บมจ.สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ (SGP) คาดว่าจะสรุปราคาหุ้นที่จะเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก(IPO)ได้ในวันที่ 12 พ.ค. จากช่วงราคาที่กำหนดไว้ในเบื้องต้นที่ 8-9 บาท/หุ้น โดยจะเปิดขายในวันที่ 15-16 พ.ค.และจะนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ภายในต้นเดือนมิ.ย.
นายชูพงษ์ ธนเศรษฐกร กรรมการผู้จัดการ บล.เคทีบี (KTB) ในฐานะที่ปรึกษา บมจ. สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ คาดว่าจะสามารถสรุปราคา บมจ.สยามแก๊สฯ ที่กำหนดช่วงราคา 8-9 บาทได้ในวันที่ 12 พ.ค.กำหนดขาย IPO วันที่ 15-16 พ.ค.นี้ และคาดว่าจะสามารถเข้าเทรดได้ในวันที่ 3 มิ.ย.นี้ ซึ่งระดับราคาดังกล่าว ถือเป็นระดับราคาที่ Discount 20-30% จากราคาสำรวจก่อนหน้านี้ที่ 11 บาท และเชื่อว่าหุ้นสยามแก๊สฯ จะเป็นที่สนใจของนักลงทุนเนื่องจากสถาบันมีความต้องการมากกว่าจำนวนที่บริษัทจะจัดสรรที่ 10% ส่วนที่เหลือเป็นการกระจายให้นักลงทุนผู้มีอุปการะคุณ 50% และที่เหลือเป็นรายย่อย
"เราเชื่อว่าหุ้นสยามแก๊สฯ จะปรับตัวได้ดีในช่วงวันเข้าเทรด เพราะหุ้นตัวนี้ถือเป็นธุรกิจพลังงานที่น่าสนใจ เพราะเท่าที่ประเมินยังไม่มีบริษัทที่เกี่ยวกับพลังงานสนใจที่จะเข้าตลาดฯ ซึ่งหุ้นสยามแก๊สฯ ถือเป็นบริษัทขนาดเล็กที่น่าสนใจในกลุ่มพลังงาน เมื่อเทียบกับหุ้นขนาดใหญ่ PTT" นายชูพงษ์ กล่าว
ด้านนายศุภชัย วีรบวรพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.สยามแก๊สฯ คาดว่า ยอดขายในไตรมาส 1 ปีนี้จะเติบโตสองหลักเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปีที่แล้ว เนื่องจากธุรกิจด้านแก๊สรถยนต์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากที่ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงแก๊สที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งจากการปรับเพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกดังกล่าวทำให้เชื่อว่าการปรับตัวของยอดขายในไตรมาสที่เหลือจะสอดคล้องกับไตรมาส 1 ที่ผ่านมา จึงทำให้เชื่อว่ารายได้รวมของบริษัทปีนี้น่าจะปรับตัวได้มากกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท หรือ มีอัตราการเติบโต 10% จากปีก่อน
ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของบริษัท 60% มาจากแก๊สหุงต้ม, 30% มาจากแก๊สรถยนต์ ที่เหลือมาจากแก๊สอุตสาหกรรม โดยบริษัทจะคงสัดส่วนรายได้ดังกล่าวไว้ ถึงแม้ในช่วงที่ผ่านมาแก๊สรถยนต์และแก๊สอุตสาหกรรมจะเติบโตมากเมื่อเทียบกับแก๊สหุงต้ม อีกทั้งยังมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 26% ดีกว่าแก๊สหุงต้มที่อัตรากำไรขั้นอยู่ที่ 10% เพราะแก๊สหุงต้มมีวอลุ่มเยอะ
นายศุภชัย คาดว่า บริษัทจะได้เม็ดเงินจากการระดมทุนในครั้งนี้มากกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งจะนำไปใช้ในการลงทุนสร้างคลังและท่าเรือที่ประเทศเวียดนาม โดยจะใช้บริษัท ยูนิคแก๊ส ซึ่งเป็นบริษัทลูกเข้าไปดำเนินการและคาดว่าการลงทุนดังล่าวจะเริ่มรับรู้รายได้ในปีหน้าและจะมียอดขาย 2 หมื่นกว่าตัน/เดือน ขณะที่ประเทศไทยยอดขายอยู่ 9 หมื่นตัน/เดือน อีกทั้งระดับราคาในการขายก็จะได้ระดับราคาที่สูงกว่าเวียดนามที่ขาย 30 บาท/กก. ไทย 10 บาท/กก.
นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาเข้าไปลงทุนในประเทศจีนและกัมพูชา เพื่อสร้างยอดขายในด้านการส่งออกมากขึ้นจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนน้อย นอกจากการลงทุนดังกล่าวแล้ว บริษัทจะนำเงินจากการะดมทุนสร้างสถานีน้ำมัน 20 แห่ง รวมเม็ดเงิน 200 ล้านบาท และนำไปใช้หนี้ที่บริษัทมีหนี้ระยะยาวอยู่ประมาณ 900 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าหลัง IPO จะทำให้ D/E ของบริษัทลดลงต่ำกว่า 1 เท่า จากปัจจุบันที่ D/E อยู่ที่ 2.5 เท่า
--อินโฟเควสท์ โดย จริญยา ดำสมาน/ศศิธร/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--