บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ประกาศงบไตรมาส 4/66 พรุ่งนี้เล็งกำไรช่วง 1.62-1.79 หมื่นล้านบาท อ่อนตัวลง QoQ ถูกกดดันจากรายการพิเศษ การตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ของโครงการ Mozambique LNG จากการเลื่อนกำหนด COD จากปี 70 ไปเป็นปี 71 แต่คาดเติบโต YoY จากไตรมาส 4/65 หลังรับรู้กำไรพิเศษจากการขายโครงการสำรวจ Cash & Maple ในไตรมาส 4/66 และจะส่งผลดีต่อผลประกอบการทั้งปี 66
บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) คาดว่า PTTEP จะรายงานกำไรสุทธิไตรมาส 4/66 ที่ 1.74 หมื่นล้านบาท (+11% YoY, -4% QoQ) การเพิ่มขึ้น YoY และลดลง QoQ มีสาเหตุหลักมาจากการขาดทุนจากการด้อยค่าที่คาดการณ์ไว้ที่ประมาณ 125 ล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาส 4/66 เกิดจากการเลื่อน COD ของโครงการโมซัมบิกไป 1 ปี เป็นครึ่งแรกของปี 71 แม้ว่าบริษัทจะบันทึกกำไรพิเศษประมาณ 60 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการขายโครงการสำรวจปิโตรเลียม Cash & Maple ออกไป แต่หากไม่รวมรายการพิเศษ คาดว่ากำไรจากธุรกิจหลักจะลดลง YoY และ QoQ เนื่องจากต้นทุนต่อหน่วยที่สูงขึ้นและราคาน้ำมันดิบที่ลดลง
อย่างไรก็ตาม ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 66 ขึ้น 3% เป็น 7.58 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะสูงเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากเพิ่มกำไรพิเศษประมาณ 60 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการขายโครงการสำรวจ Cash & Maple ในไตรมาส 4/66 และปรับประมาณการกำไรปี 67 ขึ้นอีก 1% เป็น 6.4 หมื่นล้านบาท และ 5.51 หมื่นล้านบาทในปี 68 จากการลงทุนล่าสุดในโครงการลม
คงอันดับเครดิต Neutral ของ PTTEP ด้วยราคาเป้าหมายปี 67 ไม่เปลี่ยนแปลงที่ 165.00 บาท อิงตามวิธี DCF โดยมี WACC ที่ 8.8% และ Terminal Growth ที่ 1.0% นอกจากนี้ยังมีมุมมองเชิงบวกเล็กน้อยต่อรัฐบาลไทยในการเจรจาใหม่เกี่ยวกับข้อเรียกร้องที่ทับซ้อนกัน พื้นที่ (OCA) ระหว่างไทยและกัมพูชา แต่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น สำหรับธุรกิจ E&P โดยปกติจะใช้เวลา 7-10 ปีตั้งแต่ระยะสำรวจจนถึงขั้นตอนการผลิต
บล.บียอนด์ คาด PTTEP จะมีกำไรสุทธิในไตรมาส 4/66 ที่ 1.79 หมื่นล้านบาท ลดลง 1.3% QoQ แต่เพิ่มขึ้น 14.5% YoY จาก 1. ปริมาณการขายที่สูงขึ้นเป็น 4.77 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน (kboed) เพิ่มขึ้น 2% QoQ จาก 4.67 kboed ในไตรมาส 3/66 โดยได้แรงหนุนจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นจากโครงการผลิตปิโตรเลียมในแปลงสำรวจ G2/61 หลังจากการปิดซ่อมบำรุงในไตรมาส 3/66 และ B8 หลังจากการปิดระบบโดยไม่ได้วางแผนในเดือนมี.ค.ถึง 23 ต.ค.
