นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ. ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินธุรกิจปี 2567 บริษัทฯ เน้นพัฒนาธุรกิจพลังงานทดแทนในประเทศและต่างประเทศ ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล เพื่อการเติบโตที่แข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต
โดยบริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้เติบโต 10% จากปีก่อน ซึ่งรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ทั้ง CRB, MWE, MGP, TSG, PGP, SGP, PTG รวมทั้ง โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ SP1 มีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 90 เมกะวัตต์
สำหรับแผนการลงทุนในประเทศ ขณะนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ สยาม พาวเวอร์ 2 (SP2) ขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองสาหร่าย ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 10 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ สยาม พาวเวอร์ 3 (SP3) ขององค์การบริหารส่วนตำบลนากลาง ตั้งอยู่ที่ตำบลนากลาง อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 10 เมกะวัตต์ คาดว่า จะสามารถเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ภายในปีนี้
นอกจากนี้ ยังเดินหน้าพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะเพิ่มอีก ประมาณ 4 โครงการ ภายใต้บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นโครงการรูปแบบ VSPP (Very Small Power Producer) เพื่อเข้าร่วมโครงการรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐ
นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ TPCH กล่าวว่า การลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนในต่างประเทศ TPCH ได้เข้าร่วมลงทุนกับ บริษัท แม่โขง พาวเวอร์ จำกัด (MKP) ในสัดส่วน 40% ที่ประกอบธุรกิจผลิต และจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ใน สปป.ลาว และ MKP ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 100 เมกะวัตต์กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) เรียบร้อยแล้ว โดยมีระยะเวลา 25 ปีนับจากวันที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) เซ็นสัญญากับผู้รับเหมาก่อสร้างและได้เริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าแล้ว คาดว่าจะสามารถ COD เฟสแรกได้ภายในปี 67 รวมทั้งมีแผนจะส่งไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไปจำหน่ายในประเทศเวียดนามอีกหนึ่งโครงการ
สำหรับการลงทุนในประเทศกัมพูชา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาต ทั้งโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม โดยตั้งเป้ากำลังการผลิตรวมทั้ง 2 ประเภท ประมาณ 200-300 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ TPCH ยังคงเป้าหมายมีกำลังการผลิตรวมจากโรงไฟฟ้าในประเทศ 150 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล 80 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะ 70 เมกะวัตต์ และโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในต่างประเทศ 350 เมกะวัตต์ เพื่อให้มีกำลังการผลิตรวม 500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2569