นายเจนวิทย์ ชินกุลกิจนิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายธุรกิจตราสารอนุพันธ์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) (KGI) ประกาศตัวเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันผลิตภัณฑ์ DR ในตลาดหุ้นไทย เพื่อดึงดูดนักลงทุนและสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ โดยจะช่วยขับเคลื่อนให้มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยของ DR เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวกว่า 200 ล้านบาท/วันภายในสิ้นปีนี้ จากสิ้นปีก่อนที่เฉลี่ย 130 ล้านบาท/วัน และเดินหน้าออกผลิตภัณฑ์ DW13 อย่างต่อเนี่องเพื่อรักษาความแข็งแกร่งของตลาด DW ที่ KGI มี Market share ถึง 48-50%
ล่าสุด บริษัทได้ออก Depositary Receipt หรือ (DR) มาพร้อมกันถึง 3 หลักทรัพย์ เพื่อเป็นการต่อยอดธุรกิจ DW และเพิ่มทางเลือกการลงทุนในต่างประเทศให้กับนักลงทุนไทย เนื่องจากการเปลี่ยนแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐจากที่เป็นขาขึ้นในปี 67 เป็นแนวโน้มคงที่หรือปรับตัวลง ทำให้มีโอกาสที่จะมีการเคลื่อนไหวของเงินลงทุนทั่วโลกในตลาดหุ้นขนาดใหญ่มากขึ้น
DR ใหม่ทั้ง 3 ตัว ได้แก่ JAPAN13, HK13 และ HKTECH13 อ้างอิงกองทุน ETF ที่ลงทุนในหุ้นชั้นนำขนาดใหญ่ของ ญี่ปุ่น-จีน-ฮ่องกง โดยเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค.67
"JAPAN13" ลงทุนในกองทุน ETF ChinaAMC MSCI Japan Hedged to USD ETF (3160 HK) โดยมีการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ที่ญี่ปุ่นมากกว่า 200 ตัว เช่น TOYOTA, SONY Group และ Mitsubishi UFJ Financial Group เป็นต้น โดยในปี 66 ราคากองทุน ETF นี้ปรับตัวขึ้นถึง 32.7% และมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการสูงกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท
"HK13" ลงทุนในกองทุน ETF Tracker Fund of Hong Kong (2800 HK) จะมีราคาเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับดัชนี Hang Seng ซึ่งเป็นดัชนีที่ครอบคลุมหุ้นประมาณ 80 บริษัทที่มีการทำธุรกิจในประเทศจีนและฮ่องกง เช่น HSBC Holding, TENCENT, AIA Group, ALIBABA และ CHINA Mobile เป็นต้น กองทุนมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการสูงถึงกว่า 5 แสนล้านบาท
"HKTECH13" ลงทุนในกองทุน Heng Seng TECH Index ETF (3032 HK) ที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องเทคโนโลยีขนาดใหญ่ และทำธุรกิจในประเทศจีนเป็นหลัก ครอบคลุมหุ้น 30 ตัว เช่น XIAOMI, TENCENT, NETEASE, ALIBABA และ SMIC โดยกองทุนนี้มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการสูงกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท
นายเจนวิทย์ กล่าวว่า ในปี 66 ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกเคลื่อนไหวแยกกันอย่างชัดเจน เช่น ตลาดหุ้นญี่ปุ่น (Nikkei225) ปรับเพิ่มขึ้น 30% แต่ดัชนีตลาดหุ้นฮ่องกง (Hang Seng Index) ลดลง 18% หรือดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในตลาดหุ้นฮ่องกง Hang Seng TECH Index ปรับลดลง 15% ส่งผลให้ความต้องการของนักลงทุนในปี 67 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก ยังสนใจตลาดหุ้นที่ร้อนแรงต่อจากปีก่อน คือ ตลาดหุ้นญี่ปุ่น กับอีกกลุ่มที่สนใจลงทุนในตลาดหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจจีน หลังราคาหุ้นลงมาแรงต่อเนื่อง 3 ปี และต้องการถือลงทุนในระยะยาว
ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน DR JAPAN13 ถือว่าให้ผลตอบแทนจากการลงทุนค่อนข้างสูง โดยที่มี NAV ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้น 13% เป็นไปตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีนิเกอิ และเป็น DR ที่มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันสูงที่สุดใน 3 ตัวที่ออกมาใหม่ โดยมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ย 3-4 ล้านบาท/วัน ส่วน DR อ้างอิงตลาดหุ้นฮ่องกงและจีน HKTECH13 และ HK13 ยังให้ผลตอบแทนลดลง ตามการปรับตัวลงของตลาดหุ้นจีน ซึ่ง HKTECH13 ลดลง 13-15% และ HK13 ลงไป 10%
นักลงทุนที่สนใจลงทุนตลาดหุ้นญี่ปุ่นและตลาดหุ้นฮ่องกง เป็นกลุ่มที่แตกต่างกัน โดยที่การลงทุนใน DR ที่อ้างอิงกับดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะเป็นกลุ่มนักลงทุนที่มองหาโอกาสจากเทรนด์ขาขึ้นและผันผวนไม่มาก ในลักษณะเก็งกำไรระยะสั้น ช่วงที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังคงได้รับประโยชน์จากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย สวนทางกับประเทศพัฒนาแล้วหลายๆ ประเทศ อีกทั้งเป็นกลุ่มที่มองหาการลงทุนในหุ้นบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น สามารถหาจังหวะหรือทยอยลงทุนใน JAPAN13 ได้
ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นฮ่องกงและจีนผ่าน HK13 และ HKTECH13 เป็นกลุ่มลงทุนระยะยาว คาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนเมื่อผ่านพ้นและแก้ปัญหาวิกฤติต่างๆไปได้ โดยเฉพาะวิกฤติอสังหาริมทรัพย์และสงครามการค้าที่เป็นปัจจัยที่กดดันในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ขาดความเชื่อมั่น ทั้งนักลงทุนในจีนเองและนักลงทุนต่างชาติ แต่การปรับตัวลงของดัชนีตลาดหุ้นฮ่องกงในปัจจุบันถือว่าเป็นระดับที่ค่อนข้างถูก P/E เหลือแค่ 7 เท่า เป็นโอกาสหาจังหวะทยอยสะสมเพื่อลงทุนระยะยาวได้ และยังจะได้รับเงินปันผลเฉลี่ย 4% ต่อปี สูงกว่า JAPAN13 ที่ให้เผลตอบแทนจากเงินปันผลเฉลี่ย 1.5% อีกทั้งตลาดหุ้นฮ่องกงและจีนยังมีความหวังจากการที่รัฐบาลจีนใช้กลไก National Team เข้ามาช่วยฟื้นตลาดหุ้นกลับมา ทำให้นักลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นจากปัจจัยดังกล่าวด้วยเช่นกัน
บล.เคจีไอ ดูแลสภาพคล่องที่ดีจากการนำประสบการณ์ที่เชี่ยวชาญจากการออก DW มาต่อยอดใช้ และทำเทคโนโลยีที่ทางบริษัทใช้กับ DW มาใช้กับ DR ทำให้การดูแลสภาพคล่องของ DR ที่บริษัทออกมามีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการวาง Bid-Offer ของ DR ค่อนข้างแน่นกว่า DR ของเจ้าอื่น โดยปัจจุบันมูลค่าสินทรัพย์ 3 DR ที่ออกมานั้นอยู่ที่ราว 35 ล้านบาท และยังคงมองหาโอกาสในการพัฒนา DR ใหม่ออกมาเพิ่มเติม เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุน แต่จะเน้นไปที่ตลาดหุ้นที่มี Time zone ใกล้เคียงกับตลาดหุ้นไทย