Decrypto: จากคริปโทฯ เป็นกู้เงิน ได้อย่างไร?

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 29, 2024 14:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรณีมหากาพย์ Zipmex ปัจจุบัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้สรุปคดีและส่งต่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รับไปดูแลเป็นคดีพิเศษเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งนอกเหนือจากความผิดตาม พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ ก.ล.ต. ได้เปรียบเทียบปรับ Zipmex และกรรมการแล้วนั้น อีกความผิดหนึ่ง คือ "ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน" ซึ่ง DSI จะสอบสวนข้อเท็จจริงและเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ผู้เสียหายหรือประชาชนทั่วไปอาจไม่คุ้นเคยหรือทราบว่า เหตุใดการซื้อหรือเก็บสินทรัพย์ดิจิทัลไว้กับศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแล้วท้ายที่สุดกลายเป็นการให้กู้หรือกู้ยืมเงินไปได้อย่างไร?

ความผิดฐาน "ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน" นั้นเป็นความผิดตาม พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มีความมุ่งหมายเพื่อเอาผิดผู้ที่ลวงประชาชนที่หวังจะได้ดอกเบี้ยในอัตราสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ ให้นำเงินมาเก็บไว้กับตนด้วยวิธีการจ่ายดอกเบี้ยในอัตราสูงหรือผลประโยชน์อย่างอื่นเป็นการล่อใจ และในท้ายที่สุดก็ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามคำชักจูงได้

ลักษณะของ "การกู้ยืมเงิน" โดยคราวนั้นคือ "ผู้กู้ยืมเงินหรือบุคคลอื่น" การรับเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด และรับจ่ายหรือจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน เช่น เงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดแก่ "ผู้ให้กู้ยืมเงิน" จึงมีลักษณะใกล้เคียงกันกับผลิตภัณฑ์ ZipUp หรือ ZipUp+ ที่มีการให้โบนัสหรือดอกเบี้ยกับผู้ฝากหรือผู้ที่เก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลไว้กับ Zipmex ไว้นั่นเอง

และความพิเศษของกฎหมายฉบับนี้ที่น่าสนใจประการหนึ่ง คือ กฎหมายได้ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในกรณีหากมี "เหตุอันควรเชื่อ" ว่า ผู้กู้ยืม (Zipmex และ/หรือ กรรมการ) มีทรัพย์สินไม่พอชำระหนี้สิน และพนักงานเจ้าหน้าที่ "เห็นสมควร" ให้มีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้นั้นไว้ก่อน เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนผู้ให้กู้ยืม ก็อาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้นั้นไว้ก่อนได้ถึงเก้าสิบวัน และเมื่ออัยการได้ฟ้องผู้กระทำความผิด (ผู้กู้) และผู้ให้กู้ได้ร้องขอเรียกเงินต้นคืนก็ให้คำสั่งยึดหรืออายัดดังกล่าวมีผลต่อไป (เรื่อย ๆ) จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

เห็นได้ว่าเครื่องมือทางกฎหมายดังกล่าวจะเป็นประโยชน์อย่างมาก ด้วยเพราะกรณีดังกล่าวมีความเสียหายสูงและมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างรอบด้านเคร่งครัดอาจช่วยเยียวยาความเสียหายไม่มากก็น้อย

แม้ข้อหาหรือฐานความผิดดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความสับสนแก่ผู้เสียหายหรือประชาชนทั่วไป แต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงและการดำเนินคดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดข้อหาเพื่อดำเนินการเอากับผู้กระทำความผิดดังกล่าว จึงถือเป็นความคืบหน้าที่มีประโยชน์ต่อผู้เสียหายเป็นอย่างมาก

แต่อย่างไรก็ตาม ก็เป็นที่น่าติดตามว่า DSI รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคดีอื่น ๆ จะใช้เครื่องมือทางกฎหมายได้เข้มงวดและ ช่วยเหลือ ปกป้องประโยชน์ของประชาชนผู้เสียหายได้มากน้อยเพียงใด

นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์

อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