นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า ธนาคารธนาคารตั้งเป้าขยายการเติบโตสินเชื่อรวมในปี 67 เติบโต 3% ภายใต้การบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ พร้อมกับการเน้นการจัดการและบริหารคุณภาพสินทรัพย์ ตลอดจนขยายผลจากแพลตฟอร์มบริการดิจิทัลของกลุ่มธุรกิจ เช่น Digital Edge และ Dime เพื่อการเข้าถึงและส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า หลังจากผลประกอบการของธนาคารในปี 66 กำไรปรับลดลงจากธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ลูกค้าได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและภาวะดอกเบี้ย ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของราคารถยนต์
แนวโน้มทิศทางพัฒนาการตลาดเงินและตลาดทุนของโลกชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจในปัจจุบันได้ใช้ช่องทางที่หลากหลายในการระดมทรัพยากรมาใช้ ไม่จำกัดอยู่แต่เพียงสินเชื่อ ดังนั้น กลุ่มธุรกิจของ KKP จึงมุ่งพัฒนาต่อยอดธุรกิจบน 3 แกนหลัก คือ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งและบริหารการลงทุนลูกค้าบุคคล และธุรกิจวาณิชธนกิจ เพื่อสร้างการเติบโตที่เข้มแข็งจากหลายช่องทาง และมีความยืดหยุ่นรองรับพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปตามการเข้าถึงข้อมูล เทคโนโลยี และกฎระเบียบ
สำหรับธุรกิจธนาคารพาณิชย์จะเป็นฐานของรายได้ที่เติบโตตามขนาดของ Balance Sheet จึงต้องมุ่งระดมเงินฝากเพื่อตอบสนองต่อความต้องการขยายสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งและบริหารการลงทุนลูกค้าบุคคล และธุรกิจวาณิชธนกิจ จะมุ่งยกระดับการให้บริการให้ทัดเทียมสากล เพื่อสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียม ที่เป็นการใช้เงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพและมีความเสี่ยงด้านเครดิตต่ำ
นายอภินันท์ กล่าวว่า ภาพรวมของผลการดำเนินงานในปี 67 คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวขึ้นจากปีก่อนที่หดตัวลง เนื่องจากแรงกดดันจากผลขาดทุนรถยึดคาดว่าจะลดลงตามปริมาณสต็อกที่จะทยอยลดลงจากสิ้นปี 66 อยู่ที่ 4,500 คัน และธนาคารตั้งเป้าทยอยขายออกไปในไตรมาส 1/67 ให้ลดลงเหลือ 3,500 คัน ซึ่งจะกลับเข้าสู่ระดับปกติ
ขณะเดียวกันแรงกดดันจากการตั้งสำรองฯสูงก็คาดว่าจะเริ่มลดลงด้วยเช่นกัน หลังจากปี 66 ธนาคารตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 1 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการตั้งสำรองลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่งมูลหนี้ 600 ล้านบาท ประกอบกับในปี 67 ธนาคารยังคงควบคุมการให้สินเชื่อเข้มงวดและระมัดระวังมากขึ้น โดยจะเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อและความสามารถชำระหนี้สูง เช่น สินเชื่อบ้าน จะเน้นการปล่อยกลุ่มบ้าน 5-7 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มศักยภาพที่ไม่ค่อยมีผลกระทบในเรื่องดอกเบี้ยสูง และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ปีนี้จะผ่อนลงเพื่อควบคุมคุณภาพลูกค้าในพอร์ต ซึ่งยังคงเป็นกลุ่มลูกค้าที่ส่งผลต่อทิศทางของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในปี 67 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาที่ 3.5-3.7% จากปีก่อนที่ 3.2%
ส่วนกลุ่มลูกค้าธุรกิจจะเข้มงวดในด้านเครดิตและประวัติการใช้แหล่งเงินทุน ซึ่งจะพิจารณาในเรื่องของแหล่งเงินทุนของลูกค้าที่ใช้หรือที่คงค้างอยู่มาประเมินการพิจารณาสินเชื่อ โดยระมัดระวังการให้สินเชื่อกับธุรกิจที่มีการออกหุ้นกู้มากเกินไป และใช้เงินจากหุ้นกู้ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ รวมถึงพิจารณาในเรื่องเครดิตของลูกค้าประกอบด้วย
ด้านต้นทุนการให้สินเชื่อ (Credit Cost) ในปี 67 ตั้งเป้าลดลงมาที่ 2.5-2.7% จากปี 66 ที่ 3% ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรดีขึ้น ซึ่งจะเน้นไปที่กลุ่มที่มีความสามารถในการชำระหนี้ที่สูง และไม่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงเช่นกัน ทำให้การให้สินเชี่อมีต้นทุนความเสี่ยงที่ลดลง และยังมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่สูง ซึ่งส่งผลทำให้ Credit Cost เพิ่มขึ้น
"ปีนี้เรามาโฟกัสควบคุมคุณภาพของพอร์ตให้ดี คงไม่ได้เติบโตมากระดับ 2 หลัก เหมือนปี 2021-2022 ซึ่งเราเห็นแล้วว่าจุดไหนที่เราพลาดบ้าง ก็นำมาปรับปรุงแก้ไข ทำให้พอร์ตเราดีขึ้น เพื่อมีผลงานที่ดีและยังให้ผลตอบแทนกับผู้ถือหุ้นและนักลงทุนั่ดีด้วยเช่นกัน" นายอภินันท์ กล่าว
ด้านธุรกิจตลาดทุนมองว่าผลกระทบจากภาวะของตลาดหุ้นที่ไม่ดี โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทย เป็นปัจจัยกดดันธุรกิจโบรกเกอร์ของ KKP ในปี 67 แต่เชื่อว่ามีโอกาสเห็นการฟื้นตัว แม้ยังเผชิญกับความท้าทายเรื่องความผันผวนของปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากระทบ ซึ่งปัจจุบันเริ่มเห็นลูกค้ารายใหญ่ที่มีเงินทุนในการลงทุนสูงเริ่มกลับมาลงทุนมากขึ้น จากที่ปีก่อนชะลอไป
ส่วนการให้บริการด้านการลงทุนต่างประเทศ ยังเห็นการเติบโตต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการจัดเก็บภาษีการลงทุนต่างประเทศเข้ามา แต่จะเห็นว่าตลาดหุ้นต่างประเทศในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นต่างประเทศยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ลูกค้าที่นำไปลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดี
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่ม KKP กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือนก.พ.ที่จะถึงนี้คาดว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% และมองว่าคะแนนจะออกมาเป็นเอกฉันท์ 7:0 หลังจากที่การประชุมให้ข้อมูลกับสื่อและนักวิเคราะห์ของธนคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่ได้มีการออกมาส่งสัญญาณใดๆเกี่ยวกับทิศทางของดอกเบี้ยนโยบาย และคณะกรรมการกนง.แต่ละท่านก็ยังไม่มีการออกมาให้ความเห็นใดๆเช่นกัน
แต่สิ่งที่ต้องติดตามในการประชุม กนง.นัดแรกของปี 67 คือ Statement ของกนง.ที่จะออกมาส่งสัญญาณทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงมุมมองด้านเศรษฐกิจ หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 66 ที่กระทรวงการคลังประกาศออกมาค่อนข้างต่ำ และแรงกดดันจากเงินเฟ้อสูงก็ลดลงไปมากแล้ว