นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา) ระยะทาง 16.2 กม. ว่า จากที่ กทพ.ได้นำร่างขอบเขตของงานประกวดราคา (TOR) โครงการฯ ลงประกาศในเว็บไซต์ เพื่อรับฟังคำวิจารณ์ครั้งที่ 1 ไปเมื่อเดือนม.ค.2567 และได้รวบรวมความเห็นนำร่างรับฟังคำวิจารณ์ครั้งที่ 2 โดยคาดว่าจะประกาศขายซองประมูลได้ประมาณเดือนเม.ย. 2567 และสามารถลงนามสัญญากับเอกชน เริ่มก่อสร้างในปลายปี 2567 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน เปิดให้บริการประมาณปี 2570 ซึ่งโครงการนี้จะถือเป็นเรือธงของกระทรวงคมนาคมที่จะเปิดประกวดราคาเป็นโครงการแรกของปี 2567
การกำหนดคุณสมบัติจะเป็นผู้รับเหมาที่ขึ้นทะเบียนที่กรมบัญชีกลาง เป็นผู้รับเหมาชั้นพิเศษ ประเภททั่วไป ที่มีจำนวน 70 ราย แต่เนื่องจากจะต้องมีผลงานในการก่อสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่ทางยกระดับ จึงคาดว่าจะมีผู้รับเหมาที่คุณสมบัติตามกำหนดประมาณ 5 รายที่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ ซึ่งตรงกับเจตนาของกทพ.ที่ต้องการได้ผู้รับเหมาที่เก่งและมีศักยภาพในการก่อสร้างเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย
สำหรับ TOR โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา) งานโยธา ระยะทาง 16.2 กม. ราคากลาง 18,739.55 ล้านบาท เป็นการรวมงานโยธาสัญญาเดียว จากที่ประเมินเหตุผล ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องความสำเร็จของงาน และการเปิดให้บริการได้ตามกำหนด และสามารถมีรายได้จากโครงการได้เร็ว เป็นเรื่องทางธุรกิจด้วย ประสบการณ์จากโครงการก่อสร้างทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทางรวม 18.7 กม.แบ่งงานโยธาออกเป็น 4 สัญญา พบว่า แต่ละสัญญาเสร็จไม่พร้อมกัน เป็นปัญหาทำให้เปิดให้บริการล่าช้า
"เบื้องต้นมีผู้แสดงความเห็นเข้ามาบางส่วนที่อยากให้แบ่งงานโยธาออกเป็นหลายสัญญา ซึ่ง กทพ.ได้พิจารณาเหตุผลแล้ว ยังคงยืนยันในแนวทางเดิมสัญญาเดียว เพราะจะเป็นประโยชน์ในภาพรวมมากกว่า"
ทั้งนี้ เงินลงทุนโครงการ ประมาณ 24,060 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าเวนคืน 3,726 ล้านบาท กรอบวงเงินงานโยธาประมาณ 19,000 ล้านบาท (ราคากลาง 18,739.55 ล้านบาท) ค่างานระบบประมาณ 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะประกาศประกวดราคา ภายใน 1 ปี หลังจากประมูลงานโยธาไปแล้ว
สำหรับเงินลงทุนโครงการจะมาจาก 2 ส่วน ส่วนแรกใช้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) ที่ยังเหลืออยู่ประมาณ 14,374 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกเกือบ 5,000 ล้านบาท จะใช้เงินกู้ ซึ่งได้หารือกับกระทรวงการคลังในเบื้องต้นแล้วไม่มีปัญหาเนื่องจากฐานะการเงินของกทพ.อยู่ในระดับดี