บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศจัดอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ของ บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ที่ "BBB" แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ นอกจากนี้ ฟิทช์ได้จัดอันดับเครดิตสากลของหนี้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัทฯ ที่ BBB
และ ฟิทช์ประกาศจัดอันดับเครดิตสากลของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ สกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ ภายใต้โปรแกรมการออกหุ้นกู้ (Global Medium-term Note Programme) ซึ่งออกโดยบริษัท จีซี ศูนย์บริหารเงิน จำกัด ในฐานะศูนย์บริหารเงินของกลุ่ม PTTGC ที่ BBB ซึ่ง หุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ยที่จะต้องชำระตามกำหนดโดยไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถเพิกถอนได้จาก PTTGC
หุ้นกู้สกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลของหนี้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของ PTTGC เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีสถานะเท่าเทียมกับหนี้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของ PTTGC
อันดับเครดิตสากลของ PTTGC ได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตขึ้นสองอันดับจากสถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มการได้รับการสนับสนุนจากบริษัทแม่ และยังสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจของ PTTGC ในฐานะบริษัทปิโตรเคมีชั้นนำในภูมิภาค การที่บริษัทมีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้จากสัญญาการจัดหาวัตถุดิบ และสัญญาซื้อผลิตภัณฑ์ระยะยาวกับบริษัทแม่ ซึ่งได้แก่ บมจ.ปตท. (PTT) หรือ ปตท. (ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ ?BBB+?/?AAA(tha)? แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ)
อันดับเครดิตของ PTTGC ยังสะท้อนถึงอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ที่อยู่ในระดับสูงและความเสี่ยงจากความผันผวนที่สูงของธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีที่บริษัทฯ ดำเนินงานอยู่
แนวโน้มเครดิตเป็นลบ สะท้อนถึงความเสี่ยงที่หนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Net Leverage) ของ PTTGC ที่อาจยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 3.5 เท่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นระดับที่ไม่สอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบันของบริษัทฯ โดยกำไรของ PTTGC ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาอยู่ต่ำกว่าระดับที่ฟิทช์คาดการณ์ไว้อย่างมาก ฟิทช์เชื่อว่าส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีน่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำในปี 2567
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
อัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับที่สูง และลดลงช้า: ฟิทช์คาดว่า EBITDA Net Leverage ของ PTTGC จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 4-5 เท่า ในปี 2567 จาก 10.6 เท่า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 (ณ สิ้นปี 2565 อยู่ที่ 12.7 เท่า) จากกำไรที่ปรับตัวดีขึ้นและค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่ลดลง แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 3.5 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ฟิทช์อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิต
ฟิทช์คาดว่า EBITDA Net Leverage จะปรับตัวลดลงต่ำกว่า 3.5 เท่าในปี 2568 จากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม อุปสงค์และส่วนต่างของราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์น้ำมันที่อาจต่ำกว่าที่คาด อาจทำให้การลดลงของอัตราส่วนหนี้ของบริษัทฯ ล่าช้าออกไป
EBITDA Net Leverage ที่อยู่ในระดับสูงของ PTTGC เกิดจากกำไรที่ลดลง และหนี้สินที่เพิ่มขึ้นหลังจากการเข้าซื้อกิจการ Allnex Holding GmbH ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2564
PTTGC กำลังพิจารณาแผนอื่นๆ เพื่อช่วยลดอัตราส่วนหนี้สินให้เร็วขึ้น บริษัทได้ดำเนินการขยายเทอมการชำระเงินในการซื้อน้ำมันดิบกับบริษัทแม่ เพื่อลดความต้องการในการใช้เงินทุนหมุนเวียน และขายทรัพย์สินในธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักของบริษัทฯ
ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์เคมีที่ต่ำ: ส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี น่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำในปี 2567 แม้ว่าจะมีการฟื้นตัวเล็กน้อยจากระดับต่ำสุดในปี 2565 ฟิทช์คาดว่าสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มการเติบโตในอัตราที่ช้าลงในปี 2567 จะสร้างแรงกดดันต่ออุปสงค์ นอกจากนี้กำลังการผลิตใหม่ในอุตสาหกรรมซึ่งจะมาจากประเทศในเอเชียเป็นส่วนใหญ่ และราคาพลังงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะปรับตัวลงจากปี 2565 น่าจะยังคงกดดันส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี
กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น: ฟิทช์คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจาหน่าย (EBITDA) ของ PTTGC น่าจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวมาอยู่ที่ประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาทในปี 2566 เนื่องจากไม่มีขาดทุนจากการบริหารความเสี่ยงน้ำมัน (Hedging Losses) PTTGC มีขาดทุนจากการบริหารความเสี่ยงน้ำมันประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาทในปี 2565 เนื่องจากส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันดิบและราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันที่เกิดขึ้นจริง อยู่สูงกว่าราคาที่ได้ทำประกันเอาไว้ แม้ว่า PTTGC จะยังคงมีการทำการบริหารความเสี่ยงน้ำมันตามนโยบายของบริษัทฯ ฟิทช์เชื่อว่าส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันดิบและราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ทำประกัน น่าจะอยู่ในระดับเดียวกันกับราคาตลาด ซึ่งน่าจะจำกัดไม่ให้เกิดการขาดทุนจากการบริหารความเสี่ยงน้ำมันที่เกิดขึ้นจริงในระดับที่สูงในปี 2566 (ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ขาดทุน 1.5 พันล้านบาทจากการบริหารความเสี่ยงน้ำมัน) นอกจากนี้การใช้กำลังการกลั่นน้ำมันในปี 2567 น่าจะยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากไม่มีแผนการหยุดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นในช่วงดังกล่าว
ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่ลดลง: ฟิทช์คาดว่า ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนของ PTTGC น่าจะปรับตัวลดลงตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป หลังจากที่บริษัทฯ เสร็จสิ้นการก่อสร้างโครงการ Olefins 2 Modification ฟิทช์คาดว่า PTTGC จะยังคงไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่ใหม่ๆ โดยเฉพาะในช่วงสภาวะตลาดยังคงอ่อนแออยู่ ฟิทช์คาดว่าค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนของบริษัทฯ จะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.7-1.8 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปี 2567 และ 2568 ลดลงจากปี 2566 ที่ประมาณการณ์ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท
การขยายเทอมการชำระเงินช่วยเสริมความคล่องตัวทางการเงิน: ฟิทช์มองว่าการขยายเทอมการชำระเงินในการซื้อวัตถุดิบจาก ปตท.ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ นั้น จะช่วยเสริมสภาพคล่องและเพิ่มความคล่องตัวทางการเงินให้กับ PTTGC ในการบริหารจัดการอัตราส่วนหนี้สิน PTTGC ได้มีการลดเทอมการชำระเงินดังกล่าวในช่วงปี 2565 เนื่องจากมีการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนของโรงกลั่น ฟิทช์คาดว่า PTTGC จะเพิ่มเทอมการชำระเงินดังกล่าวเป็น 90 วัน ในปี 2566-2567 ซึ่งน่าจะช่วยลดความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียน
ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงและการกระจายตัวของผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น: การเข้าซื้อกิจการ Allnex สอดคล้องกับกลยุทธ์ของ PTTGC ในการเพิ่มการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง และการกระจายธุรกิจไปยังธุรกิจเคมีเกรดพิเศษ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์และธุรกิจที่มีเสถียรภาพมากกว่าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีแบบพื้นฐานในช่วงที่อุตสาหกรรมอยู่ในช่วงขาลง เนื่องจากความต้องการของผลิตภัณฑ์ปลายทางมีความผันผวนที่น้อยกว่า สัดส่วน EBITDA จากผลิตภัณฑ์ Performance Chemicals ของ PTTGC ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 22 ในปี 2565 หลังจากการเข้าซื้อ Allnex จากระดับที่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ซึ่งทำให้สถานะทางธุรกิจปรับตัวดีขึ้น
การผลิตที่ครบวงจรและต้นทุนการผลิตที่ต่ำ: PTTGC มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่ มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่สูง ส่งผลให้บริษัทฯ มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่มากกว่า และอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับผู้ผลิตปิโตรเคมีและน้ำมันอื่นๆ ในประเทศ นอกจากนี้ PTTGC ยังมีความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนการผลิตเนื่องจากวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตโอเลฟินส์ คือก๊าซธรรมชาติซึ่งจัดหาได้จากภายในประเทศ และบริษัทฯยังได้รับประโยชน์จากการที่มีสัญญาการจัดหาวัตถุดิบระยะยาวกับ ปตท. ซึ่งช่วยลดความผันผวนของส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบได้ PTTGC เป็นบริษัทปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่ม ปตท.