2. ราคาน้ำมันดิบที่แข็งแกร่งอยู่ที่ 82 เหรียญฯ/บาร์เรล และราคาก๊าซที่ 6 เหรียญฯ/MMBTU
3. ต้นทุนต่อหน่วยที่ลดลงที่ 28-29 เหรียญฯ/บาร์เรล จาก 29.12 เหรียญฯ/บาร์เรล ในไตรมาส 3/66 โดยมีสาเหตุหลักมาจาก OPEX ที่ลดลง เนื่องจากการหยุดซ่อมบำรุงที่ลดลง
4. ผลขาดทุนจากการดำเนินงานรวม 65 ล้านเหรียญสหรัฐ จากรายการที่ไม่เกิดซ้ำหลายรายการ
ด้าน บล.ยูโอบีฯ คาดกำไรสุทธิไตรมาส 4/66 อยู่ที่ 1.65 หมื่นล้านบาท ลดลง 9% QoQ เป็นผลมาจากการรับรู้ผลขาดทุนจากรายการพิเศษเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/66 เป็นผลมาจาก 1.Impairment โครงการ LNG ในประเทศโมซัมบิก อยู่ที่ 4.5 พันล้านบาท 2. write-off โครงการ Oliver ในประเทศออสเตรเลีย อยู่ที่ 1.8 พันล้านบาท 3. กำไรจากการขายเงินลงทุนในโครงการ Cash-Maple ในประเทศออสเตรเลีย อยู่ที่ 2.3 พันล้านบาท 4. Hedging gain จำนวน 358 ล้านบาท และ 5. กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 173 ล้านบาท
แต่กำไรปกติแข็งแกร่ง หากไม่รวมผลขาดทุนจากรายการพิเศษ โดยคาดว่าบริษัทจะมีกำไรปกติ 4/66 อยู่ที่ 1.98 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% QoQ เป็นผลมาจากราคาขายเฉลี่ยผลิตภัณฑ์ทรงตัว อยู่ที่ 48.7 เหรียญต่อบาร์เรล จากราคาขายก๊าชที่ปรับเพิ่มขึ้น 2% จากการปรับราคาขายก๊าชของแหล่งผลิตในประเทศช่วงเดือน ต.ค.66 เพียงพอชดเชยราคาน้ำมันดิบที่ลดลง 4%, ยอดขายรวมอยู่ที่ 4.77 แสนบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 2% QoQ จากโครงการบงกช โครงการ Malaysia-Thailand Joint Development Area (MT JDA) และโครงการในประเทศแอลจีเลีย อีกทั้งต้นทุนผลิตทรงตัว QoQ อยู่ที่ 28.8 เหรียญต่อบาร์เรล
ปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 66 เพิ่มขึ้น 3% เพื่อสะท้อนผลของรายการพิเศษที่เกิดขึ้น ทำให้คาดกำไรสุทธิอยู่ที่ 7.49 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% YoY
ส่วน บล.เอเซีย พลัส ฝ่ายวิจัยคาดการณ์กำไรสุทธิงวดไตรมาส 4/66 เท่ากับ 1.75 หมื่นล้านบาท ปรับตัวลดลง 3% QoQ ถูกกดดันจากรายการพิเศษที่ในงวดนี้สุทธิเป็นค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ราว 3 พันล้านบาท จากงวดก่อนหน้าที่เป็นค่าใช้จ่ายพิเศษสุทธิ 2 พันล้านบาท เป็นผลมาจาก 1. การตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ (impairment) ของโครงการ Mozambique LNG (PTTEP ถือหุ้น 8%) ราว 4.5 พันล้านบาท เนื่องจากโครงการจะมีการเลื่อนการผลิตเชิงพาณิชย์ออกไปอีก 1 ปี จากล่าสุดที่กำหนดไว้ในปี 70 ไปเป็นปี 71 (ซึ่งในครั้งนี้จะเป็นการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ครั้งที่ 3 โดยครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในปี 64 ที่ 163 ล้านเหรียญฯ และครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในปี 65 ที่ 190 ล้านเหรียญฯ ส่งผลให้โครงการ Mozambique LNG จะมีมูลค่าสินทรัพย์ตามบัญชีเหลืออยู่ปัจจุบันราว 2.5-2.6 พันล้านเหรียญฯ จากมูลค่าตอนเข้าซื้อที่ราว 2.0 พันล้านเหรียญฯ และมีการใช้เงินลงทุนไประหว่างทางอีกประมาณ 600-700 ล้านเหรียญฯ รวมมูลค่าสุทธิก่อนหักด้อยค่าจะอยู่ราว 2.6-2.7 พันล้านเหรียญฯ หรือราว 7.8-8.3 หมื่นล้านบาท)
2. การตัดจำหน่าย (write-off) โครงการ Oliver ในออสเตรเลียคิดเป็นมูลค่าราว 1.8 พันล้านบาท หลังจาก PTTEP มีการขายโครงการ Cash & Maple ไป ทำให้คาดการพัฒนาโครงการ Oliver จะไกลออกไปอีก ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอน exploration phase (โดยมูลค่าทางบัญชีหลัง write-off จะเหลือราว 30 ล้านเหรียญฯ)
อย่างไรก็ตาม ได้รับอานิสงส์จากรายได้พิเศษที่มาช่วยชดเชยค่าใช้จ่ายพิเศษที่เกิดขึ้นในไตรมาส 4/66 ไว้ได้บ้างจากบันทึกกำไรจากการขายโครงการ Cash & Maple ราว 2.3 พันล้านบาท, บันทึกกลับเป็นกำไรจาก Fx ราว 452 ล้านบาท จากงวดก่อนหน้าที่บันทึกขาดทุนจาก Fx 197 ล้านบาท, บันทึกกำไรจากค่าเงินริงกิตที่แข็งค่าขึ้นราว 175 ล้านบาท และบันทึกกำไรจาก Oil Price Hedging 356 ล้านบาท จากงวดก่อนหน้าที่บันทึกขาดทุนจาก Oil Price Hedging 665 ล้านบาท
