นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล, CISA ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดแกว่งไซด์เวย์ดาวน์ และอ่อนแอกว่าตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียที่เปิดมาผสมผสาน หรือเคลื่อนไหวทั้งในแดนบวกและลบ ตอบรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (บอนด์ยีลด์) ปรับตัวขึ้น และค่าเงินดอลล่าร์แข็งค่า ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง หลังสหรัฐรายงานตัวเลขยอดค้าปลีก ออกมาแข็งแกร่งกว่าคาด ซึ่งทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมี.ค. ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 55% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% จากก่อนหน้านี้ให้น้ำหนักกว่า 60%
ขณะที่ในประเทศยังไม่ได้มีปัจจัยใหม่เข้ามาสนับสนุน แนะให้ติดตามการทยอยประกาศผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์
ให้แนวรับไว้ที่ 1,370-1,360 จุด และแนวต้าน 1,390-1,400 จุด
*ประเด็นพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์ก (17 ม.ค.67)ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 37,266.67 จุด ลดลง 94.45 จุด หรือ -0.25%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,739.21 จุด ลดลง 26.77 จุด หรือ -0.56% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,855.62 จุด ลดลง 88.73 จุด หรือ -0.59%
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดภาคเช้าที่ระดับ 15,301.19 จุด เพิ่มขึ้น 24.29 จุด หรือ +0.16% และดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนเปิดภาคเช้าที่ระดับ 2,822.67 จุด ลดลง 10.95 จุด หรือ -0.39% ขณะที่ ดัชนีนิกเกอิเปิดตลาดที่ระดับ 35,371.25 จุด ลดลง 106.5 จุด หรือ -0.3% หลังจากเปิดตลาด 15 นาที ดัชนีนิกเกอิปรับตัวขึ้น 107.24 จุด หรือ +0.30% สู่ระดับ 35,584.99 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (17 ม.ค.) ที่ 1,380.65 จุด ลดลง 21.07 จุด (-1.50%) มูลค่าซื้อขาย 56,707.53 ล้านบาท
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 5,749.49 ล้านบาท (17 ม.ค.)
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ. (17 ม.ค.) เพิ่มขึ้น 16 เซนต์ หรือ 0.22% ปิดที่ 72.56 ดอลลาร์/บาร์เรล
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (17 ม.ค.) อยู่ที่ 7.91 เหรียญ/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 35.58 อ่อนค่า รับดอลลาร์แข็งค่า-บอนด์ยีลด์เพิ่ม หลังยอดค้าปลีกสหรัฐดีกว่าคาด
- "แบงก์ชาติ" ชี้ปี 67 ถือเป็นปีแห่งการปูพรมตรวจสอบสถาบันการเงิน เข้มกำกับภายใต้ 3 แผนแก้หนี้ครัวเรือนยั่งยืน หวังแบงก์ให้บริการเป็นธรรมมากขึ้น เอื้อแบงก์-นอนแบงก์ปรับโครงสร้างหนี้ ก่อนเป็นหนี้เสีย พร้อมเปิดทางช่วยลูกหนี้ หลุดจากลูกหนี้เรื้อรังให้ปิดจบหนี้ได้ เตรียมเรียกแบงก์ถกเก็บค่าฟี-คิดดอกเบี้ย
- ก.ล.ต. เดินหน้า ขับเคลื่อนแผน "ยกระดับ" ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีมาตรฐานมากขึ้น ทั้งดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำ, กฎขั้นพื้นฐานการลิสต์เหรียญ พร้อมปักหมุด!ผลักดันระดมทุนผ่าน Investment Token โดยเฉพาะกลุ่ม Green Project และ Soft Power
- ผู้ถือหุ้นกู้ "ไอทีดี" มาตามนัดผลประชุมวาระแรกขอผ่อนผัน D/E Ratio ทุกรุ่นผ่านฉลุย ยกเว้น วาระสองเลื่อนกำหนดไถ่ถอนออกไป 2 ปี- เพิ่มดอกเบี้ย ที่เลื่อนชำระผ่านเพียง "4 ทุกรุ่น" ยกเว้นรุ่น ITD254A ไม่ครบองค์ประชุม เตรียมเปิดประชุมชี้ชะตาใหม่ 30 ม.ค.นี้
