หลังจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติสรุปข้อเท็จจริงและส่งมอบคดี Zipmex ที่สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างต่อประชาชนให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รับไปเป็นคดีพิเศษ ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้กำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของ Zipmex โดยตรง ได้กล่าวโทษอดีตกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Zipmex ประเทศไทยกับกองปราบปรามอาญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ว่าได้ทุจริตหลอกลวงว่าด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงที่ควรบอกแจ้งและการหลอกลวงทำให้ได้ทรัพย์สินไปจากประชาชน
รวมถึงการที่ ก.ล.ต. ตรวจพบว่าสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าถูกโอนไปยังต่างประเทศโดยไม่บอกแจ้งลูกค้า ซึ่งผิดไปจากข้อเท็จจริงที่ Zipmex ได้แจ้งกับ ก.ล.ต. อันเป็นความผิดตาม พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามมาตรา 82 และมาตรา 88 ที่มีโทษจำคุกและปรับ
โดยมาตรา 82 วางหลักว่า กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงาน ทุจริตหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ประชาชน หรือการปกปิดความจริงที่ควรแจ้งให้ประชาชน และการหลอกลวงดังกล่าวทำให้ได้ทรัพย์สินของประชาชนไป ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000 ถึง 1,000,000 บาท
และมาตรา 88 วางหลักว่ากรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดที่รับผิดชอบในการดำเนินงานการทำลาย ทำให้เสียหาย เปลี่ยนแปลง ตัดทอน ปลอมแปลงบัญชีเอกสารหรือหลักประกัน ลงข้อความเท็จหรือไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือเอกสารหรือทำบัญชีไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง หรือไม่เป็นปัจจุบันหรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง รวมถึงถ้ากระทำหรือยินยอมให้กระทำเพื่อลวงให้นิติบุคคลดังกล่าว หรือผู้ที่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลขาดประโยชน์ หรือลวงบุคคลใด ๆ จำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000 ถึง 1,000,000 บาท
หากมีการดำเนินการตามกฎหมายและท้ายที่สุดพบกว่าอดีตกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Zipmex ประเทศไทยกระทำความผิดดังกล่าวจริง อดีตกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนดังกล่าวก็อาจได้รับโทษจำคุกสูงสุดถึง 20 ปีและปรับเป็นเงินสูงสุดกว่า 2,000,000 บาท
ทั้งนี้ ผู้เขียนเห็นว่า แม้การกล่าวโทษของอดีตกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารจะไม่ได้การันตีว่าประชาชนผู้ได้รับความเสียหายจาก Zipmex จะได้รับทรัพย์สินคืนหรือไม่เพียงใด แต่ข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวที่ ก.ล.ต. ยืนยันนั้นจะเป็นข้อเท็จจริงสำคัญที่ใช้ดำเนินคดีเพื่อเรียกทรัพย์คืนหรือเรียกค่าเสียหายเอากับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)