นายรุ่งโรจน์ เสกสรรค์วิริยะ ผู้อำนวยการอาวุโส Investment Product Selection and Partnership ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การลงทุนในปี 66 พบ 3 ประเด็นสำคัญที่สามารถนำมาถอดบทเรียนเพื่อนำมาปรับใช้กับการลงทุนในปี 67 เพื่อให้พอร์ตการลงทุนมีเสถียรภาพ สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้แม้ในช่วงที่ตลาดมีความผันผวน ได้แก่
1. การจับจังหวะลงทุนและเก็งกำไรตลอดเวลา ไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสม จากการพิจารณาดัชนี S&P500 เทียบกับมูลค่าการซื้อขายในแต่ละวัน พบว่าในวันที่หุ้นปรับขึ้นมาก มูลค่าการซื้อขายจะสูงขึ้น สะท้อนว่ามีการเข้าไปซื้อขายเพื่อเก็งกำไรสูงขึ้น ซึ่งการจับจังหวะช่วงที่ตลาดขึ้นสูง มีโอกาสเผชิญความผันผวนได้มากกว่าช่วงที่ตลาดย่อตัวลงมา ดังนั้นการลงทุนควรพิจารณาลงทุนในช่วงที่ตลาดปรับตัวลง ซึ่งมีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีได้มากกว่า
2. การกระจายความเสี่ยงเป็นสิ่งทื่ดีที่สุดในการลงทุน หากย้อนกลับไปช่วงต้นปี 66 จะพบว่าตลาดมีการคาดการณ์แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจและการลงทุน โดยมองว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยแรง และคงอยู่ในระดับสูง จะส่งผลให้เศรษฐกิจมีความผันผวน จากต้นทุนดอกเบี้ยของบริษัทต่างๆที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะกระทบต่อผลประกอบการของบริษัท และสะท้อนมาที่ดัชนีในตลาดต่างๆ ของสหรัฐอาจจะยังไม่น่าสนใจสำหรับการลงทุน แต่ปรากฏว่าในปลายปี 66 ดัชนี S&P 500 ปรับเพิ่มขึ้น 24.7% ดัชนี Nasdag เพิ่มขึ้น 44.5% และดัชนี Dow Jones Industrial (DJI) เพิ่มขึ้น 13.70% ทางด้านตลาดหุ้นจีนมองว่าจะได้รับผลดีจากการเปิดประเทศ จะส่งผลให้ภาคบริโภคฟื้นตัว แต่ปรากฎว่าดัชนี CSI 300 ผลตอบแทน -11.7%
ส่วนเศรษฐกิจไทยคาดการณ์ว่าจะดีจากอานิสงส์ที่จีนเปิดประเทศ และการท่องเที่ยวไทยจะบูม แต่ปรากฏว่าดัชนีหุ้นไทยติดลบ 15.6% ด้านราคาทองคำคาดว่าดอกเบี้ยที่สูงจะกดดันราคาทองคำให้ลดลง แต่ปรากฏว่าราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้น 12% ในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา ทั้งนี้จากสถานการณ์ดังกล่าว นักลงทุนควรยึดมั่นอยู่ในหลักการสำคัญคือ การกระจายความเสี่ยงลงทุนในสินทรัพย์หลากหลาย สำหรับ Core Portfolio เพื่อให้การลงทุนสามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจได้ ไม่ว่าตลาดจะผันผวนไปในทิศทางใดก็ตาม
3. ไม่หลีกหนี Stay Invested หากในปีที่ผ่านมาผู้ลงทุนยังคงเชื่อมั่นศักยภาพ และเศรษฐกิจของสหรัฐการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ ที่ไม่ได้มีการปรับพอร์ต หรือลดสัดส่วนลง เชื่อว่าผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนที่ดี แต่ทั้งนี้จากสถิติในปี 66 การลงทุนในกองทุนประเภท Money market เพิ่มสูงขึ้น ทำให้สะท้อนว่านักลงทุนส่วนใหญ่เมื่อตลาดหุ้นมีความผันผวนก็จะปรับพอร์ตหรือปรับสัดส่วนการลงทุน ( Not stay invested) โดยคาดว่าหากอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางหลายแห่งปรับตัวลดลง นักลงทุนอาจหันกลับเข้ามาทยอยลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรป
หลังจากการถอดบทเรียนในปี 66 เพื่อนำมาปรับสำหรับจัดพอร์ตในปี 67 SCB WEALTH มองพอร์ตการลงทุนควรแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. การสร้างพอร์ตการลงทุนแกนกลาง (Core portfolio) ที่ผสมผสานระหว่างสินทรัพย์หลากหลายประเภทเพื่อกระจายความเสี่ยง ทั้งตราสารหนี้ หุ้น และสินทรัพย์ทางเลือก โดยตั้งเป้าหมายการลงทุนระยะกลางถึงยาว (ประมาณ 3-5 ปี) และไม่จับจังหวะเข้าออกมากเกินไป โดยสินทรัพย์ที่เหมาะสมสำหรับการลงทุน ได้แก่ กองทุน SCBGA ที่มีผู้จัดการกองทุนปรับน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆให้อยู่แล้ว
ส่วนตราสารหนี้ แนะนำ กองทุน SCBDBOND(A) ซึ่งผู้จัดการกองทุนปรับสัดส่วนและน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ตามภาวะตลาดที่เหมาะสม สำหรับลูกค้ากลุ่มที่มีความมั่งคั่งระดับสูง (Ultra High Net Worth) อาจแบ่งเงินส่วนหนึ่งใน Core Portfolio ลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกนอกตลาด ประเภท Private Asset เช่น BCRED-O เป็นต้น
2. Opportunistic การจัดแบ่งเงินลงทุนบางส่วน เพื่อลงทุนตามมุมมองของที่ปรึกษาการลงทุนต่างๆ โดยอาจคัดเลือกกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงมากกว่ากองทุน แกนกลางได้บ้าง เพื่อหวังผลตอบแทนที่ดีในระยะสั้น แต่หากเกิดผลลบต่อการลงทุนและไม่เป็นไปตามคาดหวัง สัดส่วนเงินลงทุนที่น้อยจะไม่กระทบกับความคาดหวังการลงทุนระยะยาวในสินทรัพย์แกนกลาง
ในส่วนนี้ SCB WEALTH ขอแนะนำ การลงทุนในกองทุน KT-INDIA ที่มีผลการดำเนินงานค่อนข้างสม่ำเสมอ และมีนโยบายลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นอินเดีย ส่วนการลงทุนในผลิตภัณฑ์ตราสารอนุพันธ์ (Structure product) และ Dual Currency Note Pricing (DCI) ที่จะให้ผลตอบแทนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนที่ลูกค้าต้องการแลก รวมถึงการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ที่น่าสนใจ ผู้ลงทุนสามารถติดต่อตัวแทนของธนาคารเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ก่อนตัดสินใจลงทุน