- "จีน" เผยจีดีพีไตรมาส 4 ปี 2566 พลาดเป้า ส่งผลสะเทือน ตลาดหุ้นแดงตั้งแต่เอเชียยันยุโรป ฉุดตลาดหุ้นเอเชียร่วงถ้วนหน้า ด้านหุ้นไทย ร่วงแรง 22 จุด หวั่นเศรษฐกิจจีนชะลอตัว "กสิกรไทย" ห่วงส่งออก-ท่องเที่ยวตลาดจีน ทรุดตัว "กรุงไทย" ชี้ พิษเศรษฐกิจจีน ฉุดเงินบาทดิ่ง
- "สุดาวรรณ" รมว.การท่องเที่ยวฯ ประกาศเคลื่อน 7 นโยบายหลัก ชูพลังซอฟต์พาวเวอร์ ความปลอดภัย พร้อมยกระดับสู่จุดหมายปลายทางคุณภาพ ปั๊มรายได้ท่องเที่ยว "3.5 ล้านล้าน" ดึงต่างชาติเที่ยวไทย 40 ล้านคน มั่นใจทัวริสต์จีนแตะ 8 ล้าน เผย "กต." เร่งจัดทำข้อตกลงยกเว้นวีซ่าถาวร ไทย-จีน รอประกาศทางการ คาดเริ่มไทม์ไลน์เดิม 1 มี.ค.นี้
- ส.อ.ท. เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า อยู่ที่ระดับ 88.8 ปรับตัวลดลงจาก 90.9 ในเดือน พ.ย. เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ พบว่าปรับตัวลดลงเกือบทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ขณะที่ดัชนีฯ ต้นทุนประกอบการปรับเพิ่มขึ้น
- คปภ. เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจประกันภัยในปี 66 ขยายตัว 4.5% สูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ 2 เท่าตัว มีเบี้ยรับรวม 8.9-9.2 แสนล้านบาท มีกำไรสุทธิของธุรกิจประกันชีวิต อยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านบาท ขณะที่ธุรกิจประกันวินาศภัย อยู่ที่ 1.44 หมื่นล้านบาท และคาดภายในปี 69-70 เบี้ยประกันรวมจะสูงถึง 1 ล้านล้านบาท โดยมีประกันภัยสุขภาพและประกันภัยรถยนต์อีวีเป็นตัวชูโรง
*หุ้นเด่นวันนี้
- CBG (ลิเบอเรเตอร์) "ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 90 บาท คาดกำไรปกติไตรมาส 4/66 จะเพิ่มขึ้นทั้ง q-q และ y-y แรงหนุนจากยอดขายในตลาด CLMV เริ่มฟื้นตัว ผสานราคาต้นทุนบรรจุภัณฑ์และราคาพลังงานปรับลดลง ผสานกับการเริ่มรับรู้รายได้ธุรกิจจัดจำหน่ายเบียร์เป็นไตรมาสแรก ซึ่งถือว่าได้รับการตอบรับที่ค่อนข้างดี เป็นแรงขับเคลื่อนกำไรในปี 67 เติบโตอย่างโดดเด่น
- PRM (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 8.50 บาท คาดกำไรปกติไตรมาส 4/66 +22% q-q (แต่ -30% y-y จากฐานสูง) จาก high season เป็นฤดูการเดินทางท่องเที่ยว ธุรกิจขนส่งน้ำมันจึงดีขึ้น ส่วนเรือขนส่งน้ำมันระหว่างประเทศทั้ง 4 ลำที่ทยอยเข้ามาตั้งแต่ต้นปี เข้าทำงานครบทุกลำและเต็มไตรมาส ส่วนเรือ FSU ดีขึ้นเพราะเรือทุกลำกลับเข้าทำงานและได้ลูกค้าเพิ่มอีก 1 ราย ไตรมาส 4/66 จะมีกำไรพิเศษจากการขายเรือ 1 ลำ และน่าจะมีกำไร FX เพราะบาทแข็งค่า แนวโน้มกำไรปี 67 ดีต่อจากเรือที่ทยอยรับในปี 66 เพิ่ม 4 ลำ รายได้ของ PRM เสี่ยงต่ำเพราะส่วนใหญ่มีสัญญาคงที่ ราคาน้ำมันดิบที่ลงทำให้บริหารต้นทุนง่ายขึ้น
- TKN (คิงส์ฟอร์ด) "ซื้อ" ราคาเป้าหมาย Bloomberg Consensus 12.50 บาท กำไรสุทธิ 9M66 อยู่ที่ 576 ล้านบาท ,+84%YoY ฟื้นตัวดีตามรายได้ขายที่+27%YoY ซึ่งนอกจากจะมีแรงหนุนจากการบริโภคฟื้นตัว PostCovid-19 ในไทย/จีนแล้ว ยังมีปัจจัยเพิ่มเติมจาก การขยายช่องทางจำหนายในสหรัฐฯผ่านทาง COSTCO ด้านการดำเนินงานช่วงถัดไป ผู้บริหารวางเป้ารายได้ปี 67 จะเติบโต +10-15% โดยตลาดต่างประเทศ เช่น จีน อินโดนีเซีย และ สหรัฐฯ ยังมีการเติบโตที่ดี สัดส่วนยอดขายตปท.ที่ 66% สัดส่วนยอดขายไทยอยู่ที่ 34%(จาก 9M66 ที่สัดส่วนตปท. และ ไทยอยู่ที่ 64% และ 36%) ทั้งนี้ตลาดคาดกำไรสุทธิปี 66 และ ปี 67 ของ TKN ที่ 730 ล้านบาท (+68%YoY) และ 814 ล้านบาท (+11%YoY)