แต่หากตัดรายการพิเศษ พิจารณาเฉพาะกำไรจากการดำเนินงานปกติงวดไตรมาส 4/66 คาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 2.1% QoQ มาอยู่ที่ 2.05 หมื่นล้านบาท รับผลบวกจากทั้งปริมาณขายที่คาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.77 จาก 4.67 แสนบาร์เรลต่อวัน หลักๆ เนื่องจากโครงการ G2/61 กลับมาผลิตเป็นปกติ หลังจากงวดไตรมาส 3/66 มีหยุดซ่อมบำรุงเป็นเวลา 32 วัน และโครงการ Contract 4 และ JDA มีจำนวนโหลดคอนเดนเสทเพิ่มขึ้น ถึงแม้โครงการ SABA-K และ SABA-H จะมีจำนวนโหลดน้ำมันดิบลดลงรวมถึงโครงการ PDO Block 6 และ Oman Block 61 กลับมาโหลดน้ำมันปกติ ไม่ได้ยกยอดมาจากไตรมาส 2/66 เช่นที่เกิดขึ้นในไตรมาส 3/66
ส่วนกำลังการผลิตโครงการ G1/61 ยังอยู่ที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ใกล้เคียงกับในงวดที่ผ่านมา โดยจะค่อยเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ตามเป้าหมายที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในวันที่ 1 เม.ย.67 รวมถึงได้รับผลบวกจากราคาขายเฉลี่ยผลิตภัณฑ์ (น้ำมัน+ก๊าซฯ) ที่คาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 49.2 จาก 48.6 เหรียญฯต่อบาร์เรล(ภายใต้สัดส่วนการขายก๊าซฯและน้ำมันที่ 70% และ 30% ตามลำดับ) ซึ่งเป็นผลมาจากราคาขายน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 82.4 จาก 81.9 เหรียญฯต่อบาร์เรลและราคาขายก๊าซฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 5.85 จาก 5.75 เหรียญฯต่อล้านบีทียู
แต่ผลบวกดังกล่าวถูกหักล้างบางส่วนจากต้นทุนรวมที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากโดยปกติจะมีค่าใช้จ่ายพิเศษ one-time adjustment เกิดขึ้นในการปรับปรุงงบปลายปี แต่เมื่อคิดเป็นต้นทุนต่อหน่วยพบว่าจะใกล้เคียงกับงวดก่อนหน้าที่ 29.1เหรียญฯต่อบาร์เรล เนื่องจากปริมาณการผลิตและขายในงวดไตรมาส 4/66 เพิ่มขึ้น โดยรวมแล้วคาดกำไรปกติและกำไรสุทธิ ปี 66 จะอยู่ที่ 7.6 และ 8.0 หมื่นล้านบาท ลดลง 9.3% yoy และเพิ่มขึ้น 7.2% yoy ตามลำดับ และอยู่ในกรอบที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้
บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ คาดกำไรไตรมาส 4/66 ของ PTTEP จะลดลง 104% QOQ (แม้เพิ่มขึ้น 3.8% YoY) สู่ 1.62 หมื่นล้านบาท โดยขาดทุนจากรายการพิเศษ (ขาดทุนจากการด้อยค่าของโครงการ Mozambique LNG จากการเลื่อนกำหนดเริ่มดำเนินการจากปี 70 เป็นปี 71 แต่จะได้รับการชดเชยบางส่วน โดยกำไรจากการป้องกันความเสี่ยงราคาน้ำมันและการขายสินทรัพย์ กำไรจากการดำเนินงานปกติคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5% QoQ จากปริมาณการขายที่สูงขึ้นและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ลดลง เนื่องจากค่าซ่อมบำรุงลดลง
คาดปริมาณการขายจะเพิ่มขึ้น 2% QoQ สู่ระดับสูงสุดของปี 66 ที่ 4.77 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะส่งผลทำให้ปริมาณการขายเต็มปีอยู่ที่ 4.62 แสนบาร์เรลต่อวัน สอดคล้องกับเป้าหมายล่าสุดของบริษัท โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากปริมาณการขายก๊าซที่เพิ่มขึ้นที่โครงการ G2/61 (บงกช) หลังจากปิดซ่อมบำรุง ปริมาณการขายคอนเดนเสทที่เพิ่มขึ้นจากโครงการ Contract-4 และ JDA ก็ช่วยหนุนให้ปริมาณการขายโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ถูกลดทอนลงโดยปริมาณการขายที่ลดลงที่โครงการในมาเลเซียและตะวันออกกลาง
EBITDA margin จะยังสูงกว่า 75% เราประเมินราคาขายเฉลี่ยได้ที่ 48.54 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล (-0.2% QoQ) โดยมีต้นทุนต่อหน่วยที่ 29 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล (-0.8% QoQ) ซึ่งจะทำให้ PTTEP สามารถรักษา EBITDA margin ที่ >75% เอาไว้ได้ในไตรมาส 4/66 การหยุดซ่อมบำรุงน้อยลงจะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลงผ่านทางค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ลดลง