แรงจูงใจในการให้การสนับสนุนจาก ปตท. ในระดับปานกลาง: อันดับเครดิตสากลระยะยาวของ PTTGC ที่ ?BBB(tha)? ได้มีการพิจารณารวมถึงการปรับเพิ่มอันดับเครดิตขึ้นสองอันดับจากสถานะเครดิตโดยลำพังของบริษัทฯ ที่ ?bb+? ซึ่งสะท้อนถึงแรงจูงใจของบริษัทแม่ซึ่งได้แก่ ปตท. ในการให้การสนับสนุน จากความสำคัญทางกลยุทธ์ (Strategic incentive) และความสำคัญทางด้านการดำเนินงาน (Operational incentive) แก่ PTTGC ในระดับปานกลาง ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology) ฟิทช์เชื่อว่าธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น ซึ่ง PTTGC เป็นหนึ่งในบริษัทหลักของธุรกิจนี้ มีความสำคัญด้านกลยุทธ์ต่อ ปตท. นอกจากนี้ PTTGC ยังเป็นผู้รับซื้อวัตถุดิบที่เป็นผลิตภัณฑ์ก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีรายใหญ่ของ ปตท.
ความผันผวนตามวัฏจักรของธุรกิจ: อันดับเครดิตของบริษัทฯ ถูกลดทอนจากความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์ตามวัฎจักรของธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นความผันผวนของส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบ ค่าการกลั่น ราคาวัตถุดิบ ราคาน้ำมัน และความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียน อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อกำไรและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทฯ นอกจากนี้ PTTGC ยังมีความเสี่ยงจากการพึ่งพาแหล่งวัตถุดิบน้อยแหล่ง เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตส่วนใหญ่มาจาก ปตท. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ อย่างไรก็ตามความเสี่ยงจากการที่บริษัทฯ รับวัตถุดิบส่วนใหญ่จาก ปตท.ได้ถูกบรรเทาลงจากการที่ ปตท. มีอันดับเครดิตที่แข็งแกร่งและเป็นผู้ดำเนินธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ในประเทศไทย
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
PTTGC และ Alpek, S.A.B. de C.V (อันดับเครดิตที่ ?BBB-?/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) มีสถานะทางธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน โดย Alpek เป็นผู้นำในธุรกิจ PTA, PET rPET และ Expandable Polystyrene ในทวีปอเมริกา ในขณะที่ PTTGC เป็นบริษัทปิโตรเคมีชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน ประมาณร้อยละ 92 ของรายได้ของ Alpek มาจากผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคที่มีความผันผวนต่ำ ในขณะที่การเข้าซื้อกิจการของ Allnex ได้ทำให้กำไรของ PTTGC มีเสถียรภาพมากขึ้นและทำให้อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจาหน่ายต่อรายได้ (EBITDA Margin) ปรับตัวดีขึ้น อันดับเครดิตของ Alpek อยู่ในระดับสูงกว่าอันดับเครดิตโดยลำพังของ PTTGC ที่ ?bb+? อยู่ 1 อันดับ เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินของ Alpek อยู่ในระดับต่ำกว่าของ PTTGC
สถานะทางธุรกิจของ PTTGC ก็มีลักษณะใกล้เคียงกันกับของ Braskem S.A. (อันดับเครดิตที่ ?BB+? เครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ) Braskem มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า PTTGC แต่มีผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน และการก่อสร้าง ซึ่งทำให้กำไรของ Braskem มีความผันผวนมากกว่า อันดับเครดิตของ Braskem ได้ถูกลดทอนจากความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม จากค่าปรับจำนวน 1 พันล้านเรอัลบราซิล หรือประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเกิดจากเหตุการถล่มของเหมืองเกลือที่บริษัทฯ ดำเนินการอยู่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบในแง่ลบต่อกระแสเงินสดของบริษัทฯ นอกจากนี้ อัตราส่วนหนี้สินของ Braskem ที่คาดว่าจะอยู่ในระดับ 6-11 เท่าในปี 2567-2568 อยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนหนี้สินของ PTTGC
