เจ.พี.มอร์แกน มองบวกให้ Overweight ตลาดหุ้นไทยเก็งแตะ 1,700 ชูมาตรการคลัง-ท่องเที่ยว-บาทแข็ง-ดิจิทัลวอลเล็ตหนุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 26, 2024 15:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เจ.พี.มอร์แกน มองบวกให้ Overweight ตลาดหุ้นไทยเก็งแตะ 1,700 ชูมาตรการคลัง-ท่องเที่ยว-บาทแข็ง-ดิจิทัลวอลเล็ตหนุน

เจ. พี. มอร์แกน เผยมุมมองต่อตลาดหุ้นไทยในระหว่างการประชุม J.P. Morgan Thailand Conference ที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ยังคงเป็นการ "เพิ่มน้ำหนักการลงทุน" (Overweight) จากแนวโน้มมาตรการผ่อนคลายทางการคลัง การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมไปถึงเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น และโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลของภาครัฐ นอกจากนี้คาดการณ์ว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) จะสูงขึ้นแตะ 1,700 ภายในสิ้นปีนี้ จากระดับปัจจุบันที่ 1,418 จุด

ทั้งนี้ จากข้อมูลของธนาคาร แนวโน้มหลังการเลือกตั้งอาจทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตถึง 3.7% ในปี 67 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่ประเทศไทยมีการเติบโตสูงกว่าอัตราการเติบโตทั่วโลก บวกกับแนวโน้มมาตรการผ่อนคลายทางการคลังที่ชัดเจนของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (U.S. Federal Open Market Committee: FOMC) ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 เจ. พี. มอร์แกน ได้ตั้งเป้าหมายพื้นฐานที่ 550 สำหรับดัชนี MSCI Thailand ซึ่งในอดีตให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 10% ถึง 11% ในช่วงหนึ่งถึงสามเดือนหลังจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก

นายมาร์โค สุจริตกุล เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสประจำประเทศไทยของเจ. พี. มอร์แกน กล่าวว่า "เรามีความมั่นใจในตลาดไทยแม้ว่าสภาวะการเงินโลกจะยังค่อนข้างตึงตัว เราคาดว่าตลาดไทยจะมีความพร้อมจากหลายปัจจัย เช่น การเติบโตของ GDP ที่เข้มแข็ง และการมีบัญชีเดินสะพัดเกินดุลที่ดี ซึ่งจะช่วยให้สามารถต้านแรงจากทิศทางตลาดโลกได้"

บัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขการค้าที่ดีขึ้น ราคาน้ำมันและค่าขนส่งที่ลดลง ความสมดุลของสินค้าหลักที่มั่นคง บวกกับการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ธนาคารเจ. พี. มอร์แกนคาดการณ์ว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเพิ่มขึ้น จาก 0.8% ของ GDP ในปี 66 เป็น 4.1% ของ GDP ในปี 67

นายมาร์โค กล่าวเสริมว่า "การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจะช่วยปรับปรุงการจ้างงานของภาคบริการต่อไป ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตของรายได้ในระดับปานกลาง โดยโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลมูลค่า 5 แสนล้านบาท รวมไปถึงนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายอื่น ๆ ของภาครัฐ หากประสบความสำเร็จ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ค้าปลีกในประเทศไทยอย่างครอบคลุม"

ในปีที่ผ่านมา ได้มีเงินทุนไหลออกจากตลาดมากกว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม คาดว่ากระแสเงินทุนต่างชาติที่ไหลออกจะถึงจุดต่ำสุดในปี 67 เนื่องจากโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในด้านนโยบายการคลัง

นายราจีฟ ภัทร นักยุทธศาสตร์ด้านหุ้นในเอเชียและหัวหน้านักยุทธศาสตร์ด้านหุ้นอาเซียนของเจ. พี. มอร์แกน กล่าวว่า "แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถหลีกหนีจากภาวะถดถอยในปีนี้ได้ แต่ความเสี่ยงของการชะลอตัวในปี 2567 ยังคงเพิ่มสูงขึ้น"

นายราจีฟ กล่าวเสริมว่า "ในมุมมองของเรา ตลาดหุ้นอาเซียนอาจมีการปรับตัวลดลง ในขณะที่การไหลออกของเงินทุนต่างประเทศยังคงมีความเป็นไปได้อย่างสูง อย่างไรก็ตามจุดยืนของนักลงทุนต่างชาติไม่น่าส่งผลกระทบหนักถึงขั้นเงินทุนไหลออกนอกประเทศในระดับสูง นักลงทุนควรมุ่งเน้นไปที่หุ้นและอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพที่มีปัจจัยเฉพาะตัวที่จะสามารถช่วยชดเชยแรงต้านจากภาวะเศรษฐกิจโลกได้"

นายจักรพันธ์ พรพรรณรัตน์ หัวหน้าสายงานวิจัยหลักทรัพย์ของเจ. พี. มอร์แกน กล่าวว่า "ในส่วนของอุตสาหกรรมภายในประเทศ ธนาคารเจ. พี. มอร์แกน มีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับหุ้นในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค หมวดสินค้าฟุ่มเฟือย และหมวดสาธารณูปโภค"

นายจักรพันธ์ กล่าวปิดท้ายว่า "ประเทศไทยกำลังก้าวไปอีกขั้นในการดึงดูดกระแสการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะคิดเป็นประมาณ 16% ของการผลิตยานยนต์ต่อปีทั้งหมดในประเทศไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