หลังจากที่บมจ.ไทยคม (THCOM)ประมูลได้สิทธิวงโคจรตำแหน่ง 119.5 องศาตะวันออก และตำแหน่ง 78.5 องศาตะวันออกเมื่อต้นปี 66 หนุนให้ราคาหุ้น THCOM ดีดตัวขึ้นตอบรับอนาคตสดใส ผู้บริหาร THCOM ให้ความมั่นใจกับอนาคตใหม่ของบริษัทที่เห็นภาพสดใสตั้งแต่ปี 67 และมีธุรกิจ Space Tech ที่จะเป็น S-Curve ใหม่ที่มีโอกาสแทนที่ธุรกิจดาวเทียม
นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THCOM เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า หลังจากที่บริษัทประมูลสิทธิวงโคจรได้แล้ว ลูกค้าก็มีความเชื่อมั่นมากขึ้น และบริษัทประกาศลงทุนดาวเทียมใหม่ตำแหน่ง 119.5 องศาตะวันออก จำนวน 15,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนดาวเทียม 3 ดวง คือดาวเทียมไทยคม 9 และดาวเทียมไทยคม 9A ดาวเทียมไม่ใหญ่รองรับตลาดไปก่อน จะขึ้นสู่วงโคจรปี 68 และลงทุนดาวเทียมไทยคม 10 ความจุ 120 Gbps ขนาดใหญ่กว่าดาวเทียมไทยคม 4 (iPStar) ถึง 3 เท่า ซึ่งจะขึ้นสู่วงโคจรในปี 70
ทั้งนี้ ดาวเทียมไทยคม 10 แม้จะยังไม่ได้เริ่มสร้าง บริษัทได้เซ็นสัญญาขายดาวเทียมไทยคม 10 จำนวน 50% ของความจุทั้งหมด เป็นเวลานาน 16 ปี กับ Eutelsat บริษัทดาวเทียมรายใหญ่จากฝรั่งเศส ซึ่งทำให้บริษัทใกล้ถึงจุดคุ้มทุน (Break Event)ของกรลงทุนดาวเทียมดวงใหม่ จึงรับประกันได้ว่าบริษัทจะไม่ต้องกังวลว่าจะขาดทุนจากการลงทุนดาวเทียมอีก โดยจำนวนอีก 50%ที่เหลือ THCOMวางกลยุทธ์ขายหลังจานี้ เพื่อสร้างกำไรได้ต่อไป
ดาวเทียมไทยคม 10 มุ่งเน้นตลาดไทย อินเดีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งมีความต้องการดาวเทียมบรอดแบนด์สูง โดย 3 ตลาด อินเดีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย มีประชากรรวมกว่า 1,800 ล้านคน
นายปฐมภพ คาดว่ารายได้ของบริษัทในปี 67-69 จะเติบโตมากกว่า 10% จากนั้นในปี 70 จะเติบโตก้าวกระโดดจากดาวเทียมไทยคม 10 ขึ้นสู่วงโคจรซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่จะทำให้รายได้มั่นคง และจะมีกำไรจากการดำเนินการทุกไตรมาส (Core Profit)
นอกจากนี้ THCOM ผลักดันธุรกิจ Space Tech ที่จะเป็น New S-Curve หลักๆ มี 2 ส่วน ได้แก่ (1) ธุรกิจดาวเทียม LEO หรือดาวเทียมวงโคจรต่ำ ที่ล่าสุดจับมือกับบริษัท โกลบอลสตาร์ จำกัดจากสหรัฐอเมริกา ร่วมมือกันพัฒนาโซลูชันและจัดสร้างสถานีภาคพื้นดินวงโคจรต่ำ เพื่อใช้เป็นโครงข่ายในการให้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมในภูมิภาคจากกลุ่มดาวเทียมวงโคจรระดับต่ำ หรือ LEO (Low Earth Orbit Satellite)
และ (2) Earth Insight การวิเคราะห์ภาพถ่ายจากดาวเทียม ที่จะใช้กับหลายๆธุรกิจ โดยบริษัทได้เซ็นสัญญากับสมาคมประกันวินาศภัยไทย ที่เข้าสำรวจพื้นที่ปลูกข้าวที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติ , มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในการประเมินพื้นที่ป่าแปลงมาเป็น Carbon Credit
โดยบริษัทตั้งเป้าหมายแรกจะมีสัดส่วนรายได้ 10% ของรายได้รวม ภายในปี 67-68 จากปัจจุบันมีสัดส่วน 2% และมองว่าในอนาคตรายได้ของธุรกิจ Space Tech อาจจะใหญ่กว่าธุรกิจดาวเทียมก็เป็นได้
https://youtu.be/ZdL6Jt5OjJg