สถานะทางธุรกิจของ Synthos Spolka Akcyjna (อันดับเครดิตที่ ?BB? แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) อ่อนแอกว่า PTTGC จากขนาดของธุรกิจที่เล็กว่า การกระจายตัวของรายได้ที่น้อยกว่า และสถานะการเป็นผู้นำของผลิตภัณฑ์ที่อ่อนแอกว่า แม้ว่าธุรกิจ Synthetic Rubber จะแข็งแกร่งขึ้นหลังจากการเข้าซื้อทรัพย์สินจาก Trinseo Synthos มีอัตราส่วนหนี้สินที่ดีกว่า PTTGC เล็กน้อย ซึ่งไม่เพียงพอที่จะชดเชยสถานะทางธุรกิจที่อ่อนแอกว่า ทำให้ Synthos มีอันดับเครดิตต่ำกว่าอันดับเครดิตโดยลำพังของ PTTGC อยู่ 1 อันดับ
สมมุติฐานที่สำคัญ:
- ราคาน้ำมันดิบ (เบรนท์) ที่ราคา 82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2566, 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2567, 70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2568, 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2569, 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2570 และหลังจากนั้น โดยมีการปรับด้วยส่วนต่างราคาน้ำมันตามการซื้อน้ำมันดิบของ PTTGC
- กำไรของธุรกิจปิโตรเคมียังคงอยู่ในระดับต่ำในปี 2566 และ 2567 เนื่องจากกำลังการผลิตใหม่ที่เข้ามาและอุปสงค์ที่ยังคงอ่อนแออยู่ จะกดดันส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกับวัตถุดิบ
- ค่าการกลั่นที่ไม่รวมกำไร/ขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน ปรับตัวลดลงในปี 2567
- การใช้กำลังการกลั่นน้ำมันอยู่ในระดับสูงในปี 2567 เนื่องจากไม่มีการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนของโรงกลั่น
- การขยายเทอมการชำระเงินเพื่อซื้อน้ำมันดิบกับ ปตท. ต่อเนื่องจนถึงปี 2567-2568
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนรวมจำนวน 6.5 หมื่นล้านบาท ในปี 2567-2569
- จ่ายเงินปันผลร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิของงบการเงินรวม
- รวมงบการเงินของบริษัทลูก บริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด (อันดับเครดิตที่ ?A-(tha)? แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) ตามสัดส่วนการถือหุ้นของ PTTGC
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยลบ:
- บริษัทฯ ไม่สามารถปรับลดอัตราส่วน EBITDA Net Leverage ตามที่ฟิทช์คาดการ ให้ไปอยู่ในระดับต่ำกว่า 3.5 เท่าในปี 2568
- แรงจูงใจในการให้การสนับสนุนจาก ปตท. ที่ลดลง
ปัจจัยบวก:
- แนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับเป็นแนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ หากอัตราส่วน EBITDA Net Leverage ของ PTTGC เป็นไปตามที่ฟิทช์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวลดลงไปสู่ระดับต่ำกว่า 3.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง
สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: PTTGC มีหนี้ทั้งหมด จำนวน 2.8 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน ปี 2566 โดยหนี้จำนวน 2.1 หมื่นล้านบาท จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้า สภาพคล่องของ PTTGC ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดจำนวน 4.7 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน ปี 2566 PTTGC มีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งตลาดเงินกู้ จากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับ ปตท. และสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งจากการเป็นผู้นำในธุรกิจปิโตรเคมีในประเทศไทย