KTMS ติดสปริงบอร์ดโตปี 68 รับ รง.น้ำยาไตเทียมใหม่ผลิตเพิ่ม 3 เท่า ซุ่มดีลผนึกรพ.เอกชนอีก 2-3 แห่ง

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 16, 2024 16:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวกาญจนา พงศ์พัฒนะเดชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เคที เมดิคอล เซอร์วิส (KTMS) กล่าวว่า ปี 68 คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากปีนี้ที่ตั้งเป้ารายได้เติบโตแตะ 600 ล้านบาท ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากโรงงานผลิตน้ำยาไตเทียมแห่งใหม่คาดแล้วเสร็จในปลายปี 67 ถึงต้นปี 68 ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตเพิ่มเป็น 2-3 เท่า หรือเพิ่มเป็น 2-4 ล้านแกลลอนต่อปี จากปัจจุบัน 900,000-1,200,000 แกลลอนต่อปี

ขณะที่บริษัทเตรียมงบลงทุนปีละราว 200-250 ล้านบาทเพื่อทยอยเปิดศูนย์ไตเทียมเพิ่มอีก 5-8 แห่งตามเป้า เพื่อสอดรับกับแผนการขับเคลื่อนกลยุทธ์ในอีก 2 ปีข้างหน้าที่จะขยายศูนย์ไตเทียมให้ครบ 40-50 สาขา จากปัจจุบัน 28 แห่ง ขณะที่เครื่องฟอกไตตั้งเป้าภายในอีก 2 ปีข้างหน้าให้ครบ 400-500 เครื่อง จากปัจจุบัน 349 เครื่อง

"KTMS มุ่งเน้นขยายสาขาให้กระจายทุกพื้นที่ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศทั้ง ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน และภาคกลาง รวมทั้งในเขตเมืองและในเขตอำเภอ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงวิธีการรักษาด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมมากที่สุด"

สำหรับหน่วยไตเทียมของ KTMS แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบคือ หน่วยไตเทียมในโรงพยาบาล (หน่วยไตเทียม หรือ Outsource) และ คลินิกเวชกรรมไตเทียม (คลินิก หรือ Stand Alone)

นางสาวกาญจนา กล่าวว่า บริษัทเตรียมเปิดศูนย์ไตเทียมอีก 1 แห่งในเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จะร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ภาคตะวันตก เพื่อให้บริการผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม โดยมีจำนวนเตียงกว่า 20 เตียงรองรับผู้ป่วยโรคไต หากดีลเปิดศูนย์ฯ แล้วเสร็จ KTMS จะสามารถรับรู้รายได้จากการให้บริการเข้ามาทันที

ขณะเดียวกันบริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจากับโรงพยาบาลเอกชนอีก 2-3 แห่งเพื่อเปิดศูนย์ในลักษณะเดียวกัน ซึ่งจะช่วยผลักดันอัตรากำไรของบริษัทให้ดีขึ้น เพราะเป็นการให้บริการในรูปแบบพรีเมียมที่มีค่าบริการสูงกว่าบริการตามสิทธิของรัฐ

ทั้งนี้ จากอัตราตัวเลขผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นสอดรับกับการให้บริการของ KTMS ที่เร่งขยายสถานพยาบาลหรือศูนย์ไตเทียมให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคในประเทศไทย โดยไตรมาส 1/67 บริษัทฯ เตรียมเปิดศูนย์ไตเทียม 3 แห่ง ล่าสุดเปิดศูนย์ไตเทียมรพ.ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชั้นนำของภาคใต้ตอนบน ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ของ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ช่วงต้น ก.พ. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ในไตรมาส 1/67 บริษัททยอยรับรู้รายได้ทั้ง 3 แห่งเข้ามาทันที

"จากแผนการเพิ่มศูนย์ให้บริการไตเทียมในปี 2567 รวมถึงการให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมในรูปแบบคลินิกเวชกรรมเฉพาะทางไตเทียม ภายใต้บริษัท เนโฟร วิชั่น จำกัด (NEP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ส่งผลให้บริษัทฯ ตั้งเป้าอัตราการเติบโตของรายได้ในปี 2567 แตะระดับ 600 ล้านบาท ที่สำคัญยังผลักดันให้บริษัทฯ รักษาการเป็นผู้เล่นในตลาดอุตสาหกรรมฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมรายใหญ่ติด Top 3 ของจำนวนสาขาให้บริการในตลาดอุตสาหกรรมด้วยเช่นเดียวกัน"นางสาวกาญจนา กล่าว

บริษัทได้ยังเปิดตัวแพคเกจใหม่ที่จะจำหน่ายชุดอุปกรณ์ฟอกไตพร้อมน้ำยาให้กับโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์ต่าง ๆ โดยจะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้แล้วทิ้ง ได้แก่ เข็ม น้ำยา ระบบน้ำ เป็นต้น ขายเป็นชุดต่อคนต่อครั้ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับหน่วยไตเทียมทุกแห่ง นอกเหนือจากที่บริษัทจะต้องส่งทีมเข้าไปให้บริการร่วมกับโรงพยาบาลหรือศูนย์การแพทย์นั้น ซึ่งจะเป็นการหารายได้เพิ่มเข้ามาอีกส่วนหนึ่ง แม้ว่าจะยังมีสัดส่วนไม่มาก แต่เชื่อว่าจะเติบโตขึ้นในอนาคต

นางสาวกาญจนา กล่าวว่า แนวโน้มตัวเลขผู้ป่วยโรคไตมีปริมาณเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15% ต่อปี ส่งผลให้ปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยฯ อยู่ที่ประมาณ 11.6 ล้านคน โดยมีผู้เข้ารับการรักษาด้วยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเฉลี่ยประมาณ 1 แสนคน และคาดว่าจะแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องในอนาคต ส่งผลให้ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องเพิ่มหน่วยบริการฟอกเลือดฯ ให้เพียงพอเพื่อรองรับความต้องการของผู้ป่วยที่มีอยู่ในปัจจุบัน

KTMS ในฐานะเป็นผู้ให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม มองว่า ยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงการรักษา แม้ว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สิทธิผู้ป่วยโรคไตฟอกเลือดผ่านสิทธิบัตรทองฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่าสถานที่หรือหน่วยให้บริการไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในแต่ละวัน ดังนั้นหากมีสถานพยาบาลฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือศูนย์ไตเทียม กระจายทุกพื้นที่ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศก็จะสามารถรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