ธนาคารไทยเครดิต (CREDIT) กำหนดช่วงราคาเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ที่ 28.00-29.00 บาท/หุ้น สำหรับบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ บุคคลที่มีความสัมพันธ์ของธนาคารฯ และพนักงานของธนาคารฯ และผู้มีอุปการคุณของธนาคารฯ ระหว่างวันที่ 23-26 ม.ค.67 และสำหรับผู้ลงทุนสถาบันระหว่างวันที่ 31 ม.ค.-2 ก.พ.67 โดยจะสรุปราคาขายสุดท้ายในวันที่ 29 ม.ค.67 และคาดว่าจะนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (SET) วันที่ 9 ก.พ.67
ธนาคารฯ แต่งตั้งผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย 3 ราย คือ บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) บล.บัวหลวง บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) และบริษัทหลักทรัพย์ในฐานะผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายอีก 6 ราย คือ บล.กรุงศรี บล.กรุงศรี พัฒนสิน บล.ดาโอ (ประเทศไทย) บล.พาย บล.ไอร่า บล.เอสบีไอ ไทย ออนไลน์ และตัวแทนจำหน่ายหุ้น 1 ราย คือ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน
ธนาคารจะเสนอขายหุ้นจำนวนไม่เกิน 347,029,122 หุ้น ประกอบด้วย (1) หุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่เกิน 64,705,890 หุ้น คิดเป็นไม่เกิน 5.2% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดภายหลัง IPO (2) หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย OCA Investment Holdings I Pte. Ltd. จำนวนไม่เกิน 282,323,232 หุ้น คิดเป็นไม่เกิน 22.9% รวมทั้งหมดคิดเป็นไม่เกิน 28.1% รวมมูลค่าการเสนอขาย 9,716,815,416-10,063,844,538 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (par) 5 บาทต่อหุ้น มูลค่าตามราคาบัญชี (book value) ณ วันที่ 30 ก.ย.66 ที่ 14.43 บาทต่อหุ้น
ราคาเสนอขายหุ้น IPO พิจารณามูลค่าตามบัญชีของธนาคารฯ ณ วันที่ 30 ก.ย.66 เท่ากับ 16,807.2 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด 1,229,289,222 หุ้น ภายหลังจากการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ จะได้มูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (Book Per Share) เท่ากับ 13.7 บาทต่อหุ้น และอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/B) ประมาณ 2.05-2.12 เท่า
ธนาคารฯ ได้เปรียบเทียบอัตราส่วน P/B ของธนาคารพาณิชย์เทียบเคียงที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 8 ธนาคาร และบริษัทที่ประกอบธุรกิจการให้สินเชื่อที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จำนวน 3 บริษัท BBL (0.58) KBANK (0.53) KKP (0.82) KTB (0.63) BAY (0.61) SCB (0.75) TISCO (1.86) TTB (0.68) MTC (2.66) SAWAD (2.23) TIDLOR (2.34)
วัตถุประสงค์การใช้เงิน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินกองทุนของธนาคารฯ เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับการขยายพอร์ตสินเชื่อ ราว 863-895 ล้านบาท ปรับปรุงและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) และโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Security and Infrastructure) 863-895 ล้านบาท
CREDIT เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย ( Nano and Micro Finance ) และสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี ( Micro SME ) ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าในประเทศไทยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้เท่าที่ควร กลุ่มลูกค้าดังกล่าวมีจำนวนมากและถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมไปถึง บริการเงินฝาก บริการสินเชื่อเพื่อการค้าต่างประเทศ และบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจธนาคารฯ ชูจุดเด่น ธนาคารไทยเครดิต ถือเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มี NIM (Net Interest Margin) สูงสุดในอุตสาหกรรม มีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (Cost to Income Ratio) ต่ำที่สุดในอุตสาหกรรม และอัตราการเติบโตของสินเชื่อสูงสุดในอุตสาหกรรม
นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CREDIT กล่าวในงานให้ข้อมูลแก่นักลงทุน (โรดโชว์) ว่า ธนาคารมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 20-30% ต่อปี และคาดว่ายังมีโอกาสเติบโตอีกเท่าตัวในอีก 3-5 ปีข้างหน้า โดยมูลค่าตลาดของการกู้ยืมในระบบที่ 6.7 ล้านล้านบาท ขณะที่มูลค่าตลาดของการกู้ยืมนอกระบบอยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท จากมูลค่าตลาดขนาดใหญ่ของไมโครเอสเอ็มอีและผู้เข้าไม่ถึงการกู้ยืมในระบบ สะท้อนว่าธนาคารยังมีโอกาสเติบโตอีกมากในอนาคต
ปัจจุบัน โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อของธนาคารประกอบด้วยสินเชื่อไมโครเอสเอ็มอี 67.7% สินเชื่อไมโครและนาโนไฟแนนซ์ 15.3% สินเชื่อบ้านแลกเงิน 15.2% และอื่น ๆ 1.8%
ผลการดำเนินงานปี 63-65 และงวด 9 เดือนแรกของปี 66 ธนาคารฯ มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 6,370.9 ล้านบาท 8,493.6 ล้านบาท 11,052.4 ล้านบาท และ 9,783.8 ล้านบาทตามลำดับ มีกำไรสุทธิ 1,372.9 ล้านบาท 1,935.0 ล้านบาท 2,352.5 ล้านบาท และ 2,816.7 ล้านบาท ตามลำดับ อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROE)เท่ากับ 18.0% 20.7% 18.9% และ 21.8% ตามลำดับ
เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ของธนาคารฯ มีจำนวนเท่ากับ 68,562.4 ล้านบาท 97,728.7 ล้านบาท 121,298.0 ล้านบาท และ 138,435.1 ล้านบาท ตามลำดับ อัตราเติบโตโดยเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 33.0% ต่อปี (63-65) โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเติบโตในทุกกลุ่มสินเชื่อหลักของธนาคารฯ ทั้งสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี สินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย และสินเชื่อบ้าน
นายกนต์ธีร์ ประเสริฐวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยว่า CREDIT โชว์ศักยภาพธนาคารที่มีความมั่นคง และการมีผลการดำเนินงานที่โดดเด่น โดย ธนาคารไทยเครดิตมีอัตราการเติบโตของเงินให้สินเชื่อสูง ผลิตภัณฑ์และจำนวนลูกค้าสินเชื่อของธนาคารฯ มีการขยายตัว มีผลตอบแทนสูง ด้วยโครงสร้างเงินทุนที่ต้นทุนต่ำ เป็นธนาคารพาณิชย์ที่เสนอขายหุ้น IPO ในรอบ 10 ปี
ทั้งนี้ ธนาคารไทยเครดิต มีนักลงทุนสถาบันทั้งไทยและต่างประเทศสนใจเข้ามาลงทุนธนาคารไทยเครดิต รูปแบบผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors รวมจำนวน 6 ราย คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณไม่เกิน 140,352,490 หุ้น ที่ราคาเสนอขายสุดท้าย หรือคิดเป็นประมาณ 40% ของจำนวนหุ้น IPO ทั้งหมด สะท้อนความเชื่อมั่น ประกอบด้วยผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors ที่จองซื้อในประเทศ จำนวนประมาณไม่เกิน 23,646,600 หุ้น คือ
1. บลจ.เอ็มเอฟซี (MFC)
2. บลจ.ทาลิส
3. บลจ.อเบอร์ดีน (ประเทศไทย)
ส่วนหุ้นที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors ที่จองซื้อในต่างประเทศ จำนวนประมาณไม่เกิน 116,705,890 หุ้น
1.บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation (IFC))
2.ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank)
3.E.SUN Commercial Bank, Ltd.