสะอาด และ Soft Power ที่จะมีตัวอย่างออกมาเร็วๆนี้ ซึ่งอยู่ในแผนการขับเคลื่อนของก.ล.ต.

นายเอนก กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้สนใจออก Investment Token ยื่นก.ล.ต.มาแล้วราว 10 ราย พร้อมกับเปิดโอกาสในการลงทุน Investment Token ของนักลงทุนรายย่อยมากขึ้น โดยการที่จะไม่จำกัดวงเงินในการลงทุน Investment Token ของนักลงทุนรายย่อย ขณะเดียวกัน ก.ล.ต.ยังต้องการยกระดับความเข้มแข็งของธุรกิจให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและคริปโทเคอเรนซี่ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินของผู้ประกอบการ และป้องกันความเสียหายของผู้ลงทุนที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะการยกระดับเงินกองทุนของผู้ประกอบการให้สูงขึ้นจากขั้นต่ำ 15 ล้านบาท เป็น 25 ล้านบาท รวมถึงการเพิ่มคัสโตเดียนรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศ เพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น ไม่ต้องไปใช้คัสโตเดียนต่างประเทศที่มีความเสี่ยงในการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัล โดยที่มีผู้สนใจยื่นใบอนุญาตคัสโตเดียนเข้ามาราว 2-3 รายซึ่งเป็นกลุ่มของสถาบันการเงิน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